backup og meta

เทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า สำหรับคุณแม่มือใหม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    เทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า สำหรับคุณแม่มือใหม่

    คุณแม่ที่ให้ลูกกินนมแม่หลายคนอาจประสบปัญหามีน้ำนมค้างเต้า และต้องการทราบ เทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า เพื่อเป็นแนวทางในการปั๊มนมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้าทำได้หลายวิธี เช่น การปั๊มนมบ่อย ๆ การวางตำแหน่งของเต้านมให้เหมาะเมื่อใช้เครื่องปั๊มนม การใช้เวลาปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้าไปทีละข้าง การสังเกตลักษณะของเต้านม เพราะเมื่อปั๊มนมจนเกลี้ยงเต้าแล้วเต้านมจะอ่อนนุ่มและคัดตึงน้อยกว่าตอนก่อนปั๊ม ทั้งนี้ การปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้าอาจต้องใช้เวลาฝึกฝนสักระยะ เมื่อคุณแม่คุ้นชินแล้วก็สามารถปั๊มนมเก็บไว้ใช้ในภายหลังตามปริมาณที่ต้องการได้ ช่วยให้ลูกน้อยได้รับเพียงพอและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์สมวัย และช่วยลดอาการเนื่องจากมีน้ำนมค้างเต้า เช่น เต้านมคัดตึง เจ็บเต้านม

    ประโยชน์ของการปั๊มนมจากเต้า

    ในช่วง 24-72 ชั่วโมงหลังคลอด คุณแม่อาจรู้สึกคัดตึงเต้านมมากกว่าตอนตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าน้ำนมแม่พร้อมออกมาจากเต้าแล้ว และเมื่อผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ เต้านมจะผลิตน้ำนมออกมาได้ประมาณ 500 มิลลิลิตร ใน 24 ชั่วโมง และในช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 อาจเพิ่มเป็น 600-700 มิลลิลิตร ใน 24 ชั่วโมง หากระบายน้ำนมออกมาไม่ทัน อาจทำให้เต้านมคัดตึงเพราะมีน้ำนมอยู่ในเต้านมมากเกินไปและทำให้รู้สึกเจ็บได้

    การปั๊มนมจึงเป็นวิธีที่ช่วยให้คุณแม่สามารถเก็บรักษาน้ำนมไว้ใช้ภายหลังได้ ประหยัดเวลาและลดความยุ่งยากในการให้นมจากเต้าโดยตรง ช่วยถ่ายน้ำนมออกจากเต้าได้เร็วกว่าการให้นมจากเต้า จึงช่วยลดอาการคัดตึงเต้านมของคุณแม่ได้ โดยการปั๊มนมอาจทำได้ 3 แบบ คือ การใช้มือบีบเพื่อรีดนมจากเต้านม การใช้เครื่องปั๊มนมแบบปั๊มด้วยมือ และการใช้เครื่องปั๊มนมไฟฟ้าอัตโนมัติ

    เทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า

    วิธีที่ช่วยให้คุณแม่มือใหม่สามารถปั๊มนมแม่จนเกลี้ยงเต้าได้ อาจมีดังต่อไปนี้

    ปั๊มนมให้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้

    การปั๊มนมบ่อย ๆ จะช่วยให้เต้านมผลิตน้ำนมได้มากขึ้น และช่วยให้เต้านมได้ระบายน้ำนมออกมา ไม่ทำให้มีน้ำนมค้างเต้าจนหน้าอกคัดตึงและปวดเต้า โดยทั่วไป ความถี่ของการให้นมจากเต้ามักจะขึ้นอยู่กับความต้องการกินนมแม่ของลูก เมื่อถึงเวลาที่คุณแม่เปลี่ยนมาปั๊มนมแทนให้ลูกกินนมจากเต้า ก็ควรปั๊มนมให้บ่อยเท่าที่ลูกต้องการกินหรือทุก ๆ 2-4 ชั่วโมง และควรใช้เวลาให้นานพอ ๆ กับระยะเวลาที่ลูกดูดนมจากเต้าในแต่ละครั้ง สำหรับคุณแม่ที่ต้องออกไปทำงาน ให้พยายามปั๊มนมให้บ่อยเท่าจำนวนครั้งที่ให้ลูกกินนมจากเต้าเมื่ออยู่ที่บ้าน หรือหากไม่สะดวก ให้ปั๊มนมในตอนเช้า ช่วงพักเที่ยง และช่วงพักในตอนบ่าย และกลับไปปั๊มต่อเมื่อถึงบ้าน เพื่อกระตุ้นให้เต้านมได้ผลิตน้ำนมหลาย ๆ ครั้งใน 24 ชั่วโมง

    ปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้าไปทีละข้าง

    การปั๊มนมในแต่ละครั้งควรปั๊มนมให้เกลี้ยงเป็นเต้า ๆ ไป โดยใช้เวลาปั๊มเต้าละประมาณ 15 นาที ส่วนใหญ่เมื่อน้ำนมเกลี้ยงเต้าแล้ว เต้านมจะอ่อนนุ่มลงและไม่คัดตึงเหมือนตอนก่อนปั๊ม หากปั๊มนมทั้งสองเต้าเสร็จแล้วยังรู้สึกว่ามีน้ำนมค้างอยู่ก็ให้ปั๊มนมซ้ำอีกรอบ เริ่มจากเต้านมข้างที่ปั๊มตอนแรกก่อน โดยปั๊มซ้ำประมาณ 3-5 นาที เพื่อให้น้ำนมเกลี้ยงเต้าจริง ๆ และช่วยกระตุ้นให้เต้านมผลิตน้ำนมเพิ่มในรอบต่อไป ทั้งนี้ ไม่ควรปั๊มนมนานเกินไปหรือนานเกิน 30 นาที เพราะอาจทำให้เจ็บเต้านมและหัวนมได้

    วางตำแหน่งของเต้านมให้เหมาะเมื่อใช้เครื่องปั๊มนม

    สำหรับคุณแม่ที่ใช้เครื่องปั๊มนม ควรเลือกกรวยปั๊มนมให้มีขนาดเหมาะสมกับเต้านม และจัดตำแหน่งของหัวนมให้อยู่กลางกรวยปั๊มนมพอดี เมื่อเริ่มปั๊มนมแล้วคุณแม่อาจรู้สึกถึงอากาศหรือลมเบา ๆ บริเวณรอบหัวนม ในช่วงแรกของการปั๊มนมอาจรู้สึกไม่สบายหน้าอกเล็กน้อยเนื่องจากหัวนมถูกยืด แต่หลังจากนั้นน้ำนมจะเริ่มไหลออกมาจากเต้า ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเสียวแปล๊บ ๆ หรือรู้สึกเหมือนโดนเข็มเล็ก ๆ ทิ่ม แต่มักไม่ทำให้เจ็บปวดรุนแรง หากใช้เครื่องปั๊มนมแบบไฟฟ้าแล้วรู้สึกเจ็บให้ลดระดับความแรงในการปั๊มนม แต่หากยังรู้สึกเจ็บหัวนมอยู่ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม

    ให้เวลาตัวเองในการปรับตัว

    คุณแม่หลายคนอาจยังไม่ชินและไม่ถนัดปั๊มนมด้วยตัวเอง และอาจต้องใช้เวลาสักพักในการฝึกปั๊มนม เมื่อปั๊มนมได้คล่องแล้ว การปั๊มนมในแต่ละครั้งจะใช้เวลาใกล้เคียงกับการให้ลูกกินนมจากเต้า หลังปั๊มนมเสร็จแล้วให้เลื่อนนิ้วไปแทรกระหว่างเต้านมและกรวยปั๊มเต้านมเพื่อหยุดการปั๊มนม

    การเก็บรักษานมแม่อย่างถูกวิธี

    วิธีเก็บรักษานมแม่ อาจทำได้ดังนี้

    • บรรจุน้ำนมหลังปั๊มไว้ในภาชนะสะอาดและผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว เช่น แก้ว ถุงพลาสติกปิดสนิท ขวดพลาสติกที่ปลอดสารบีพีเอ (BPA-free)
    • ควรติดฉลากกันน้ำบนภาชนะบรรจุน้ำนม และเขียนวันที่ปั๊มนมและวันหมดอายุกำกับไว้บนฉลาก เพื่อให้สามารถกะอายุการใช้งานน้ำนมแม่ได้อย่างแม่นยำ และควรใช้ถุงน้ำนมใกล้ถึงวันหมดอายุก่อน
    • บรรจุน้ำนมแม่แต่ละถุงในปริมาณที่ลูกสามารถกินหมดได้ในมื้อเดียว อาจเริ่มที่ถุงละ 60-120 มิลลิลิตร เพื่อไม่ให้น้ำนมแม่เสียเปล่า หรือลูกต้องกินนมถุงเดิมซ้ำหลายมื้อ หากลูกไม่ยอมกินนมให้หมดหรือเปิดนมถุงนั้นมาใช้นานเกิน 2 ชั่วโมง ควรทิ้งทันที
    • การเก็บน้ำนมไว้ในตู้เย็น หากแช่ในช่องแช่แข็ง ควรวางชิดกับผนังตู้เย็นด้านในสุด เพื่อให้ถุงน้ำนมได้รับความเย็นมากที่สุดและมีอุณหภูมิคงที่ ไม่ควรแช่น้ำนมไว้บริเวณฝาตู้เย็น เนื่องจากการเปิดปิดตู้เย็นตลอดวันอาจทำให้อุณหภูมิน้ำนมไม่คงที่และน้ำนมบูดได้
    • น้ำนมแม่ที่เพิ่งปั๊มเสร็จสามารถอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ประมาณ 6 ชั่วโมง แต่ทางที่ดี ควรรีบนำมาใช้ให้หมด หรือรีบนำไปแช่ตู้เย็นหรือตู้แช่ภายใน 4 ชั่วโมง
    • หากปั๊มนมใส่ถุงเก็บความเย็นแล้วแช่ในภาชนะฉนวนกันความร้อนพร้อมถุงน้ำแข็ง จะสามารถเก็บน้ำนมไว้ได้นาน 24 ชั่วโมง
    • หากเก็บน้ำนมไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาโดยวางชิดกับผนังตู้เย็นด้านในสุด จะสามารถเก็บได้นาน 4 วัน แต่ก็ควรใช้ในหมดภายใน 3 วัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา