backup og meta

ทารกอุจจาระเป็นเม็ด สัญญาณของอาการท้องผูก

ทารกอุจจาระเป็นเม็ด สัญญาณของอาการท้องผูก

ทารกอุจจาระเป็นเม็ด แข็ง หรือขี้แพะ เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าระบบขับถ่ายของทารกอาจมีปัญหา ปกติแล้ว อุจจาระทารกจะเหลวและมีสีที่แตกต่างตามสารอาหารที่ได้รับ แต่หากอุจจาระแห้งหรือเป็นเม็ด มักเป็นสัญญาณว่าทารกมีอาการท้องผูก ซึ่งอาจเกิดจากภาวะขาดน้ำ การแพ้นมวัว การเปลี่ยนประเภทอาหารที่กิน คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาวิธีป้องกันทารกอุจจาระเป็นเม็ด และอาการที่อาจต้องพาทารกไปหาคุณหมอ เพื่อที่จะได้รักษาได้ทันท่วงที

สาเหตุที่ทารกอุจจาระเป็นเม็ด

ทารกอุจจาระเป็นเม็ด อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • เปลี่ยนอาหาร เมื่ออยู่ในช่วงที่เปลี่ยนจากการกินนมแม่อย่างเดียวมากินนมผงซึ่งย่อยยากกว่านมแม่ หรือในช่วงเปลี่ยนจากนมผงไปเป็นอาหารแข็งหรืออาหารเสริม ร่างกายทารกอาจยังปรับตัวไม่ทัน จนทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นเม็ดได้
  • ร่างกายทารกขาดน้ำ หากทารกได้รับของเหลวไม่เพียงพอ อยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนเกินไป หรือมีไข้ ก็อาจส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ และทำให้ทารกอุจจาระเป็นเม็ดได้
  • ให้อาหารเสริมก่อนวัย หากให้ทารกกินอาหารเหลวหรืออาหารเสริมก่อนอายุ 6 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่กระเพาะอาหารยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ อาจส่งผลให้ทารกย่อยอาหารได้ไม่ดีนัก และถ่ายอุจจาระเป็นเม็ด
  • แพ้นมวัวหรือกินนมวัวเยอะเกินไป ทารกบางคนอาจแพ้นมวัว หรือย่อยนมได้ไม่ดี เนื่องจากมีภาวะการย่อยแลคโตสผิดปกติ (Lactose Intolerance) จึงมีอาการท้องผูก อุจจาระเป็นเม็ด นอกจากนี้ การดื่มนมวัว หรือกินผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส เยอะเกินไป ก็อาจทำให้ทารกอุจจาระเป็นเม็ดได้ เนื่องจากระบบย่อยอาหารของทารกยังทำงานได้ไม่เต็มที่ และไม่สามารถผลิตน้ำย่อยที่เพียงพอต่อการย่อยสารอาหารในนมวัวได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้ทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือนกินอาหารแข็ง เพราะอาจย่อยได้ไม่ดี และส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
  • ขาดสารอาหารบางชนิด เมื่อทารกอายุได้ประมาณ 6 เดือน อาจเปลี่ยนจากการกินนมแม่ไปกินนมผงแทน ซึ่งนมผงบางชนิดอาจมีไฟเบอร์หรือใยอาหาร (Fiber) ไม่เพียงพอ และส่งผลให้ทารกมีปัญหาในการขับถ่าย  จึงควรดูส่วนผสมของนมผงที่เลือกใช้ว่ามีไฟเบอร์เพียงพอต่อความต้องการของทารกหรือไม่ โดยปริมาณไฟเบอร์ที่แนะนำสำหรับทารก คือ 5 กรัม/วัน และควรเลือนมที่มีส่วนประกอบของโปรไบโอติก ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อให้ทราบประเภทและปริมาณของสารอาหารที่เหมาะสมกับทารกที่สุด
  • ชงนมผิดอัตราส่วน หากทารกที่กินนมผงถ่ายอุจจาระเป็นเม็ด อาจเกิดจากการชงนมผิดอัตราส่วน ไม่ตรงกับที่ระบุข้างกล่อง เวลาชงนมผงให้ทารก ควรชงตามอัตราส่วนที่แนะนำบนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งในแต่ละยี่ห้ออาจผสมไม่เท่ากัน หรือควรสอบถามคุณหมอ เพื่อให้ทราบปริมาณนมที่เหมาะสมกับทารกที่สุด
  • ทารกรู้สึกวิตกกังวล บางครั้ง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในบ้าน หรือกิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนไป อาจส่งผลให้ทารกรู้สึกวิตกกังวลจนอั้นอุจจาระไว้นานหลายวัน ทำให้ท้องผูก และทารกอุจจาระเป็นเม็ดได้

วิธีป้องกัน ทารกอุจจาระเป็นเม็ด

วิธีป้องกัน ทารกอุจจาระเป็นเม็ด อาจมีดังนี้

  • สำหรับทารกที่อายุยังน้อยและยังต้องกินนมแม่เป็นหลัก ควรให้ทารกกินนมแม่อย่างเต็มที่ตามช่วงวัย เพื่อให้ได้รับของเหลวและสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ปริมาณนมแม่ที่แนะนำสำหรับทารกแต่ละช่วงวัย อาจมีดังนี้
    • ทารกแรกเกิดถึง 2 เดือน ทารกอาจกินนมแม่ได้เพียงครึ่งออนซ์ จากนั้นอาจกินนมแม่ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่ออายุได้ 2 สัปดาห์ อาจกินนมได้ประมาณ 2-3 ออนซ์/ครั้ง หรือวันละ 16-27 ออนซ์ โดยให้วันละประมาณ 8-9 ครั้ง/วัน
    • ทารกอายุ 2-4 เดือน ควรกินนมแม่ประมาณ 4-5 ออนซ์/ครั้ง หรือวันละ 20-30 ออนซ์ โดยให้วันละประมาณ 5-6 ครั้ง
    • ทารกอายุ 4-6 เดือน ควรกินนมแม่ประมาณ 4-6 ออนซ์/ครั้ง หรือวันละ 20-36 ออนซ์ โดยให้วันละประมาณ 5-6 ครั้ง
    • ทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจกินนมแม่ได้มากถึง 8 ออนซ์/ครั้ง โดยให้วันละประมาณ 4-5 ครั้ง/วัน และได้รับอาหารเสริมตามวัย

โดยปกติแล้ว เมื่อทารกได้รับนมแม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทารกจะกลับมาถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 6 ครั้ง/วัน และอุจจาระมักมีลักษณะเป็นปกติ แต่ในบางครั้งทารกบางคนที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวอาจไม่อุจจาระได้ หรือ 2-3 วันถ่ายอุจจาระ ในบางคนเป็นสัปดาห์ถึงจะถ่ายอุจจาระ แต่ท้องต้องไม่อืด ลักษณะอุจจาระที่ออกมาต้องนิ่ม ๆ ไม่แข็งเป็นเม็ด ๆ

  • สำหรับทารกที่โตพอและเริ่มกินอาหารแข็งหรืออาหารเสริมแล้ว โดยปกติ คืออายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจเปลี่ยนให้กินอาหารที่มีเนื้อนิ่มและย่อยง่ายขึ้น เน้นอาหารประเภทผักผลไม้ เช่น ผักบุ้ง ผักโขม กล้วย แตงโม ลูกพรุน หรือธัญพืชเต็มเมล็ด (โฮลวีต) เช่น ข้าวบาร์เลย์ ที่มีกากใยอาหารเยอะ โดยอาจนำไปต้ม บด หรือคั้นเป็นน้ำผักผลไม้สด ทารกจะได้กินง่ายขึ้น

ควรไปหาคุณหมอเมื่อไหร่

หากทารกถ่ายอุจจาระออกมามีลักษณะดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณว่าทารกมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งควรเข้าพบคุณหมอทันที

  • อุจจาระเป็นสีดำสนิท อาจหมายถึงมีเลือดออกในทางเดินอาหาร และเลือดในอุจจาระเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อถ่ายออกมา
  • อุจจาระมีลักษณะคล้ายปูนขาว อาจหมายถึงตับของทารกผลิตน้ำดีได้ไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ
  • อุจจาระมีสีแดงปน อาจเป็นสีของอาหารหรือยาที่ทารกกินเข้าไป แต่หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าเป็นเลือดหรือไม่ สามารถให้คุณหมอตรวจสอบได้
  • ทารกอุจจาระเป็นเม็ด และท้องผูกติดต่อกันหลายครั้ง ถ่ายมีเลือดปน
  • ทารกอุจจาระเป็นเม็ด และท้องผูกติดต่อกันหลายครั้ง
  • ทารกดูซึม ไม่อยากอาหาร และน้ำหนักลดลง
  • ท้องอืดอาเจียนร่วมกับไม่ถ่ายอุจจาระหลายวัน อาจมีความผิดปกติของลำไส้ได้

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

“ท้องผูกในเด็กทารก” ควรแก้ไขอย่างถูกวิธี. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/gallery/ท้องผูกในเด็กทารก-ควร/. Accessed March 9, 2022

Constipation in children – Symptoms and causes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/constipation-in-children/symptoms-causes/syc-20354242. Accessed March 9, 2022

The Scoop on Baby Poop. https://www.webmd.com/parenting/baby/the-scoop-on-baby-poop. Accessed March 9, 2022

Color Changes in Your Baby’s Poop. https://www.webmd.com/parenting/baby/baby-bowel-movements. Accessed March 9, 2022

Q&A: Constipation in children. https://www.mayoclinichealthsystem.org/hometown-health/speaking-of-health/qa-constipation-in-children. Accessed March 9, 2022

Breastfeeding challenges. https://www.nhs.uk/start4life/baby/feeding-your-baby/breastfeeding/breastfeeding-challenges/constipation/. Accessed March 9, 2022

How Often Should I Feed My Baby? Tips for Infant Feeding Schedules. https://www.webmd.com/parenting/baby/baby-feeding-schedule. Accessed March 9, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/04/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

พัฒนาการ เด็ก 5 เดือน และวิธีเสริมพัฒนาการเด็กอย่างเหมาะสม

ลูกท้องผูก สาเหตุ อาการ วิธีรับมือ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา