backup og meta

ทารกท้องผูก สาเหตุ อาการและการดูแล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

    ทารกท้องผูก สาเหตุ อาการและการดูแล

    ทารกท้องผูก เป็นอาการที่พบบ่อยในทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี ทารกที่กินนมผง และทารกที่เริ่มรับประทานอาหารหยาบ โดยทารกจะมีอาการอุจจาระเป็นก้อนแข็ง หรือถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือมีอาการร้องไห้มาก เบ่งเยอะ และรู้สึกอึดอัดเมื่อขับถ่าย ดังนั้นการรู้วิธีดูแลทารกให้มีการขับถ่ายที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดปัญหาสุขภาพที่อาจตามมาในอนาคต

    สาเหตุทารกท้องผูก

    ทารกท้องผูก พบได้บ่อยในทารกที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ซึ่งสาเหตุของอาการท้องผูก ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัญหาทางระบบประสาท หรือปัญหาลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่มักเป็นสาเหตุของอาการท้องผูกในทารก ดังนี้

    • ภาวะขาดน้ำ ทารกท้องผูกอาจเกิดจากการขาดน้ำ หากทารกไม่ยอมดื่มน้ำหรือได้รับน้ำเข้าร่างกายไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้อุจจาระแห้งและขับถ่ายยากขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ทารกได้รับน้ำไม่เพียงพอ (คนละกรณีกับการดื่มนมแม่ล้วน หากนมแม่พอเพียง เด็กทารกไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำเพิ่ม) อาจมาจากความรู้สึกไม่สบายตัวของทารกจากอาการงอกของฟัน ความรู้สึกเจ็บปวดจากไข้หวัด หรือการติดเชื้อต่าง ๆ
    • ขาดไฟเบอร์ เด็กทารกอายุตั้งแต่ 6 เดือนที่เริ่มรับประทานอาหารแข็งได้ หากไม่ได้รับไฟเบอร์อย่างเพียงพออาจส่งผลทำให้ทารกท้องผูกได้ (แนะนำว่ารับประทานอาหารไฟเบอร์สูง ควรดื่มน้ำให้พอเพียงด้วย เพื่อให้ไฟเบอร์นิ่ม อุจจาระจะนิ่มตาม)
    • การปรับเปลี่ยนอาหาร ทารกที่เปลี่ยนมากินนมผง รวมถึงทารกที่รับประทานอาหารเสริม อาจมีอาการท้องผูกได้ง่ายกว่า เนื่องจากร่างกายของทารกจำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับตัวเพื่อเรียนรู้การย่อยอาหารรูปแบบใหม่
    • อุจจาระแล้วรู้สึกเจ็บปวด เช่นกรณีเบ่งอุจจาระแข็ง ๆ ทารกอาจจะกลั้นอุจจาระได้หากรู้สึกเจ็บขณะขับถ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่อาการท้องผูกเรื้อรัง และอุจจาระที่แข็งมากอาจทำให้เกิดแผลฉีกในบริเวณทวารหนักได้ (Anal fissure)

    อาการทารกท้องผูก

    อาการที่กำลังบอกว่าทารกท้องผูก มีดังนี้

  • ทารกกินอาหารน้อยลง
  • ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • รู้สึกท้องของทารกแข็งขึ้น หรือดูป่องกว่าปกติ
  • ก่อนอุจจาระทารกจะร้องไห้และรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว
  • อุจจาระเป็นก้อนแข็ง แห้ง หรือเป็นเม็ด
  • ตดและอุจจาระมีกลิ่นเหม็น
  • การดูแลทารกท้องผูก

    สำหรับทารกท้องผูกไม่ควรซื้อยาแก้ท้องผูกให้ทารกกินเอง แต่ควรปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ นอกจากนี้ก็สามารถดูแลทารกที่มีอาการท้องผูก ดังนี้

    • สำหรับทารกที่กินนมแม่
      • หากทารกมีอาการท้องผูกเกิดขึ้นควรให้ทารกกินนมแม่บ่อยขึ้น
      • พบคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำในการให้นมลูก
  • สำหรับทารกที่กินนมผง
  • เลือกนมผงที่มีส่วนผสมของใยอาหารที่เหมาะสมกับทารก
  • ควรชงนมให้ปริมาณนมผงและน้ำสมดุลกัน โดยไม่ควรให้น้ำน้อยเกินไปเพราะอาจทำให้ทารกย่อยยากได้ และอุจจาระแข็งมาก
  • ทำตามคำแนะนำการชงนมผงที่ระบุมาข้างกล่อง
  • สำหรับทารกตั้งแต่อายุ 6 เดือน ที่เริ่มรับประทานอาหารหยาบ
    • ทำอาหารที่ย่อยง่ายและมีน้ำซุปให้กับทารก เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม
    • กระตุ้นให้ทารกรับประทานผักและผลไม้ โดยการบดหรือสับให้ละเอียดก่อนปรุงอาหาร เพื่อเพิ่มไฟเบอร์ทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
    • ให้ทารกดื่มน้ำเพิ่มขึ้นในแต่ละวันโดยเฉพาะในระหว่างมื้ออาหาร โดยอาจให้รับประทานน้ำผลไม้ เช่น น้ำลูกพรุน น้ำแอปเปิล น้ำลูกแพร์ น้ำส้มคั้น เนื่องจากในน้ำผลไม้เหล่านี้มี ซอร์บิทอล (Sorbitol) เป็นสารให้ความหวานตามธรรมชาติทำหน้าที่เป็นยาระบายอ่อน ๆ โดยสามารถให้ทารกรับประทานประมาณ 60 – 120 มิลลิลิตร ต่อวัน (ปรึกษาคุณหมอเพื่อความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย)
  • การดูแลอื่น ๆ
    • นวดหน้าท้องทารกเบา ๆ เพื่อช่วยเร่งการขับถ่าย
    • ขยับขาทารกเหมือนท่าปั่นจักรยาน จะช่วยกระตุ้นการขับถ่ายมากขึ้น
    • อาบน้ำอุ่นให้ทารก เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อกระตุ้นการขับถ่ายมากขึ้น
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา