ไข้หวัด เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในจมูกและลำคอ หากทารกเป็นหวัด จะทำให้มีอาการไอ จาม หรือเจ็บคอ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในทารกที่ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อไวรัสได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรรู้วิธีดูแลทารก และปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ทารกเป็นหวัด จะได้รับมือได้อย่างเหมาะสม
สาเหตุที่ทำให้ทารกเป็นหวัด
ทารกเป็นหวัด มีสาเหตุจากการติดเชื้อที่จมูกและลำคอ ซึ่งไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคหวัดนั้นมีมากกว่า 200 ชนิดเมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปาก ตา หรือการหายใจเข้าไป แล้วเกิดการติดเชื้อ ร่างกายของทารกจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันเพื่อกำจัดไวรัสเหล่านั้น แต่ร่างกายของทารกอาจยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันไวรัสบางชนิดได้อย่างเพียงพอ ทำให้ทารกเป็นหวัดและมีอาการที่รุนแรงขึ้นได้ โดยทารกอาจติดเชื้อไวรัสได้จากปัจจัยเหล่านี้
- การสัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนไวรัส ไวรัสสามารถอาศัยอยู่บนพื้นผิวสิ่งของได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ถึง 7 วัน อย่างไรก็ตาม ไวรัสก่อโรคส่วนใหญ่จะสามารถทำให้ติดเชื้อได้ ภายใน 24 ชั่วโมงแรกที่ปนเปื้อนพื้นผิว ซึ่งทารกสามารถติดเชื้อไวรัสได้จากของเล่น หรือของใช้ที่ปนเปื้อนไวรัสได้
- การแพร่เชื้อไวรัสจากคนสู่คนในอากาศ เมื่อผู้ที่เป็นไข้หวัด ไอ จาม หรือพูดคุย สามารถทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายไปในอากาศได้ และหากทารกสัมผัสเชื้อเหล่านั้นหรือหายใจเอาเชื้อเข้าไป ก็อาจทำให้ทารกเป็นหวัดได้ โดยเชื้อไวรัสก่อโรคจะแพร่กระจายสู่ทารกผ่านทางปาก ตา และจมูก
อาการทารกเป็นหวัด
สัญญาณของทารกเป็นหวัดที่พบบ่อยคือ อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล สีน้ำมูกเปลี่ยนไปและข้นหนืดมากขึ้น รวมถึงอาการอื่น ๆ ดังนี้
- อาการไอ จาม หรือเจ็บคอ
- มีไข้ 38.3-38.9 องศาเซลเซียส
- ความอยากอาหารลดลง
- นอนหลับยากขึ้น
- เหนื่อยล้า และหงุดหงิดง่าย
ปัจจัยเสี่ยงให้ ทารกเป็นหวัด
ปัจจัยดังต่อไปนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกเป็นหวัดได้
- ฤดูกาล ทารกสามารถเป็นหวัดได้ทุกฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว หรือฤดูฝน
- การเล่นและสัมผัสกับผู้ที่เป็นหวัด อาจแพร่เชื้อไวรัสให้ทารกได้ ผ่านทางการไอ จาม หรือการสัมผัสอื่น ๆ
- ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอของทารก เนื่องจากทารกยังมีระบบภูมิคุ้มไม่สมบูรณ์ จึงเสี่ยงติดเชื้อไวรัส และส่งผลทำให้ทารกเป็นหวัดได้ง่าย
การดูแลทารกเป็นหวัด
การดูแลทารกเป็นหวัดเบื้องต้น ไม่ควรซื้อยารักษาไข้หวัดให้ทารกกินเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากคุณหมอก่อน และวิธีการดูแลเมื่อทารกเป็นหวัด มีดังนี้
- ให้ทารกได้รับน้ำอย่างเพียงพอ โดยให้ทารกกินนมแม่หรือนมผง เพื่อกระตุ้นให้ทารกได้รับน้ำเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น ลดโอกาสเกิดภาวะขาดน้ำ (สังเกตภาวะขาดน้ำเบื้องต้น โดยดูจากปริมาณปัสสาวะของทารก ปกติควรมีปัสสาวะทุก 4-6 ชม. หากนานกว่านั้นไม่มีปัสสาวะ ให้ผู้ปกครองสงสัยว่าทารกมีภาวะขาดน้ำ)
- ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เริ่มจากการหยดน้ำเกลือเข้าไปในจมูก เพื่อทำให้ช่องจมูกชุ่มชื้นมากขึ้น และลดความข้นหนืดของน้ำมูก จากนั้นใช้ลูกยางหรือหลอดดูด ดูดน้ำมูกออกมา เพื่อให้ทารกหายใจได้สะดวกขึ้น
- ดูดน้ำมูก เพื่อช่วยให้ช่องจมูกของทารกโล่งขึ้น โดยใช้ที่ดูดน้ำมูกสำหรับทารก เช่น ที่ดูดน้ำมูกแบบสายยาง หรือแบบลูกยาง ทำซ้ำด้วยความนุ่มนวลได้บ่อย ๆ เมื่อสังเกตว่าทารกมีน้ำมูกเพิ่มมากขึ้น
- ทำให้อากาศชื้นขึ้น ด้วยเครื่องทำความชื้น สามารถช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้ (อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจเหมาะกับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อากาศหนาวและแห้งมากกว่าอากาศร้อนชื้น)
[embed-health-tool-vaccination-tool]