ในบางครั้ง คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตเห็นว่า ทารกอุจจาระ มีมูก ลักษณะเหนียวใส และกังวลว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่ จริง ๆ แล้ว ทารกอุจจาระมีมูกมักเป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปและไม่เป็นอันตราย พบได้ทั้งในทารกที่กินนมแม่และในทารกที่เปลี่ยนอาหารกะทันหัน เช่น เปลี่ยนจากนมแม่ไปเป็นอาหารแข็ง อย่างไรก็ตาม ทารกอุจจาระเป็นมูกในบางกรณีก็อาจเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติ เช่น การติดเชื้อ อาการท้องเสีย หากพบว่าทารกอุจจาระมีมูกมากกว่าปกติ ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น อุจจาระมีเลือดปน ร้องไห้ ไม่ยอมนอน ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-child-growth-chart]
ทารกอุจจาระ มีมูก เกิดจากอะไร
ทารกอุจจาระมีมูก ถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากมูกในอุจจาระของทารกช่วยเคลือบอุจจาระให้สามารถเคลื่อนตัวออกมาจากระบบขับถ่ายได้สะดวก พบได้บ่อยในทารกที่กินนมแม่ซึ่งอุจจาระจะมีมูกปนและเนื้อค่อนข้างเหลว และอาจพบมูกในอุจจาระทารกได้มากขึ้นในช่วงที่ทารกเปลี่ยนจากการกินนมแม่เพียงอย่างเดียวไปกินอาหารแข็ง (Solid food) เช่น ผักบด ผลไม้นึ่งหั่นเต๋า โจ๊กปลา
นอกจากนี้ ทารกอุจจาระ มีมูกยังอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ได้ด้วย
- การติดเชื้อ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย พยาธิ อาจทำให้ทารกอุจจาระ มีมูก ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาตามคำแนะนำของคุณหมอหรือเภสัชกร
- อาการท้องเสีย อาจทำให้ทารกอุจจาระมีมูกปน ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ถ่ายบ่อยกว่าปกติ มีอาการไม่สบายตัว ร้องไห้งอแง เคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ ถ่ายปัสสาวะน้อยลง
- อาการท้องผูก อาจทำให้ทารกอุจจาระมีมูก อุจจาระเป็นสีน้ำตาลเข้ม เป็นก้อนแข็ง หากอาการรุนแรงอาจทำให้มีเลือดปนในอุจจาระได้
- การแพ้อาหาร ทารกบางคนอาจไวต่ออาหารหรือสารอาหารบางอย่างมากเป็นพิเศษ เช่น ถั่วเหลือง ธาตุเหล็ก น้ำตาลแลคโตส อาจทำให้ทารกอุจจาระมีมูกร่วมกับอาการท้องเสีย
อาหารมีผลต่ออุจจาระของทารกอย่างไร
โดยทั่วไปแล้ว อุจจาระของทารกจะเปลี่ยนไปตามอาหารที่รับเข้าสู่ร่างกาย ดังนี้
ทารกที่กินนมแม่
- อุจจาระมีสีเหลืองคล้ายมัสตาร์ด บางครั้งอาจเป็นสีเขียว หรืออาจเกิดฟองหากทารกใช้เวลากินนมแม่แต่ละข้างน้อยกว่าปกติ และได้รับนมแม่ช่วงแรก (น้ำนมเหลือง) มากกว่านมแม่ในช่วงหลัง
- อุจจาระเหลว มีน้ำปนมาก แต่ไม่ได้แปลว่ามีอาการท้องเสีย
- ถ่ายอุจจาระอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และมักถ่ายอุจจาระหลังกินอาหาร
ทารกที่กินนมผง
- อุจจาระมีสีเหลือง สีน้ำตาล หรือมีสีออกเขียว
- อุจจาระอาจข้นและมีเนื้อแน่นกว่าอุจจาระของทารกที่กินนมแม่
- ถ่ายอุจจาระอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง แต่อาจไม่บ่อยเท่าทารกที่กินนมแม่ เนื่องจากในนมผงมีไขมันผสมอยู่ จึงอาจถ่ายได้ยากกว่า และอาจไม่ถ่ายอุจจาระทันทีเหมือนทารกที่กินนมแม่เนื่องจากใช้เวลาย่อยนานกว่า
ทารกที่กินอาหารแข็ง
ทารกสามารถเริ่มกินอาหารแข็งได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป
- อุจจาระมีสีหลากหลายขึ้น ตามชนิดของอาหารที่รับประทาน เช่น สีน้ำตาล สีน้ำตาลเหลือง สีเขียวเข้ม สีส้ม และจะดูเป็นก้อนมากกว่าอุจจาระของทารกที่กินนมแม่ หรือมีลักษณะคล้ายมันบด
- อุจจาระของทารกอาจมีอาหารที่ย่อยไม่หมดปนอยู่ด้วย เนื่องจากระบบย่อยอาหารของทารกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่และสั้นกว่าของผู้ใหญ่ ทำให้อาจย่อยอาหารบางประเภทได้ไม่หมด เช่น อาหารที่มีใยอาหารสูงอย่างข้าวโพด แครอท บลูเบอร์รี่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับทารกในวัยนี้
- อุจจาระของทารกจะแข็งขึ้น และระยะห่างในการขับถ่ายแต่ละครั้งจะนานขึ้น เนื่องจากอุจจาระของทารกที่กินอาหารแข็งจะจับตัวกันเป็นก้อนและมีของเหลวน้อยกว่า ทำให้ใช้เวลาย่อยนานกว่าทารกที่กินนมแม่
- อุจจาระของทารกที่เริ่มกินอาหารแข็งแล้วจะส่งกลิ่นแรงกว่าทารกที่กินนมเป็นหลัก
ทารกอุจจาระ มีมูก แบบไหนควรไปพบคุณหมอ
หากพบว่าทารกมีอาการถ่ายอุจจาระผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรพาไปพบคุณหมอ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
- ทารกแรกเกิดมีอุจจาระสีดำแม้จะผ่านไปหลายวันแล้วก็ตาม
- ทารกถ่ายอุจจาระมีมูก และมีเลือดปนในปัสสาวะบ่อยครั้ง
- ทารกท้องเสียและมีเลือดปน แม้จะไม่มีมูก
- ทารกถ่ายอุจจาระเป็นสีขาวซีด
- ทารกมีอาการท้องผูก ถ่ายอุจจาระไม่ออก
- ทารกร้องงอแงมากกว่าปกติ