backup og meta

เครื่องช่วยหายใจ คืออะไร ใช้อย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 13/01/2023

    เครื่องช่วยหายใจ คืออะไร ใช้อย่างไร

    เครื่องช่วยหายใจ เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจสามารถหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยทั่วไป เครื่องช่วยหายใจมักใช้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อในปอด ป่วยเป็นโรคโควิด-19 เป็นโรคหอบหืดหรือโรคปอดอักเสบ รวมทั้งใช้ระหว่างผ่าตัดด้วย

    เครื่องช่วยหายใจคืออะไร

    เครื่องช่วยหายใจ (Mechanical Ventilation หรือ Ventilator) เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่หายใจได้ลำบากหรือไม่สะดวก หายใจได้ตามปกติ ด้วยการปล่อยออกซิเจนเข้าไปในปอด และกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากปอดในเวลาเดียวกัน

    โดยทั่วไป เครื่องช่วยหายใจนิยมใช้ในสถานพยาบาลหรือรถพยาบาล แต่หากผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอย่างต่อเนื่อง จึงมีการใช้เครื่องช่วยหายใจเมื่ออยู่บ้านด้วย

    ทั้งนี้ เครื่องช่วยหายใจมีอยู่ 2 แบบ คือแบบไม่ใส่ท่อ (Noninvasive Ventilation) ซึ่งเชื่อมต่อกับหน้ากากพลาสติกที่รัดกับใบหน้าของผู้ป่วย และแบบใส่ท่อ (Invasive Mechanical Ventilation) ซึ่งเชื่อมต่อกับท่อที่สอดเข้าไปในหลอดลมของผู้ป่วย และนิยมใช้ในกรณีที่มีอาการหายใจติดขัดหรือมีปัญหาระบบหายใจผิดปกติรุนแรง

    เครื่องช่วยหายใจใช้ตอนไหน

    เครื่องช่วยหายใจมักใช้ในสถานการณ์ต่อไปนี้

    • เมื่อเป็นโรคเกี่ยวกับปอด หรือมีการติดเชื้อบริเวณปอด ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการหายใจ
    • เมื่อมีปัญหาสุขภาพฉุกเฉิน เช่น ภาวะแพ้รุนแรง ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการหายใจ หรือทำให้หายใจไม่ออก
    • เมื่อมีอาการป่วยหรือบาดเจ็บบริเวณสมอง ซึ่งทำให้การทำงานระหว่างสมองกับปอดบกพร่อง เป็นผลให้หายใจไม่สะดวก
    • เมื่อมีปัญหาสุขภาพที่ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงกว่าปกติ หรือออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ
    • เมื่อมีความเสี่ยงที่ของเหลวจะไหลเข้าไปในปอด
    • ระหว่างผ่าตัด เนื่องจากยาสลบที่คุณหมอใช้มีออกฤทธิ์ทำให้หายใจลำบาก

    เครื่องช่วยหายใจ ต้องใช้นานแค่ไหน

    ระยะเวลาใช้เครื่องช่วยหายใจนั้นขึ้นอยู่กับอาการป่วยหรือภาวะสุขภาพของแต่ละคน

    อย่างไรก็ตาม หากต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลา 2 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น คุณหมอมักเปลี่ยนจากการสอดท่อเข้าไปในหลอดลมผ่านลำคอ เป็นการเจาะคอแล้วสอดท่อเข้าไปในหลอดลมแทน

    กระบวนการอื่น ระหว่างใช้เครื่องช่วยหายใจ

    ระหว่างใช้เครื่องช่วยหายใจ คุณหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์จะเลือกดูแลผู้ป่วยเพิ่มเติม ผ่านกระบวนการต่อไปนี้

  • ตรวจสุขภาพ ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่ใช้วัดความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราหายใจ หรือระดับออกซิเจนในเลือด
  • ดูดเสมหะ ผ่านสายสวนที่สอดเข้าไปในท่อหายใจ เพื่อทำให้ทางเดินหายใจโล่งหรือสะอาด
  • ให้ยา เช่น ยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ผ่านท่อหายใจหรือผ่านหลอดเลือด
  • ให้สารอาหาร เพราะขณะใช้เครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้ ดังนั้น คุณหมอจึงต้องให้สารอาหารผ่านหลอดเลือด หรือผ่านท่อที่สอดจากจมูกเข้าไปยังกระเพาะ
  • ส่องกล้องตรวจหลอดลม ด้วยการสอดกล้องติดไฟฉายเข้าไปในท่อหายใจ บางครั้ง คุณหมออาจเก็บตัวอย่างเสมหะหรือเนื้อเยื่อไปตรวจด้วย
  • ใช้เครื่องช่วยหายใจมีผลข้างเคียงอย่างไร

    การใช้เครื่องช่วยหายใจ มีอาจผลข้างเคียงต่อสุขภาพ ดังนี้

    • การติดเชื้อ เชื้อโรคสามารถเดินทางผ่านท่อหายใจเข้าไปยังปอดและทำให้ติดเชื้อได้ นอกจากนี้ การใช้ท่อหายใจยังทำให้ไอลำบาก ส่งผลให้เชื้อโรคในปอดไม่ถูกขับออกมานอกร่างกาย จนอาจทำให้ปอดติดเชื้อได้
    • ปอดเสียหาย หากได้รับออกซิเจนมากเกินไป เนื้อเยื่อของปอดจะเสียหาย และนำไปสู่อาการป่วยอื่น ๆ อย่างภาวะปอดรั่วหรือภาวะน้ำท่วมปวดได้
    • การเปลี่ยนแปลงของหัวใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจอาจทำให้หัวใจทำงานแย่ลง ซึ่งส่งผลให้ชีพจร ความดันโลหิต และระดับออกซิเจนในเลือดลดลงกว่าปกติ
    • กล้ามเนื้ออ่อนแอ การใช้เครื่องช่วยหายใจอาจทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแอลง และจำเป็นต้องได้รับการบำบัดในภายหลัง นอกจากนี้ ขณะใช้เครื่องช่วยหายใจต้องนอนอยู่กับที่ จึงทำให้เสี่ยงต่อการมีแผลกดทับรวมถึงเกิดมเลือดในร่างกายด้วย
    • ปัญหาเกี่ยวกับสายเสียง ขณะนำท่อหายใจออกจากลำคอ สายเสียงอาจเสียหายและทำให้มีอาการเจ็บคอหรือเสียงแหบได้ เมื่อพบอาการดังกล่าว ควรรีบแจ้งคุณหมอ
    • กระบวนการตายที่นานขึ้น ในกรณีที่มีแนวโน้มจะไม่ฟื้นจากอาการป่วยที่เป็นอยู่ การใช้เครื่องช่วยหายใจจะป้องกันการตายตามธรรมชาติ จึงอาจทำให้ทรมานโดยไม่จำเป็น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 13/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา