backup og meta

ROP คือ อะไร อาการ การรักษา และการป้องกัน

ROP คือ อะไร อาการ การรักษา และการป้องกัน

ROP (Retinopathy Of Prematurity) หรือ โรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด คือ ความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณจอตาที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้จอตาเกิดความเสียหาย หากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาอาจทำให้ทารกมีอาการดวงตาเคลื่อนไหวผิดปกติ ตาไม่สามารถมองตามวัตถุ รูม่านตามีสีขาว และอาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้

[embed-health-tool-vaccination-tool]

คำจำกัดความ

ROP คือ อะไร

ROP คือ ความผิดปกติของจอประสาทตาที่พบในทารกเกิดก่อนกำหนด เนื่องจากความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณจอตาที่พัฒนายังไม่เต็มที่ ทำให้เนื้อเยื่อแผลเป็นก่อตัวขึ้นภายในดวงตา ส่งผลให้จอตาเกิดความเสียหายและหากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจทำให้ทารกสูญเสียการมองเห็นได้

อาการ

อาการของ ROP

โรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนดอาจไม่มีสัญญาณเตือนของโรค แต่อาจทำให้มีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ดวงตาของทารกเคลื่อนไหวผิดปกติ
  • ตาไม่สามารถมองตามวัตถุได้
  • รูม่านตามีสีขาว
  • ทารกมีปัญหาในการจดจำใบหน้า

โดยโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนดสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ระยะ ซึ่งมีอาการตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงรุนแรงมาก ดังนี้

  • ระยะที่ 1 และ 2 โรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนดในระยะนี้อาจหายเองได้โดยไม่ต้องรักษา และไม่แสดงอาการที่รุนแรง แต่ควรอยู่ในความดูแลของคุณหมอเพื่อป้องกันอาการที่อาจแย่ลง
  • ระยะที่ 3 ทารกบางคนอาจมีอาการดีขึ้นโดยไม่ต้องรักษา แต่บางคนอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาความผิดปกติของหลอดเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อจอตา (Retina) ที่อาจทำให้จอประสาทตาหลุด
  • ระยะที่ 4 ทารกบางคนอาจมีจอประสาทตาหลุดออกมาบางส่วน ซึ่งต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน เพื่อป้องกันปัญหาสายตาที่อาจทำให้สูญเสียการมองเห็น
  • ระยะที่ 5 จอตาหลุดออกอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าจะได้รับการรักษาแล้วก็อาจสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้

สาเหตุ

สาเหตุของ ROP

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนดอาจมีความสัมพันธ์กับการได้รับออกซิเจนผ่านช่องทางต่างๆ ทำให้เส้นเลือดฝอยในจอตาได้รับออกซิเจนสูงขึ้นจนเกิดความเสียหาย ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาของระดับออกซิเจนที่เพิ่มสูงขึ้นมักเกิดในทารกที่เกิดก่อนกำหนดและปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของจอตาและหลอดเลือดในดวงตาที่ไม่สมบูรณ์

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของ ROP

ปัจจัยที่อาจทำให้ทารกเสี่ยงเป็นโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด อาจมีดังนี้

  • ทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ
  • ทารกที่คลอดก่อนกำหนด
  • ความผันผวนของออกซิเจนในร่างกายตั้งแต่แรกเกิด
  • ทารกที่มีการเจริญเติบโตไม่ดีหลังคลอด
  • ปัจจัยที่เกิดจากการตั้งครรภ์ เช่น การตกเลือดในหลอดเลือด กลุ่มอาการหายใจลำบาก ภาวะติดเชื้อ การถ่ายเลือด การคลอดบุตรหลายครั้ง การใช้สเตียรอยด์ก่อนคลอด

ภาวะแทรกซ้อนของ ROP

ทารกที่เป็นโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนดมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสายตาในอนาคต ดังนี้

  • จอตาลอกหรือจอประสาทตาลอก
  • โรคสายตาสั้น
  • โรคสายตาขี้เกียจ
  • ตาเหล่

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ใด ๆ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพื่อเติม

การวินิจฉัย ROP

หากพบว่าทารกมีความเสี่ยงเป็นโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด ทารกจะได้รับการตรวจสุขภาพตาภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด โดยคุณหมอจะทำการหยอดยาเข้าลูกตาเพื่อขยายรูม่านตา จากนั้นจะตรวจทุกส่วนภายในตาโดยเฉพาะจอตา เพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด และหากพบความผิดปกติคุณหมออาจนัดหมายเพื่อตรวจตาของทารกอีกครั้ง โดยความถี่ในการตรวจจะขึ้นกับความรุนแรงของโรคที่ตรวจพบในครั้งแรก ติดตามจนกว่าอาการจะกลับมาเป็นปกติ

การรักษา ROP

โรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนดหากอยู่ในระยะไม่รุนแรง อาการอาจดีขึ้นเองโดยไม่ต้องรักษา แต่สำหรับทารกที่มีอาการของโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนดที่รุนแรง คุณหมออาจแนะนำการรักษา ดังนี้

  • การทำเลเซอร์ บริเวณด้านข้างจอตา ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้อาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนดแย่ลง และอาจช่วยให้การมองเห็นของทารกดีขึ้น
  • ฉีดยาเข้าลูกตา (Intravitreous) โดยการฉีดยาระงับการเจริญเติบโตของเยื่อบุผนังหลอดเลือด (Vascular Endothelial Growth Factor หรือ VEGF) เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของหลอดเลือดใหม่ในดวงตา
  • ศัลยกรรมตา เป็นการผ่าตัดจอประสาทตาบางส่วนหรือทั้งหมด สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ การผ่าตัดจอประสาทตา (Scleral Buckle) ด้วยการที่ใช้วัสดุหนุนตาขาวเพื่อดันจอประสาทตาให้กลับติดเข้าที่  การทำผ่าตัดน้ำวุ้นตา (Vitrectomy) บางส่วนออกและแทนที่ด้วยน้ำเกลือ เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อแผลเป็นบนจอตา

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับ ROP

เพื่อป้องกันไม่ให้โรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนดรุนแรงขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้ทารกแรกเกิดตรวจคัดกรองสุขภาพตา โดยเฉพาะทารกแรกเกิดที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น น้ำหนักแรกเกิดต่ำ คลอดก่อนกำหนด และควรเข้ารับการตรวจตาตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Retinopathy of Prematurity. https://www.nei.nih.gov/learn-about-eye-health/eye-conditions-and-diseases/retinopathy-prematurity#:~:text=What%20is%20retinopathy%20of%20prematurity,the%20back%20of%20your%20eye. Accessed October 25, 2022

Retinopathy of Prematurity. https://aapos.org/glossary/retinopathy-of-prematurity. Accessed October 25, 2022

Retinopathy of Prematurity (ROP). https://kidshealth.org/en/parents/rop.html. Accessed October 25, 2022

Retinopathy of Prematurity. https://eyewiki.aao.org/Retinopathy_of_Prematurity. Accessed October 25, 2022

What Is Retinopathy of Prematurity (ROP)?. https://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-retinopathy-prematurity. Accessed October 25, 2022

Retinopathy Of Prematurity. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17430-retinopathy-of-prematurity. Accessed October 25, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/12/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาสมองในทารกคลอดก่อนกำหนด ประเภท และการป้องกัน

ปัญหาภูมิคุ้มกันในทารกคลอดก่อนกำหนด ที่ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา