backup og meta

วิธีกู้น้ำนม ที่ควรรู้ สำหรับคุณแม่น้ำนมน้อย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/01/2023

    วิธีกู้น้ำนม ที่ควรรู้ สำหรับคุณแม่น้ำนมน้อย

    วิธีกู้น้ำนม สำหรับคุณแม่หลังคลอดที่ผลิตน้ำนมได้น้อยหรือน้ำนมไม่ไหลออกมาตามปกติ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น ให้นมบ่อยขึ้น ปั๊มน้ำนมบ่อย ๆ นวดและประคบร้อนเต้านม ปรับท่าให้นมเพื่อให้ทารกกินนมได้สะดวกขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่ ทั้งนี้ การปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้มีน้ำนมน้อยก็อาจช่วยให้สามารถหาวิธีกู้น้ำนมที่เหมาะสมที่สุดได้

    น้ำนมน้อย เกิดจากอะไร

    คุณแม่ให้นมมีน้ำนมน้อย อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

    • ความล่าช้าในการให้นม หากคุณแม่เริ่มให้นมครั้งแรกช้า หรือแยกกันอยู่กับทารกในช่วงหลังคลอดแรก ๆ ทำให้ทารกไม่ได้กินนมแม่ตั้งแต่วันแรกที่คลอด อาจทำให้ปริมาณน้ำนมจากเต้าน้อยกว่าปกติได้
    • ภาวะสุขภาพของคุณแม่ เช่น ภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis) กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) ภาวะก่อนเบาหวาน โรคเบาหวาน อาจทำให้ต่อมน้ำนมผลิตน้ำนมได้น้อย
    • ทารกไม่ได้กินนมแม่อย่างเดียว หากทารกกินอาหารอื่น ๆ เช่น นมผงเด็กแรกเกิด ควบคู่กับการกินนมแม่ อาจทำให้ทารกกินนมแม่ได้น้อยลง ส่งผลให้คุณแม่ผลิตน้ำนมได้น้อยตามไปด้วย หากคุณแม่ต้องการเสริมนมผง ควรรอให้ทารกคุ้นชินกับการกินนมแม่เป็นอาหารหลักก่อน
    • ทารกไม่ได้กินนมแม่เลย หากทารกไม่ได้กินนมแม่ อาจทำให้ต่อมน้ำนมไม่ถูกกระตุ้น จึงผลิตน้ำนมได้น้อยลง คุณแม่จึงควรให้ทารกกินนมตั้งแต่ 15-30 นาทีหลังคลอด หรือหากไม่สะดวก ก็อาจรีดน้ำนมออกมาพลาง ๆ ก่อนโดยการปั๊มนมด้วยมือหรือใช้เครื่องปั๊มนม เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมอย่างต่อเนื่อง
    • ทารกดูดนมได้ไม่ดี ทารกอาจอมหัวนมไม่ถูกต้อง ทำให้ดูดนมได้น้อยกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการ ส่งผลให้น้ำนมออกมาน้อยลงในภายหลัง วิธีดูดนมที่ถูกต้อง คือ ทารกต้องอ้าปากกว้างและต้องอมหัวนมและลานนมจนมิด จมูกของทารกต้องไม่กดทับกับเต้านม ส่วนคางของทารกควรแนบหรือเกือบแนบไปกับเต้านม ควรได้ยินเเพียงเสียงกลืน ไม่มีเสียงดูดแจ๊บ ๆ เพราะนั่นหมายถึง ทารกอมหัวนมผิดวิธี ปากไม่แนบสนิทกับเต้านม
    • การใช้จุกหลอกเป็นเวลานาน ทารกที่ดูดจุกหลอกตั้งแต่อายุยังน้อย (ก่อนอายุ 1 เดือน) อาจสับสนระหว่างเต้านมและจุกหลอก และอาจเรียนรู้การดูดนมอย่างถูกต้องได้ช้ากว่าปกติ หรือไม่ยอมดูดนมจากเต้าบ่อยเท่าที่ควร จนส่งผลให้คุณแม่ผลิตน้ำนมได้น้อยลง คุณแม่จึงควรรอให้ทารกคุ้นชินกับการดูดนมจากเต้าเสียก่อน จึงค่อยเริ่มใช้จุกหลอก
    • คุณแม่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ขณะอยู่ในช่วงให้นมอาจส่งผลให้สารพิษในบุหรี่อย่างนิโคตินไปลดระดับโปรแลคติน (Prolactin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นการผลิตและหลั่งน้ำนม เมื่อระดับโปรแลคตินลดลง อาจทำให้ต่อมน้ำนมผลิตน้ำนมได้น้อยลง ทั้งยังส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมของคุณแม่และทำให้ทารกที่กินนมแม่เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพได้ เนื่องจากบุหรี่อาจไปลดสารอาหารในน้ำนมและส่งต่อสารพิษไปยังทารก ทารกที่ได้รับสารพิษจากบุหรี่ผ่านน้ำนมแม่อาจมีอาการหงุดหงิด อาเจียน ร้องไห้เสียงดัง และกลิ่นบุหรี่ที่ติดตัวและเสื้อผ้าคุณแม่อาจทำให้ทารกได้รับควันบุหรี่มือสองที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดอักเสบ (โรคปอดบวม) จึงควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ทั้งในช่วงวางแผนตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ และในช่วงให้นมบุตร

    วิธีกู้น้ำนม ทำได้อย่างไรบ้าง

    วิธีกู้น้ำนมสำหรับคุณแม่ที่มีน้ำนมน้อย อาจทำได้ดังนี้

    • ให้ทารกกินนมจากเต้าบ่อยขึ้น และบีบนวดเต้านมไปด้วยขณะให้นม เพื่อกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้น หากปกติแล้วให้นมทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง ควรให้นมเพิ่มอีก 2-3 ครั้งในระหว่างนั้น และหลังเกลี้ยงเต้าแล้วควรสลับข้างของเต้านมในแต่ละครั้งที่ให้นม
    • ปั๊มนมหลังการให้นมทุกครั้ง หรือปั๊มนมในขณะที่ทารกนอนหลับ อาจช่วยให้น้ำนมเกลี้ยงเต้าและช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนม โดยคุณแม่สามารถเก็บน้ำนมที่ได้จากการปั๊มนมในช่องแช่แข็งหรือแช่เย็น เพื่อนำมาใช้ในภายหลัง
    • หากให้นมจนเกลี้ยงเต้าแล้วแต่ทารกยังดูไม่อิ่ม เช่น แสดงท่าทางงอแง ดูดปากจ๊วบ ๆ ผงกศีรษะเข้าหาเต้านม ดูหงุดหงิด ไม่ร่าเริง ไม่ยอมหลับ ให้รออย่างน้อย 20-30 นาทีค่อยให้นมซ้ำอีกครั้ง และอาจทำซ้ำเรื่อย ๆ จนกว่าทารกจะหยุดกินนมและสงบลง
    • ให้นมตามวิธีที่เรียกว่า Demand feeding หรือ Baby-led ตั้งแต่วันแรก ๆ หลังคลอด โดยให้ทารกกินนมบ่อยเท่าที่ต้องการหรือเมื่อทารกแสดงท่าทางว่าหิว และไม่กำหนดตายตัวว่าต้องให้นมเวลาไหน โดยควรอุ้มทารกแนบหน้าอก ให้ปากของทารกอยู่ใกล้ ๆ หัวนม ทารกจะดูดนมเองและเลิกดูดเมื่ออิ่มและได้รับน้ำนมเพียงพอแล้ว
    • คุณแม่ควรทำใจให้สบายและผ่อนคลายให้มากที่สุด โดยเฉพาะระหว่างให้นม อาจช่วยให้น้ำนมไหลออกมาเพียงพอต่อความต้องการของทารก พยายามอยู่ในสถานที่ที่เงียบและสงบ ไร้เสียงรบกวนระหว่างให้นม และควรนั่งหรือเอนตัวนอนในท่าที่สะดวกที่สุด
    • คุณแม่ควรนอนหลับให้เพียงพอในตอนกลางคืน และควรงีบกลางวันสักพักหากรู้สึกอ่อนเพลียระหว่างวัน โดยเฉพาะหลังจากให้นม โดยอาจนอนพักในช่วงที่ทารกนอนหลับหรือช่วงที่คนในครอบครัวดูแลทารก
    • ดื่มน้ำและของเหลวเพิ่มอย่างน้อย 500 มิลลิลิตรจากปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน โดยทั่วไปคือ วันละอย่างน้อย 8-10 แก้ว เพื่อทดแทนน้ำและของเหลวที่ร่างกายนำไปสร้างเป็นน้ำนม
    • นวดและประคบหน้าอกด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาดเป็นประจำอาจช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตบริเวณเต้านม ช่วยให้น้ำนมไหลสะดวก สามารถระบายน้ำนมออกจากเต้าได้จนหมด และช่วยลดอาการคัดตึงเต้านมได้
    • อุ้มทารกให้สัมผัสแนบชิดกับตัวคุณแม่แบบเนื้อแนบเนื้อ อาจช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนโปรแลคตินและออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างและหลั่งน้ำนมได้
    • ปรึกษาคนใกล้ชิด คุณแม่ให้นมคนอื่น ๆ และคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิธีกู้น้ำนม

    สัญญาณว่าทารกได้รับน้ำนมเพียงพอ

    • คุณแม่ให้ทารกกินนมได้บ่อยถึง 8-12 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง
    • ทารกขับถ่ายอย่างน้อย 6-8 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง รวมถึงถ่ายอุจจาระอ่อนอย่างน้อย 3-4 ครั้ง
    • ทารกตื่นเองในเวลาให้นมและดูดนมจากเต้าแรง ๆ
    • ทารกถ่ายปัสสาวะสีเหลืองอ่อน
    • ทารกเอนกายลงนอนได้ดี ดูร่าเริง ไม่งอแง และนอนหลับได้ดีหลังกินนม
    • ทารกมีสีผิวปกติ ไม่ออกเหลือง และมีกล้ามเนื้อที่ดูแข็งแรง
    • ทารกตัวโตขึ้นและมีเส้นรอบวงศีรษะเพิ่มขึ้น
    • ทารกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหลังอายุได้ 2 สัปดาห์ (ก่อนหน้านั้นทารกอาจน้ำหนักลดลงกว่าที่เคยชั่งได้ในช่วงแรกเกิด ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้)
    • ทารกน้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 150 กรัมขึ้นไปในแต่ละสัปดาห์ในช่วง 3 เดือนแรกหลังคลอด

    สัญญาณว่าทารกได้รับนมไม่เพียงพอ

    • ทารกน้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นและขนาดตัวไม่ใหญ่ขึ้น
    • ทารกแสดงท่าทางว่าหิวและต้องการนมเพิ่ม เช่น ดูดปากตัวเอง ผงกศีรษะเข้าหาเต้านม ร้องไห้งอแง ไม่ร่าเริงหลังกินนม
    • ทารกถ่ายปัสสาวะน้อยกว่า 6 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
    • ทารกไม่ถ่ายอุจจาระอ่อนอย่างน้อย 3-4 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา