backup og meta

วิธีให้ลูกดูดเต้า ช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ ทำได้อย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    วิธีให้ลูกดูดเต้า ช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ ทำได้อย่างไรบ้าง

    น้ำนมแม่เป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กแรกเกิด โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก เนื่องจากมีสารอาหารที่จำเป็นและมีแอนติบอดีที่ช่วยป้องกันโรค ทั้งนี้ คุณแม่ควรศึกษา วิธี ให้ ลูก ดูด เต้า ที่ถูกต้อง เพราะนอกจากจะช่วยให้ลูกกินนมได้มากพอแล้ว ยังสามารถช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ได้ด้วย การให้ลูกดูดเต้าอาจทำได้หลายวิธี เช่น วางตัวลูกให้สัมผัสแนบชิดกับคุณแม่เพื่อให้ลูกรู้สึกสงบและกินนมจากเต้าได้ง่ายขึ้น คุณแม่ควรหมั่นสังเกตว่าลูกดูดเต้านมได้อย่างถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง อาจแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนท่าทางให้นมลูก เปลี่ยนไปให้นมลูกในสถานที่ที่สงบขึ้น เพื่อให้ลูกได้รับน้ำนมแม่ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีแอนติบอดีที่เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันอย่างเพียงพอ และช่วยให้ลูกเจริญเติบโตได้อย่างสมวัย

    สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ดูดนมแม่

    สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ดูดนมแม่ หรือดูดนมแม่ได้ไม่เต็มที่ อาจมีดังนี้

    • กลิ่นของคุณแม่ผิดไปจากปกติ หากคุณแม่เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเอง เช่น สบู่ น้ำหอม โลชั่น น้ำยาระงับกลิ่นกาย อาจทำให้กลิ่นของคุณแม่เปลี่ยนไป จนลูกรู้สึกไม่คุ้นกลิ่นและไม่อยากกินนมจากเต้าเหมือนเดิม
    • ลูกเครียด หากคุณแม่กระตุ้นให้ลูกกินนมมากเกินไป ให้นมช้ากว่าปกติ หรือลูกอยู่ห่างจากคุณแม่เป็นเวลานาน อาจทำให้ลูกรู้สึกเครียดจนงอแง และไม่ยอมดูดนม
    • มีสิ่งรบกวนขณะให้นม หากอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงรบกวน หรือมีคนพลุกพล่าน อาจทำให้ลูกเสียสมาธิและไม่ยอมดูดนม
    • ลูกไม่สบาย หากลูกกำลังไม่สบาย เป็นหวัด หรือมีน้ำมูก อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว หรือหายใจไม่ค่อยสะดวกเวลากินนม จนกินนมได้น้อยลงหรือไม่ยอมกินนมตามปกติ นอกจากนี้ หากฟันของลูกกำลังงอก (โดยทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป) ลูกติดเชื้อราภายในช่องปาก หรือลูกเป็นส่าไข้ที่ทำให้เกิดผื่นแดงหรือตุ่มแดงตามตัวและช่องปาก ก็อาจรู้สึกเจ็บปาก จนทำให้ไม่สามารถดูดนมได้ตามปกติ

    วิธี ให้ ลูก ดูด เต้า

    วิธี ให้ ลูก ดูด เต้า เพื่อให้ลูกได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอ อาจทำได้ดังนี้

    • ปลุกลูกขึ้นมากินนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง แม้ลูกจะง่วงนอนหรือยังเล็กเกินไปและยังดูดนมจากเต้าไม่คล่องก็ตาม
    • หากลูกงอแงและพยายามหนีห่างจากเต้านม ไม่ยอมกินนมจากเต้า ให้หลอกล่อด้วยของเล่นหรือตุ๊กตาที่ลูกชอบ หรืออุ้มลูกแนบอกแล้วโยกตัวไปมาเบา ๆ เพื่อกล่อมให้ลูกสงบลง แล้วจึงให้ลูกลองดูดเต้าใหม่อีกครั้ง หรืออาจรอสักพักแล้วลองให้ลูกดูดเต้าอีกครั้งในช่วงที่ลูกง่วงนอน อาจทำให้ยอมกินนมได้ง่ายขึ้น
    • บีบให้น้ำนมไหลออกมา 2-3 หยดเพื่อให้มีกลิ่นและรสชาติของน้ำนมติดอยู่ที่หัวนม อาจทำให้ลูกอยากกินนมมากกว่าเดิม
    • ให้นมในสถานที่ที่เงียบสงบ ไม่มีเสียงรบกวนจากโทรทัศน์หรือคนรอบข้างที่อาจเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปจากเต้านมหรือทำให้ลูกเสียสมาธิในการดูดเต้ากินนม
    • เปลี่ยนท่าให้นมเป็นท่าใหม่ ๆ เช่น ท่านอน ท่าพิงหลังกับผนัง ท่าอุ้มตะแคงข้าง หรือพลิกตัวลูกเพื่อสลับฝั่ง อาจช่วยให้ลูกยอมกินนมจากเต้ามากขึ้น
    • ดูให้แน่ใจว่าลูกดูดเต้าถูกวิธีและต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอ วิธีดูดเต้าที่ถูกต้อง คือ ปากลูกอ้ากว้างจนครอบหัวนมและลานนมไว้จนมิด ไม่มีเสียงดูดแจ๊บ ๆ ที่เหมือนยังอ้าปากไม่เต็มที่ และอาจได้ยินลูกดูดนมเสียงดังและกลืนนมเป็นจังหวะ
    • หลีกเลี่ยงการให้ลูกดูดจุกหลอกหรือจุกนมยางเร็วเกินไป ควรรออย่างน้อย 1 เดือนเพื่อให้ลูกคุ้นชินกับเต้านมของคุณแม่ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเกิดภาวะสับสนหัวนม (Nipple Confusion) คือ สับสนระหว่างเต้านมแม่และจุกหลอกหรือจุกนมยาง
    • หากลูกมีอาการคัดจมูกหรือหายใจทางปาก ก่อนให้นมควรล้างจมูกให้ลูกด้วยการหยดน้ำเกลือเพื่อชะล้างน้ำมูกในโพรงจมูก อาจทำให้ลูกหายใจคล่องขึ้นและกินนมจากเต้าได้สะดวกขึ้น
    • หากลูกมีท่าทางงอแงหรือหงุดหงิดตอนให้นมทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ให้ลองสังเกตว่าคุณแม่เปลี่ยนสบู่ ยารักษาโรค น้ำหอม หรืออาหารที่รับประทานหรือไม่ เพราะหากกลิ่นของคุณแม่ หรือกลิ่นและรสของน้ำนมเปลี่ยนไป ก็อาจส่งผลให้ลูกไม่อยากดูดเต้ากินนมได้
    • วางตัวลูกให้สัมผัสกับตัวคุณแม่แบบเนื้อแนบเนื้อ อาจช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและดูดเต้ากินนมได้ง่ายขึ้น

    สัญญาณว่าลูกได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ

    สัญญาณที่แสดงว่าลูกได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ อาจมีดังนี้

    • ลูกไม่ตื่นขึ้นมาขอดูดนมแม่หากไม่ปลุก
    • ลูกมีท่าทางขัดขืนเมื่อถึงเวลาให้นม
    • ลูกกินนมน้อยกว่า 8 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
    • ลูกดูดนมแล้วเลิกดูดซ้ำ ๆ
    • ลูกหลับภายใน 5 นาทีหลังดูดนม
    • ลูกไม่ดูดนมอย่างต่อเนื่องในช่วง 7-10 นาทีของการให้นม
    • ลูกดูดนมเกิน 45 นาทีแล้วแต่ยังไม่อิ่ม
    • ลูกอายุเกิน 1 สัปดาห์แล้วแต่ถ่ายอุจจาระเขียวหรืออุจจาระออกเขียวปนฟอง
    • ลูกถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3-4 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง
    • ลูกถ่ายปัสสาวะน้อยจนผ้าอ้อมเปียกเต็มผืนไม่ถึง 6 ผืน ใน 24 ชั่วโมง

    นอกจากนี้ อาการผิดปกติของเต้านมคุณแม่ดังต่อไปนี้ก็อาจเป็นสัญญาณว่ามีน้ำนมค้างอยู่ในเต้านมมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากลูกดูดนมได้ไม่หมดเต้า จนไม่ได้รับน้ำนมเพียงพอ

    • หัวนมหรือลานนมเจ็บหรือช้ำบ่อยครั้ง
    • หัวนมบวมแดง ถลอก หรือแตก
    • หัวนมผิดรูป เช่น ย่น แบน หลังให้นมลูกเสร็จ
    • ในช่วงก่อนให้นม เต้านมของคุณแม่ดูไม่เต่งตึงเหมือนมีน้ำนมเต็มเต้า และเต้านมไม่ได้ดูอ่อนนุ่มลงหลังให้นมเสร็จแล้ว โดยเฉพาะเมื่อทิ้งช่วงการให้นมนานหลายชั่วโมง
    • เกิดภาวะท่อน้ำนมอุดตันหรือเต้านมอักเสบมากกว่า 1 ครั้ง

    หากลูกได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ อาจทำให้ลูกเกิดภาวะตัวเหลือง (Jaundice) เนื่องจากกินนมน้อยเกินไปจนขับบิลิรูบิน (Bilirubin) ออกจากร่างกายผ่านทางอุจจาระไม่ทัน จึงมีบิลิรูบินสะสมอยู่ในกระแสเลือดและทำให้สีผิวของทารกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง อาการนี้อาจเกิดขึ้นหลังจากทารกเกิดได้ประมาณ 2-3 วัน และอาจหายไปเองภายใน 10-14 วัน เมื่อทารกได้รับน้ำนมเพียงพอแล้ว

    สัญญาณว่าลูกได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอ

    • ลูกถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 3-4 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 6-8 สัปดาห์)
    • ลูกถ่ายปัสสาวะสีใสหรือซีด หรือถ่ายปัสสาวะจนผ้าอ้อมเปียกเต็มผืนอย่างน้อย 6 ผืน ใน 24 ชั่วโมง (สำหรับเด็กแรกเกิดอายุ 2-3 วันอาจถ่ายปัสสาวะเพียง 2-3 ครั้ง)
    • ลูกมีกล้ามเนื้อสมบูรณ์ สีผิวดูสุขภาพดี ไม่ออกเหลือง
    • ลูกตัวโตขึ้นและมีเส้นรอบวงศีรษะเพิ่มขึ้น
    • ลูกถอยห่างออกจากเต้านมด้วยตัวเองเมื่อกินนมเต็มอิ่มแล้ว
    • ลูกกินนมอย่างต่อเนื่องและดูดนมเสียงดัง
    • ปากของลูกดูแวววาวและชุ่มชื้นหลังให้นม
    • ลูกดูพอใจและอารมณ์ดีหลังกินนม ไม่มีอาการงอแงหรือหงุดหงิดให้เห็น และนอนหลับยาวประมาณ 2-3 ชั่วโมง

    หากเต้านมของคุณแม่มีลักษณะดังต่อไปนี้หลังจากให้นม ก็อาจเป็นสัญญาณว่าลูกได้รับน้ำนมเพียงพอแล้ว

    • คุณแม่รู้สึกว่าเต้านมอ่อนนุ่มลงหลังให้นม
    • หลังให้นม หัวนมของคุณแม่มีลักษณะเหมือนช่วงก่อนให้นม ไม่แบน หรือเป็นสีขาว
    • คุณแม่อาจรู้สึกง่วงและผ่อนคลายหลังการให้นม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา