backup og meta

Colostrum หรือน้ำนมเหลือง อาหารเสริมภูมิคุ้มกันจากอกแม่

Colostrum หรือน้ำนมเหลือง อาหารเสริมภูมิคุ้มกันจากอกแม่

Colostrum หรือโคลอสตรุม คือ น้ำนมเหลืองหรือหัวน้ำนม มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองข้นที่หลั่งออกมาจากเต้านมของคุณแม่ในช่วงประมาณ 1-3 วันหลังคลอด น้ำนมชนิดนี้มีสารอาหารที่ครบถ้วนสำหรับทารกแรกเกิด ทั้งยังมีแอนติบอดีที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อ และช่วยในการเจริญเติบโตของทารกได้เป็นอย่างดี และจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นน้ำนมสีขาวภายใน 2 สัปดาห์หลังคลอด ทั้งนี้ คุณแม่ควรให้ทารกกินนมแม่เป็นอาหารหลักเพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารที่เพียงพอจากนมแม่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่ดีที่สุดสำหรับเด็กในวัยนี้

[embed-health-tool-vaccination-tool]

Colostrum คืออะไร

โคลอสตรุม (Colostrum) หรือน้ำนมเหลือง บางครั้งเรียกว่า หัวน้ำนม เป็นของเหลวสีเหลืองข้นที่หลั่งออกมาในช่วงประมาณ 1-3 วันหลังคลอด Colostrum มีความเข้มข้นสูงและอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญหลากหลายที่ดีต่อสุขภาพของทารกแรกเกิด แต่มีไขมันและน้ำตาลต่ำ น้ำนมเหลืองปริมาณ 100 มิลลิลิตรให้พลังงานประมาณ 58-67 กิโลแคลอรี หรือประมาณ 17 กิโลแคลอรี/ 1 ออนซ์ สีเหลืองอ่อนของน้ำนมเหลืองเกิดจากสารแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) อีกทั้งในน้ำนมเหลืองยังมีวิตามินเอ วิตามินเค โปรตีน สารช่วยในการเจริญเติบโต และเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ผลิตแอนติบอดีหรือสารภูมิต้านทานซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค จึงช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับทารกแรกเกิดได้

เนื่องจากโคลอสตรุมหรือน้ำนมเหลืองผลิตมาจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่รกสร้างขึ้น เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เมื่อรกแยกออกจากมดลูกหลังคลอดฮอร์โมนจากรกจะลดลงอย่างมาก จนเมื่อผ่านไปประมาณ 3-4 วันหลังคลอดน้ำนมเหลืองจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นน้ำนมแม่ปกติที่จะหลั่งไปเรื่อย ๆ จนกว่าร่างกายของคุณแม่จะหยุดผลิตน้ำนม

สารอาหารในโคลอสตรุมมีอะไรบ้าง

  • อิมมิวโนโกลบูลิน เอ (Immunoglobulin A) แอนติบอดีชนิดหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของทารกแรกเกิดให้แข็งแรงขึ้น ถือเป็นภูมิคุ้มกันตัวแรก ๆ ที่ร่างกายทารกได้รับ
  • แลคโตเฟอริน (Lactoferrin) โปรตีนที่ออกฤทธิ์ต้านจุลชีพและเชื้อโรคต่าง ๆ ช่วยป้องกันการติดเชื้อ
  • เม็ดเลือดขาวลูโคไซท์ (Leukocyte) เซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันที่หลั่งออกมาพร้อมน้ำนมเหลือง
  • ไลโซไซม์ (lysozyme) เอนไซม์ที่มีฤทธิ์ย่อยสลายผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย จึงทำให้เชื้อตายได้
  • อีจีเอฟ (EGF หรือ Epidermal Growth Factor) โปรตีนที่มีส่วนประกอบของกรดอะมิโน สำคัญต่อการเสริมสร้างเซลล์ผิวหนัง และช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวของทารก
  • สารกระตุ้นการเจริญเติบโตของแล็กโตบาซิลัส (Bifidus Growth Factor) ที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์สามารถอาศัยอยู่ในลำไส้ได้
  • วิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินเอ วิตามินเค แมกนีเซียม โซเดียม คลอไรด์

ระยะของน้ำนมแม่

ระยะของน้ำนมแม่ อาจแบ่งได้ดังนี้

  1. น้ำนมเหลือง (Colostrum) เป็นน้ำนมชนิดแรกที่หลั่งออกมาในช่วงประมาณ 1-3 วันหลังคลอด มีสีเหลืองข้น อุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญหลายชนิด อาจหลั่งออกมาในปริมาณเพียง 1-4 ช้อนโต๊ะ/วัน น้ำนมในระยะนี้จะไหลช้าจึงช่วยให้ทารกแรกเกิดคุ้นเคยกับการดูดนม การกลืนนม และการหายใจได้ในเวลาเดียวกัน
  2. น้ำนมระยะที่ 2 (Transitional Milk) เป็นน้ำนมที่หลั่งออกมาในช่วงประมาณ 4-14 วันหลังคลอด ซึ่งเป็นระยะที่เปลี่ยนจาก  Colostrum หรือน้ำนมเหลืองไปเป็นน้ำนมแม่ปกติ น้ำนมในช่วงนี้จะมีสีขาวขุ่นหรือสีขาวอมฟ้า และมีไขมันมากขึ้น
  3. น้ำนมแม่ (Mature Milk) เป็นน้ำนมที่หลั่งตั้งแต่วันที่ 15 หลังคลอด มักมีสีขาว สีเหลืองอ่อน หรือสีขาวอมสีฟ้า อาจเปลี่ยนสีไปตามอาหารที่คุณแม่รับประทานและจะหลั่งไปเรื่อย ๆ จนกว่าร่างกายของคุณแม่จะหยุดผลิตน้ำนม

ประโยชน์ของ Colostrum ต่อสุขภาพทารก

  • ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้กับทารกแรกเกิด
  • ช่วยเคลือบลำไส้ของทารกแรกเกิด ป้องกันไม่ให้ร่างกายดูดซึมแบคทีเรียที่เป็นอันตราย
  • ให้สารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสมอง ดวงตา และหัวใจของทารกแรกเกิด
  • มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ช่วยให้ทารกแรกเกิดสามารถกำจัดอุจจาระที่ถ่ายออกมาครั้งแรกหลังคลอด (ขี้เทา) ได้ง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงของโรคดีซ่าน
  • สามารถย่อยได้ง่ายมาก
  • ช่วยป้องกันการเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำในทารกที่คลอดตามกำหนด

การเก็บรักษาโคลอสตรุม อย่างถูกวิธี

  • เก็บในอุณหภูมิปกติหรืออุณหภูมิห้อง (ประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส) อาจเก็บได้นานประมาณ 6-8 ชั่วโมงหลังปั๊มหรือบีบจากเต้านม และควรใช้ให้หมดโดยเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้น้ำนมเสียเปล่า
  • เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา อาจเก็บได้นานประมาณ 3-5 วัน ควรเก็บไว้ด้านในสุดของตู้เย็น เพื่อให้น้ำนมเหลืองมีอุณหภูมิคงที่และไม่เสื่อมสภาพเร็วเกินไป เมื่อนำออกมาใช้แล้ว ควรใช้ให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง
  • เก็บในช่องแช่แข็ง หากเป็นช่องแช่แข็งในตู้เย็นประตูเดียวอาจเก็บได้ประมาณ 14 วัน หากเป็นตู้เย็นที่มีช่องแช่แข็งแบบประตูแยกอาจเก็บได้นาน 3 เดือน และหากเป็นตู้แช่แข็งอุณหภูมิต่ำ (Deep freezer) อาจเก็บได้นาน 6-12 เดือน โดยควรวางไว้ด้านในสุดของช่องหรือตู้แช่แข็ง เมื่อนำน้ำนมออกมาละลายแล้วควรใช้ให้หมดโดยเร็วที่สุด ไม่ควรนำไปแช่แข็งซ้ำ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Colostrum. https://my.clevelandclinic.org/health/body/22434-colostrum. Accessed October 11, 2022

Colostrum – The Superfood For Your Newborn. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/breastfeeding/colostrum-is-superfood-for-your-newborn/. Accessed October 11, 2022

Colostrum. https://www.sciencedirect.com/topics/medicine-and-dentistry/colostrum. Accessed October 11, 2022

Antenatal expression of colostrum. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/antenatal-expression-of-colostrum. Accessed October 11, 2022

Colostrum and its benefits: a review. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0271531702003731. Accessed October 11, 2022

มีอะไรในน้ำนมแม่. https://library.thaibf.com/bitstream/handle/023548404.11/156/TBCF-book-มีอะไรในน้ำนมแม่.pdf?sequence=1&isAllowed=y. Accessed October 11, 2022

น้ำนมแม่ ประโยชน์อเนกอนันต์. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/338/น้ำนมแม่/. Accessed October 11, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/12/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เก็บ น้ำนม อย่างไรให้คุณภาพดี ไม่บูดง่าย

นมแม่เก็บได้กี่ชั่วโมง และวิธีเก็บรักษานมแม่ที่ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา