คุณแม่มือใหม่หลายคนที่กำลังเรียนรู้วิธีการเก็บรักษาน้ำนมแม่อาจมีข้อสงสัยว่า นมแม่อยู่ได้กี่ชั่วโมง เพื่อที่จะสามารถปั๊มนมให้เพียงพอสำหรับลูก รวมถึงให้ลูกได้กินนมแม่ที่สดใหม่และมีคุณภาพมากที่สุด ซึ่งโดยปกติน้ำนมแม่อาจสามารถมีอายุได้นานประมาณ 24 ชั่วโมง หากอยู่ในอุณหภูมิห้อง และอาจมีอายุอยู่ได้นานประมาณ 8 วัน ถึง 12 เดือน หากอยู่ในตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง ดังนั้น คุณแม่จึงควรสังเกตพฤติกรรมการกินนมของลูก เพื่อที่จะปั๊มนมให้เพียงพอต่อความต้องการของลูก และจะได้เก็บน้ำนมได้อย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-due-date]
นมแม่อยู่ได้กี่ชั่วโมง
นมแม่อยู่ได้กี่ชั่วโมง อาจเป็นคำถามที่คุณแม่หลายคนมีความสงสัย โดยอายุของน้ำนมแม่อาจขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในการเก็บรักษา ดังนี้
- การเก็บในอุณหภูมิห้อง เป็นการเก็บน้ำนมแม่ที่ปั๊มเสร็จทันทีเอาไว้ในอุณหภูมิห้อง นอกจากนี้ ยังเป็นการเก็บนมหลังจากนำน้ำนมออกมาจากตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง หรือการเก็บนมหลังจากละลายแล้วเอาไว้ในอุณหภูมิห้อง ซึ่งจะทำให้น้ำนมแม่มีอายุได้ประมาณ 24 ชั่วโมง
- การเก็บในตู้เย็น การเก็บน้ำนมแม่เอาไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียส อาจเก็บน้ำนมแม่ได้นานถึง 8 วัน แต่หากตู้เย็นมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าอาจเก็บน้ำนมแม่ได้ประมาณ 3 วันเท่านั้น
- การเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น อาจเก็บน้ำนมแม่ได้ประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น
- การเก็บในตู้แช่แข็งเฉพาะ เป็นการเก็บน้ำนมแม่เอาไว้ในช่องแช่แข็งที่มีอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส อาจทำให้เก็บน้ำนมแม่ได้นานถึง 6-9 เดือน หรือหากเก็บในช่องแช่แข็งที่มีอุณหภูมิ -200 องศาเซลเซียส อาจทำให้เก็บน้ำนมแม่ได้นานถึง 12 เดือน
อย่างไรก็ตาม การเก็บนมแม่ในตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง ไม่ควรเก็บนมไว้บริเวณประตู หรือบริเวณใกล้ประตูเปิดปิด เพราะในบริเวณนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมากที่สุด ทำให้นมมีอายุที่สั้นลงได้
วิธีการเก็บรักษานมแม่
การเก็บรักษาน้ำนมแม่ให้มีอายุนานมากขึ้นทำได้ ดังนี้
- ควรเก็บน้ำนมแม่ในภาชนะหรือถุงเก็บน้ำนมแม่ที่ผ่านการล้างทำความสะอาด ด้วยการต้มน้ำร้อนหรือผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
- ควรเก็บน้ำนมแม่ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าประมาณ 4 องศาเซลเซียส เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น
- หากนำนมออกมาจากตู้เย็นแล้ว ควรเก็บไว้ในกระเป๋าหรือถุงเก็บความเย็นพร้อมกับแพ็คน้ำแข็งด้วย เพื่อช่วยให้น้ำนมแม่มีอายุนานขึ้นเมื่อต้องพกพานมออกไปข้างนอก
- ควรเก็บน้ำนมแม่ทีละน้อยหรือประมาณ 2-4 ออนซ์/1 ภาชนะ เพื่อป้องกันนมเสียในปริมาณมากเมื่อต้องนำนมออกจากตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง และควรติดฉลากระบุวันที่เพื่อให้ทราบอายุของนมที่สามารถให้ลูกกินได้
- นมแม่ที่เหลืออยู่ในขวดหลังจากให้นมลูกเสร็จแล้ว ควรให้ลูกกินให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง
วิธีละลายนมแม่
นมแม่ที่มีอุณหภูมิห้องหรือผ่านการแช่เย็นแต่ยังไม่แข็งตัว สามารถป้อนให้ลูกได้เลยโดยไม่ต้องอุ่น แต่หากต้องการอุ่นนมแม่ให้อุ่นพอประมาณ สามารถนำนมแม่ที่อยู่ในภาชนะไปแช่ในน้ำอุ่นประมาณ 2-3 นาที
สำหรับการละลายน้ำนมแม่ที่อยู่ในช่องแช่แข็ง ควรเลือกนมแม่ที่เก่าที่สุดก่อนเสมอ เนื่องจากน้ำนมแม่ที่เก็บไว้นานคุณภาพอาจค่อย ๆ ลดลง จากนั้นนำน้ำนมแม่ออกจากช่องแช่แข็งแล้วนำไปแช่ไว้ในตู้เย็นช่องปกติ 1 คืน เพื่อให้น้ำแข็งค่อย ๆ ละลาย และในวันถัดไปที่ต้องการใช้งานสามารถนำน้ำนมแม่ที่ละลายแล้วออกมาแช่ในน้ำอุ่นประมาณ 2-3 นาที และให้ลูกกินได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรนำน้ำนมแม่ที่แช่แข็งไปอุ่นในไมโครเวฟหรืออุ่นบนเตาทันทีในขณะที่ยังแข็ง เพราะอาจทำให้น้ำนมอุ่นไม่สม่ำเสมอกัน นอกจากนี้ ยังทำให้สารอาหารและคุณภาพของนมลดลงได้ด้วย