backup og meta

BPD คือ โรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

BPD คือ โรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

Bronchopulmonary Dysplasia หรือ BPD คือ โรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีปัญหาการหายใจหลังคลอด และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อให้ออกซิเจนเป็นเวลานาน โดยอาจพิจารณาว่าเป็นโรค BPD เมื่อทารกต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนานกว่า 28 วัน การรักษาสามารถทำได้ด้วยการประคับประคองอาการไปจนกว่าปอดของทารกจะทำงานได้ตามปกติ ส่วนใหญ่ทารกจะมีอาการดีขึ้นแต่อาจมีภาวะสุขภาพในภายหลัง เช่น โรคหอบหืด ปัญหาพัฒนาการล่าช้า ปัญหาการหายใจในวัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ จึงควรป้องกันด้วยการเข้ารับการฝากครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรค BPD ในทารกแรกเกิด

[embed-health-tool-child-growth-chart]

โรค BPD คือ อะไร

Bronchopulmonary Dysplasia หรือ โรค BPD คือโรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิดที่เกิดจากพัฒนาการของเนื้อเยื่อปอดผิดปกติ มักพบในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดเกิน 10 สัปดาห์ หรือในเด็กที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 900 กรัม ซึ่งปอดจะยังพัฒนาไม่เต็มที่และได้รับออกซิเจนเสริมหรือใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานาน เช่น เด็กที่มีกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (Acute Respiratory Distress Syndrome) นอกจากนี้ยังอาจเกิดในทารกที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจเกิน (Patent Ductus Arteriosus หรือ PDA) ทารกที่ติดเชื้อในกระแสเลือด แม้ว่าจะคลอดตามกำหนดก็ตาม

ทั้งนี้ โรค BPD ยังสามารถเกิดขึ้นในทารกที่ผ่านวัยแรกเกิดไปแล้วแต่มีพัฒนาการของปอดผิดปกติ มีการติดเชื้อขณะอยู่ในครรภ์ มีความผิดปกติของรกอย่างภาวะครรภ์เป็นพิษ โรคนี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงหลังคลอดที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลไปอีกระยะหนึ่ง และต้องได้รับการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์ในแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU)

สาเหตุของโรค BPD คือ อะไร

ในบางครั้งปอดของทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และไม่สามารถรับและดูดซับออกซิเจนเพื่อใช้ในการหายใจได้ด้วยตัวเอง ทั้งยังไม่สามารถผลิตสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ซึ่งเป็นของเหลวที่ช่วยไม่ให้ปอดยุบตัวลง ทำให้ต้องรักษาด้วยการให้ออกซิเจนเพื่อให้ทารกหายใจได้ตามปกติ

ทั้งนี้ การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวอาจทำให้ทารกแรกเกิดเสี่ยงเกิดภาวะสุขภาพอย่างโรค BPD ตามมาได้ เนื่องจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ อาจทำให้ทางเดินหายใจระคายเคือง เนื้อปอดเสียหายและอักเสบ ทั้งยังทำให้ถุงลมปอดที่ยังเปราะบางอยู่มากเป็นแผล นอกจากนี้ ออกซิเจนในระดับสูงที่ส่งมาจากอุปกรณ์ก็อาจสร้างความเสียหายให้กับเนื้อเยื่อปอดของทารกได้เช่นกัน เมื่อทางเดินหายใจระคายเคืองและมีแผลในปอด ก็จะยิ่งทำให้ทารกหายใจเองได้ยากขึ้นไปอีก และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนานขึ้น จนเกิดเป็นโรค BPD หลังจากใช้เครื่องช่วยหายใจนานกว่า 28 วัน

ในบางกรณีความเสียหายอาจลุกลามไปยังหลอดเลือดที่ลำเลียงออกซิเจนจากถุงลมปอด ซึ่งอาจทำให้หัวใจของทารกทำงานหนักมากขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือด นอกจากนี้ ร่างกายจะให้ความสำคัญกับการหายใจเป็นหลัก จนทำให้ทารกเจริญเติบโตได้ช้าลงและอาจกระทบต่อพัฒนาการของอวัยวะอื่น ๆ ด้วย

อาการของเด็กที่เป็นโรค BPD

อาการของโรค BPD อาจมีดังนี้

  • ไอ
  • หายใจเร็ว
  • หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก
  • สีผิวเขียวคล้ำ (Cyanosis) เนื่องจากมีระดับออกซิเจนต่ำ

วิธีรักษาโรค BPD

ยังไม่มีวิธีรักษาทางการแพทย์ที่สามารถรักษาโรค BPD ให้หายได้โดยทันที การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การให้ยาและออกซิเจนแก่ทารกอย่างเพียงพอ เพื่อให้ปอดของทารกสามารถเติบโตและพัฒนาต่อไปได้ โดยทารกอาจจำเป็นต้องอยู่ที่สถานพยาบาลเป็นเวลาหลายสัปดาห์เพื่อรับการดูแลอย่างเหมาะสม

คุณหมออาจใช้วิธีสอดท่อช่วยหายใจไปในคอเพื่อให้ออกซิเจน ในกรณีที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานาน อาจต้องเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจเข้าไปในหลอดลมโดยตรง แต่กรณีนี้เกิดขึ้นน้อยมาก ทารกบางรายอาจต้องสวมหน้ากากเพื่อให้หายใจรับอากาศที่อุ่นและมีความชุ่มชื้นเข้าสู่ปอดได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ คุณหมออาจรักษาโรค BPD ด้วยยาต่อไปนี้

  • ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs) เพื่อลดการสะสมของของเหลวในถุงลมปอด
  • ยาขยายหลอดลม (Bronchodilators) เช่น อัลบูเทอรอล (Albuterol) เพื่อคลายกล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจ ทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น
  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อลดอาการบวมและป้องกันการอักเสบภายในปอด

ในบางกรณี ทารกอาจได้รับยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างเชื้อไข้หวัด เชื้อที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม และเชื้อไวรัส RSV หรือได้รับยาขยายหลอดเลือดเพื่อให้สามารถลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ตามปกติ โดยทั่วไป ทารกจะมีอาการดีขึ้นภายใน 2-4 เดือนหลังจากวินิจฉัยและรับการรักษา เมื่อการทำงานของปอดดีขึ้นก็สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจและหยุดใช้ยาได้

การป้องกัน BPD ทำได้อย่างไร

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค BPD คือ การฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อให้คุณหมอตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ และวางแผนการดูแลครรภ์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคปอดเรื้อรังที่อาจทำให้เด็กมีปัญหาสุขภาพระยะยาวในภายหลัง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการขณะเป็นโรค BPD เช่น โรคหอบหืด ภาวะหายใจมีเสียงหวีดเรื้อรัง (Chronic wheezing) โรคติดเชื้อทางเดินหายใจอย่างไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โรคกรดไหลย้อน ภาวะเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแอกว่าปกติ และในกรณีที่พบได้ไม่บ่อย อาจทำให้มีปัญหาทางระบบประสาท เช่น การมองเห็น การได้ยิน พัฒนาการด้านการพูด ความบกพร่องทางการเรียนรู้

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หากทารกมีอาการต่อไปนี้ ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

  • หายใจเร็วกว่าปกติ
  • หายใจลำบาก
  • ทารกหายใจมีเสียงหวีด
  • ทารกหอบหรือหายใจเสียงดัง
  • เซื่องซึม
  • ไอมากกว่าปกติ
  • สีผิวรอบปากหรือนิ้วมือซีด คล้ำ หรือเป็นสีเขียว สีฟ้า
  • มีปัญหาในการกินอาหาร แหวะนมหรืออาเจียนขณะป้อนอาหาร

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Bronchopulmonary Dysplasia?. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/bronchopulmonary-dysplasia. Accessed February 1, 2023

Bronchopulmonary dysplasia. https://medlineplus.gov/ency/article/001088.htm. Accessed February 1, 2023

Bronchopulmonary Dysplasia (BPD). https://www.nhlbi.nih.gov/health/bronchopulmonary-dysplasia#:~:text=BPD%20is%20a%20serious%20lung,complication%20of%20another%20breathing%20condition. Accessed February 1, 2023

Bronchopulmonary Dysplasia. https://rarediseases.org/rare-diseases/bronchopulmonary-dysplasia-bpd/?filter=ovr-ds-resources. Accessed February 1, 2023

Bronchopulmonary Dysplasia (BPD). https://kidshealth.org/en/parents/bpd.html. Accessed February 1, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/04/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาการหายใจในทารกคลอดก่อนกำหนด รู้ก่อน เพื่อสุขภาพทารก

เครื่องช่วยหายใจ คืออะไร ใช้อย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา