backup og meta

ทารก 2 เดือน และการเสริมพัฒนาการอย่างสร้างสรรค์

ทารก 2 เดือน และการเสริมพัฒนาการอย่างสร้างสรรค์

ทารก 2 เดือน เป็นวัยที่เริ่มแสดงลักษณะนิสัยให้คุณพ่อคุณแม่เห็นมากขึ้น คุณแม่จะเริ่มสังเกตได้ว่าลูกชอบหรือไม่ชอบอะไร จะนอนหลับ ขับถ่าย หรือรู้สึกหิวช่วงไหน โดยทั่วไป ทารกวัยนี้จะเริ่มตื่นในตอนกลางวันมากขึ้น เปิดโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่ได้สื่อสารกับทารกมากขึ้น อีกทั้งทารก 2 เดือนยังสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ราบรื่นขึ้น เริ่มแสดงกิริยาเพื่อสื่อสารกับคนรอบข้าง คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยเสริมพัฒนาการของทารก 2 เดือนได้ด้วยการใช้เวลาพูดคุย เปิดเพลงกล่อมเบา ๆ เล่านิทานให้ฟังก่อนนอน เป็นต้น

[embed-health-tool-child-growth-chart]

ทารก 2 เดือน และพัฒนาการที่ควรรู้

พัฒนาการทั่วไปของทารก 2 เดือน อาจมีดังต่อไปนี้

พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม

  • มีท่าทางสงบลงเมื่อถูกอุ้มและมีคนพูดคุยด้วย
  • ยิ้มแย้มเมื่อมีคนพูดคุยด้วยหรือยิ้มให้
  • แสดงอาการดีใจเมื่อมีคนเดินเข้าไปหา
  • ชอบมองใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่

พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร

  • ตื่นตัวเมื่อได้ยินเสียงและหันไปหาต้นเสียง
  • ส่งเสียงอ้อแอ้ แทนที่จะร้องไห้เพียงอย่างเดียว
  • แสดงออกทางสีหน้าและท่าทางเพื่อพยายามบอกความต้องการของตัวเอง

พัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

  • ยกศีรษะเมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำ
  • ขยับแขนขาทั้งสองข้างไปมาได้อย่างราบรื่น
  • คลายมือออกได้
  • เอื้อมมือไปจับใบหน้าของคนที่เอาหน้ามาใกล้ ๆ
  • แกว่งมือไปทางวัตถุ

พัฒนาการด้านสติปัญญา

  • เริ่มมองตามคนและวัตถุ
  • เริ่มงอแงหรือหงุดหงิดเมื่อรู้สึกเบื่อหน่าย
  • ให้ความสนใจกับใบหน้าที่เห็น

สัญญาณความผิดปกติใน ทารก 2 เดือน

ตามปกติแล้ว พัฒนาการของทารกแต่ละคนจะแตกต่างกันไป และอาจพัฒนาได้ช้าเร็วไม่เท่ากันแม้จะอยู่ในวัยเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หากทารก 2 เดือน มีความผิดปกติต่อไปนี้ ควรพาทารกไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม

  • ทารกอายุประมาณ 8 สัปดาห์แล้วแต่ไม่ยิ้มแย้มเลย
  • ร่างกายซีกใดซีกหนึ่งของทารกดูแข็งแรงกว่าอีกซีกหนึ่ง
  • ทารกยังกำมือแน่นไม่ยอมคลาย
  • ทารกไม่ตอบสนองต่อเสียงรอบตัว เช่น ไม่สะดุ้งเมื่อมีเสียงดัง ส่งเสียงเรียกแล้วไม่หันตามเสียง
  • ทารกตัวแข็งหรือเซื่องซึมผิดปกติ
  • ทารกไม่สบตาคนที่อยู่ตรงหน้าเลยแม้แต่แว้บเดียว
  • ร้องไห้หรืองอแงอย่างหนัก แม้จะอุ้มปลอบแล้วก็ยังไม่สงบ จนทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเป็นกังวล
  • ทารกมีพัฒนาการถดถอย

วิธีเสริมสร้างพัฒนาการให้กับ ทารก 2 เดือน

การเสริมสร้างพัฒนาการให้กับทารก 2 เดือน อาจทำได้ดังนี้

  • การสัมผัสตัวทารกบ่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ จะช่วยให้ทารกรู้สึกปลอดภัย สงบ และร้องไห้น้อยลง ทั้งยังเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับทารก จึงควรอุ้มทารกไว้แนบอก ให้ผิวหนังสัมผัสกันแบบเนื้อแนบเนื้อ (Skin-to-skin contact) เป็นประจำทุกวัน
  • เรียกชื่อของคน สัตว์ หรือสิ่งของที่ทารกให้ความสนใจบ่อย ๆ อาจช่วยให้ทารกคุ้นเคยกับภาษาและจดจำคำศัพท์ได้เร็วขึ้น
  • ทารกจะเริ่มมองใบหน้าคนอย่างสนอกสนใจ ให้ตอบรับด้วยการยิ้มแย้มกลับไป เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศอันดีให้แก่กัน และช่วยให้ทารกรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย
  • ใช้เวลาอ่านหนังสือ ร้องเพลง และพูดคุยกับทารก เพื่อช่วยให้ทารกคุ้นเคยกับเสียงและภาษาที่คุณพ่อคุณแม่ใช้ และเริ่มพัฒนาทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร
  • ชวนทารกเล่นเกมที่ช่วยฝึกทักษะ เช่น เกมจ๊ะเอ๋ ที่ช่วยให้ทารกเพลิดเพลิน ฝึกการรอคอย ช่วยให้ทารกได้หัวเราะและมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับคนที่บ้าน ทั้งยังช่วยให้ทารกเรียนรู้การคงอยู่ของวัตถุ (Object permanence) ซึ่งหมายถึง การเข้าใจว่าสิ่งของต่าง ๆ มีตัวตน ไม่ได้หายไปไหน แม้ว่าจะมองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ หรือไม่ได้ยินเสียงจากสิ่ง ๆ นั้นก็ตาม
  • ในระหว่างวัน ควรให้ทารกเคลื่อนไหวไปมาในท่าต่าง ๆ ไม่นอนหรืออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป เพื่อให้ทารกได้ใช้กล้ามเนื้อแขนและขาที่จำเป็นสำหรับการกลิ้ง การคลาน และพัฒนาไปสู่การเดินในภายหลัง
  • ให้ทารกนอนคว่ำ เพื่อฝึกชันคอและเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อลำคอและร่างกายส่วนบน ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนากล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ทารกฝึกคลานและนั่งได้ในภายหลัง โดยอาจเริ่มจากให้นอนคว่ำประมาณ 1-2 นาที แล้วค่อย ๆ เพิ่มเป็น 10-15 นาที วันละหลาย ๆ ครั้ง ทั้งนี้ ไม่ควรให้ทารกนอนหลับในท่านอนคว่ำ ทารกควรนอนหลับในท่านอนหงายเท่านั้นเพื่อให้สามารถหายใจได้อย่างสะดวก
  • เล่นกับทารกด้วยการให้ทารกสัมผัสกับวัตถุต่าง ๆ ที่มีลักษณะ สี และรูปร่างแตกต่างกันไป โดยอาจเลือกของเล่นสีสันสดใสสะดุดตาและมีเสียง เพื่อดึงดูดความสนใจ เช่น โมบายสีรุ้งมีเสียงกรุ๊งกริ๊ง ของเล่นแขวนที่ปลิวตามลม ลูกบอลพลาสติก
  • หลังอาบน้ำ คุณพ่อคุณแม่สามารถนวดตัวทารกเบา ๆ เพื่อให้ทารกผ่อนคลาย มีอารมณ์ดีขึ้น และนอนหลับได้ง่ายขึ้น โดยในขณะนวด ควรพูดคุยและมองหน้าทารกไปด้วย เพื่อให้ทารกรู้สึกคุ้นเคย และช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่และทารก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Your baby’s developmental milestones at 2 months. https://www.unicef.org/parenting/child-development/your-babys-developmental-milestones-2-months#warning-signs. Accessed March 23, 2023

Important Milestones: Your Baby By Two Months. https://www.cdc.gov/ncbddd/actearly/milestones/milestones-2mo.html#tips. Accessed March 23, 2023

2-3 months: newborn development. https://raisingchildren.net.au/newborns/development/development-tracker/2-3-months. Accessed March 23, 2023

Your baby’s growth and development – 2 months old. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/babys-growth-and-development-2-months-old. Accessed March 23, 2023

Baby Development: Your 2-Month Old. https://www.webmd.com/parenting/baby/baby-development-2-month-old. Accessed March 23, 2023

More. https://www.whattoexpect.com/first-year/month-by-month/month-2.aspx

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/05/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

พัฒนาการเด็ก คืออะไร คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการอย่างไร

พัฒนาการเด็ก4เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการอย่างถูกวิธี


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา