backup og meta

ตัวเหลือง หรือดีซ่านในทารกแรกเกิด อาการ สาเหตุ การรักษา

ตัวเหลือง หรือดีซ่านในทารกแรกเกิด อาการ สาเหตุ การรักษา

ตัวเหลือง หรือดีซ่านในทารกแรกเกิด อาจเกิดจากการมีปริมาณสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ในเลือดมากเกินไป โดยบิลิรูบินเป็นสารประกอบสีเหลืองที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงสลายตัวผ่านกระบวนการในตับ ร่างกายจะขับสารบิลิรูบินออกทางปัสสาวะและอุจจาระ แต่ตับของทารกแรกเกิดอาจยังไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินได้ดีเท่าที่ควร ทำให้มีสารบิลิรูบินตกค้างและอาจส่งผลให้ตัวเหลือง และหากปล่อยไว้อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองได้

คำจำกัดความ

ตัวเหลือง คืออะไร 

ตัวเหลือง หรือดีซ่าน (Jaundice) ในทารกแรกเกิด เป็นภาวะที่มักเกิดจากการมีสารบิลิรูบินในเลือดมากเกินไป โดยบิลิรูบินเป็นสารสีเหลืองที่เกิดจากการย่อยสลายเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่าผ่านกระบวนการในตับ โดยปกติร่างกายจะกำจัดสารนี้ออกทางปัสสาวะและอุจจาระ แต่เนื่องจากตับของทารกแรกเกิดอาจยังทำงานได้ไม่เต็มที่และกำจัดบิลิรูบินได้ไม่ดีนัก จึงอาจส่งผลให้มีสารบิลิรูบินตกค้าง และทำให้ทารกตัวเหลืองหรือเป็นดีซ่านได้ หากสารบิลิรูบินเข้าสู่สมอง อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้สมองถูกทำลายถาวร หรือมีความพิการทางสมองจากภาวะตัวเหลือง ที่เรียกว่า เคอร์นิกเทอรัส (Kernicterus) ซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการซึม ชักเกร็ง มีไข้ หรือหากปล่อยไว้นานอาจทำให้การเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น แขน ขา ลูกตา ผิดปกติ ทารกมีพัฒนาการล่าช้า เป็นต้น

ประเภทของภาวะตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดมีด้วยกันหลายประเภท เช่น

  • ภาวะตัวเหลืองปกติ เป็นประเภทที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด ทารกมีภาวะตัวเหลืองหลังจากคลอดมาแล้ว 3 วัน อาการตัวเหลืออาจมากขึ้นเรื่อย ๆ และอาการจะดีขึ้นเมื่อตับของทารกเริ่มทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนใหญ่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ทารกจะหายภาวะตัวเหลือง
  • ภาวะตัวเหลืองที่สัมพันธ์กับการรับประทานนมแม่ (Breastfeeding Jaundice) อาจเกิดจากทารกได้รับนมไม่เพียงพอ เนื่องจากการให้นมลูกไม่ถูกท่า ทำให้ลูกดูดนมได้น้อย น้ำหนักทารกไม่ขึ้น อุจจาระยังเป็นขี้เทา ยังไม่เป็นสีเหลืองทอง หรือกรณีถ้ามีน้ำนมแม่เพียงพอ ทารกจะมีน้ำหนักตัวขึ้นดี อุจจาระสีเหลืองทอง หรือทีเรียกว่า เหลืองจากนมแม่ (Breast Milk Jaundice) แบบนี้ไม่เป็นอันตรายใด ๆ ทารกสามารถกินนมแม่ต่อไปได้ ภาวะตัวเหลืองจะค่อย ๆ หายไปเอง
  • ภาวะตัวเหลืองจากหมู่เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน เป็นประเภทที่พบได้น้อย พบในคู่ที่แม่มีเลือดหมู่โอกับลูกเลือดหมู่เอหรือบี หรือคู่ที่แม่มีเลือดหมู่ Rh- กับลูกเลือดหมู่ Rh+ ทารกมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ถ้าเป็นรุนแรงมาก อาจเห็นทารกมีภาวะตัวเหลืองตั้งแต่แรกคลอด ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองหรือดีซ่านชนิดนี้จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
  • ภาวะตัวเหลืองจากโรคท่อน้ำดีตีบ โดยเป็นความผิดปกติของการหลั่งน้ำดี อาจเกิดจากท่อน้ำดีอุดตัน มักแสดงอาการเมื่ออายุประมาณ 2-8 สัปดาห์ โดยทารกจะมีอาการตัวเหลือง อุจจาระสีซีด ปัสสาวะสีเข้ม เป็นต้น ต้องรีบวินิจฉัยเพราะอาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด

ตัวเหลืองพบได้บ่อยแค่ไหน 

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดเป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทั้งนี้ อาการตัวเหลืองอาจดีขึ้นภายใน 10-14 วันหลังคลอด เมื่อตับของทารกเริ่มทำงานได้ดีขึ้น 

อาการ

อาการของภาวะตัวเหลือง

อาการที่พบบ่อยเมื่อทารกแรกเกิดมีภาวะตัวเหลือง เช่น ผิวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเป็นสีเหลืองหรือมีสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด หรือในบางครั้งอุจจาระยังเป็นสีขี้เทา และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น 

  • ร้องไห้ไม่หยุด 
  • นอนหลับมากกว่าปกติ 
  • ปัสสาวะน้อย 
  • ไม่ยอมกินนม 
  • มีไข้ อาเจียน
  • ศีรษะ คอ หรือหลังโก่งผิดปกติ
  • ดวงตาเคลื่อนไหวผิดปกติ  

โดยปกติ อาการมักปรากฏหลังทารกลืมตาดูโลกประมาณ 2-3 วัน และอาการมักจะดีขึ้นจนหายไปเองโดยไม่ต้องรักษาภายใน 2 สัปดาห์

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด  

หากทารกมีอาการตัวเหลืองมากขึ้น และอาการที่กล่าวมาข้างต้นรุนแรงขึ้น ควรพาทารกไปพบคุณหมอทันที คุณหมอจะได้วินิจฉัยและรักษาได้อย่างเหมาะสม

สาเหตุ

สาเหตุของภาวะตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลืองอาจมีสาเหตุจากการทารกแรกเกิดมีสารบิลิรูบินในกระแสเลือดมากเกินไป ภาวะนี้อาจเป็นเรื่องปกติในทารกแรกเกิด เนื่องจากทารกมีเซลล์เม็ดเลือดแดงจำนวนมากในเลือด และตับของทารกแรกเกิดยังไม่พัฒนาเต็มที่ จึงอาจทำให้กำจัดบิลิรูบินออกจากเลือดได้ไม่ดีนัก

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะตัวเหลือง

ทารกแรกเกิดที่ประสบภาวะตัวเหลืองอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยง ดังต่อไปนี้ 

  • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นภาวะตัวเหลือง ทารกแรกเกิดก็อาจมีแนวโน้มตัวเหลืองได้ และในบางโรค เช่น โรคพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD Deficiency) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทารกตัวเหลืองได้ นอกจากนี้ ยังมีโรคอื่น ๆ หากสงสัยคุณหมอมักจะเจาะเลือดตรวจเพิ่มเติม  
  • การคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากระบบภายในของทารกยังพัฒนาได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงอาจส่งผลให้ไม่สามารถกำจัดสารบิลิรูบินออกจากร่างกายได้อย่างสมบูรณ์ 
  • การกินนมแม่ไม่เพียงพอ หากทารกได้รับนมหรือของเหลวไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้ไม่สามารถขับของเสียรวมถึงบิลิรูบินออกมาได้ 
  • การติดเชื้อ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของทารกอาจยังไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในของทารก 
  • โรคตับ ตับมีหน้าที่ในการกำจัดสารบิลิรูบิน หากมีปัญหาเกี่ยวกับตับอาจส่งผลให้กำจัดสารบิลิรูบินได้ไม่ดีเท่าที่ควร 

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยภาวะตัวเหลือง

คุณหมออาจวินิจฉัยภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การตรวจอาการภายนอกของทารก เช่น สีผิว สีตาขาว
  • การตรวจปัสสาวะ โดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อตรวจสอบหาการติดเชื้อ 
  • การตรวจเลือด เพื่อวัดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดง ตรวจหมู่เลือดของแม่กับทารกว่าเข้ากันหรือไม่ และตรวจหาแอนติบอดี
  • ตรวจวัดสารตัวเหลืองผ่านทางผิวหนัง

การรักษาภาวะตัวเหลือง 

ภาวะตัวเหลืองอาจดีขึ้นได้ภายใน 10-14 วันโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา อย่างไรก็ตาม หากมีอาการนานกว่านั้นคุณหมออาจรักษาด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ 

  • การให้ทารกได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ โดยอาจต้องให้ทารกกินนมแม่มากขึ้น เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารที่จำเป็นและมีน้ำหนักตามเกณฑ์ อวัยวะและระบบต่าง ๆ ในร่างกายจะได้พัฒนาตามวัยและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือหากมีปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับนมผงที่สามารถให้ทารกรับประทานได้อย่างปลอดภัยและไม่ทำให้ขาดสารอาหาร
  • การบำบัดด้วยแสง (Phototherapy) แสงที่ใช้จะเป็นแสงสีน้ำเงินหรือแสงสีฟ้าจากหลอดไฟชนิดพิเศษ ที่ช่วยปรับโครงสร้างและรูปร่างของโมเลกุลสารบิลิรูบิน ทำให้ร่างกายสามารถกำจัดสารนี้ออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น ในขณะส่องไฟรักษาตัวเหลือง ทารกแรกเกิดจะต้องสวมเพียงผ้าอ้อมและสวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตา โดยการรักษาวิธีนี้อาจต้องใช้เวลา 1-2 วัน สารบิลิรูบินจึงจะลดลง
  • การฉีดอิมมูโนโกลบูลิน (Intravenous immunoglobulin หรือ IVIg) เป็นการฉีดอิมมูโนโกลบูลินเข้าเส้นเลือด อิมมูโนโกลบูลิเป็นโปรตีนในเลือดที่อาจสามารถลดระดับแอนติบอดีของทารก และอาจช่วยบรรเทาอาการตัวเหลืองได้
  • การเปลี่ยนถ่ายเลือด หากทารกแรกเกิดมีภาวะตัวเหลืองรุนแรงและรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่เห็นผล อาจต้องรักษาด้วยการถ่ายเลือดของทารกออกจากร่างกาย และทดแทนด้วยเลือดของผู้บริจาค
  • การใช้ยาในการรักษาบางกรณี

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลที่อาจช่วยรับมือกับภาวะตัวเหลือง

การเปลี่ยนวิธีให้นมหรือให้สารอาหารแก่ทารกดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดระดับสารบิลิรูบินในเลือด และช่วยให้อาการของภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดดีขึ้นได้

  • การให้นมบ่อยขึ้น อาจช่วยกระตุ้นการขับสารบิลิรูบินออกมาทางปัสสาวะหรืออุจจาระ โดยทารกควรได้ดื่มนมแม่ 8-12 ครั้ง/วัน หรือหากคุณแม่มีปัญหาในการให้นม ควรให้ทารกดื่มนมผงสำหรับทารกอย่างน้อย 1-2 ออนซ์ ทุก 2-3 ชั่วโมงในสัปดาห์แรก ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนให้ทารกดื่มนมผง 
  • การให้อาหารเสริม หากมีปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือน้ำนมแม่ไม่เพียงพอ คุณหมออาจแนะนำให้ป้อนนมผงสำหรับทารกเป็นเวลา 2-3 วัน แล้วจึงกลับไปให้ทารกแรกเกิดกินนมแม่ เพื่อป้องกันทารกขาดสารอาหาร หรือน้ำหนักน้อยเกินเกณฑ์ จนส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Newborn jaundice. https://www.nhs.uk/conditions/jaundice-newborn/. Accessed December 14, 2021

Newborn Jaundice. https://www.webmd.com/parenting/baby/digestive-diseases-jaundice#1. Accessed December 14, 2021

Newborn jaundice: What parents need to know. https://www.health.harvard.edu/blog/newborn-jaundice-what-parents-need-to-know-2021020421886. Accessed December 14, 2021

Newborn jaundice. https://medlineplus.gov/ency/article/001559.htm. Accessed December 14, 2021

Infant jaundice. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/infant-jaundice/symptoms-causes/syc-20373865. Accessed December 14, 2021

Jaundice in newborns. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2528723/. Accessed December 14, 2021

Jaundice in newborns. https://raisingchildren.net.au/newborns/health-daily-care/health-concerns/jaundice-in-newborns. Accessed December 14, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/04/2022

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาภูมิคุ้มกันในทารกคลอดก่อนกำหนด ที่ควรรู้

ผดร้อน ทารก สาเหตุและการดูแล


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา