backup og meta

ดีเอชเอ (DHA) สารอาหารสำคัญ ที่ไม่ได้มีดีแค่ พัฒนาสมองของลูกน้อย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 09/09/2020

    ดีเอชเอ (DHA) สารอาหารสำคัญ ที่ไม่ได้มีดีแค่ พัฒนาสมองของลูกน้อย

    หลายคนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับสารดีเอชเอ (DHA) ว่าเป็นสารที่สำคัญต่อการพัฒนาการของลูกน้อย และทำให้นมผงหรืออาหารเสริมสำหรับทารกต่างก็พากันออกมานำเสนอสรรพคุณว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีสารดีเอชเออยู่อย่างมากมาย แต่สารดีเอชเอที่ว่านี้คืออะไรกันแน่ และ ดีเอชเอกับพัฒนาการของทารก มีความสำคัญต่อกันมากน้อยแค่ไหน Hello คุณหมอ จะพาคุณมาลองหาคำตอบร่วมกันได้จากบทความนี้

    ดีเอชเอ (DHA) คืออะไร

    กรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก หรือที่เรารู้จักกันว่า ดีเอชเอ (Docosahexaenoic acid : DHA) เป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ประเภทหนึ่ง ที่สามารถพบได้มากในอาหารทะเลที่มีไขมันมาก เช่น ปลาแซลมอน ปลาเทราต์ หรือปลาแอนโชวี่ เนื้อสัตว์ อาหารที่ทำจากนม หรืออาหารเสริมจำพวกน้ำมันปลา ที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 อยู่มาก เป็นต้น

    แม้ว่าตามปกติแล้ว ร่างกายของเราจะสามารถผลิตสารดีเอชเอขึ้นมาได้เอง แต่ก็จะมีปริมาณที่น้อยมาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และทำให้เราจำเป็นต้องบริโภคดีเอชเอเพิ่มเติม ผ่านทางการรับประทานอาหารและอาหารเสริม

    ดีเอชเอเป็นสาระสำคัญที่จะเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาการของสมอง ตั้งแต่ช่วงที่เป็นทารกในครรภ์ไปจนถึงช่วงวัยเด็กเล็ก นอกจากนี้ สารดีเอชเอยังอาจสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ช่วยบำรุงสายตา และยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับหัวใจต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ ได้อีกด้วย

    ดีเอชเอกับพัฒนาการของทารก มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

    คุณแม่ที่ตั้งครรภ์และคุณแม่ที่ให้นมลูกส่วนใหญ่ มักจะได้รับคำแนะนำให้รับประทานอาหารเสริมที่มีดีเอชเออย่างน้อย 200-300 มก. ทุกวัน นอกจากนี้ ในนมผงและอาหารเสริมสำหรับเด็กทารกส่วนใหญ่ ก็มักจะมีสารดีเอชเอเป็นส่วนประกอบสำคัญเสมอ เนื่องจากดีเอชเอนั้นมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของสมองและการเรียนรู้ของเด็กทารก และนับได้ว่าเป็น 97% ของกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่สามารถพบได้ในสมองของเด็กทารก และเป็น 25% ของไขมันในสมองทั้งหมด

    ทารกที่ได้รับสารดีเอชเอไม่เพียงพอ อาจจะมีพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ การแสดงออก และการจดจำสิ่งต่างๆ น้อยกว่าทารกที่ได้รับสารดีเอชเอมากเพียงพอต่อพัฒนาการของสมอง มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition แสดงให้เห็นว่าเด็กทารกที่เกิดจากแม่ที่รับประทานอาหารเสริมดีเอชเอ หรือได้รับปริมาณของสารดีเอชเอมากเพียงพอในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ มักจะมีความสามารถในการเรียนรู้และการแก้ไขปัญหา ได้ดีกว่าทารกที่เกิดจากแม่ที่ไม่ได้รับสารดีเอชเอมากเพียงพอ

    นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ทารกที่ได้รับสารดีเอชเอในปริมาณมาก มักจะมีการพัฒนาการของระบบประสาทดีกว่าปกติแล้ว ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงและอาการของโรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder : ADHD) ในขณะที่ทารกที่ได้รับสารดีเอชเอต่ำ อาจจะมีโอกาสมากกว่าที่จะมีอาการของโรคสมาธิสั้นได้อีกด้วย

    ประโยชน์ต่อสุขภาพของดีเอชเอ

  • โรคหัวใจ ดีเอชเอนั้นเป็นกรดโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ อีกทั้งยังสามารถช่วยลดระดับของไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) ในหลอดเลือด และเพิ่มระดับของไขมันดีในหลอดเลือดได้อีกด้วย
  • ลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด ในช่วงสัปดาห์หลัง ๆ ของการตั้งครรภ์ คุณแม่หลายคนมักจะได้รับคำแนะนำให้รับประทานอาหารเสริมดีเอชเอวันละ 600-800 มก. ต่อวัน ซึ่งนอกจากจะช่วยในเรื่องพัฒนาการสมองของทารกแล้ว งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า ดีเอชเอสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดได้มากถึง 40% เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้ยาหลอก
  • ต้านอักเสบ ดีเอชเอนั้นมีสรรพคุณในการช่วยต้านอาการอักเสบ และช่วยลดอาการของโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) งานวิจัยนั้นพบ่วา ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมานอยด์ที่รับประทานดีเอชเอวันละ 2,100 มก. จะมีอาการบวมที่ข้อลดลงมากถึง 28% เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่ใช้ยาหลอก
  • อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดีเอชเอนั้นจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพและพัฒนาการของสมองลูกน้อยเป็นอย่างมาก แต่ก็ควรระมัดระวังการรับประทานอาหารเสริมดีเอชเอมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารเสริมที่มาในรูปแบบของน้ำมันปลา เพราะอาจส่งผลข้างเคียงต่อร่างกาย เช่น มีกลิ่นปาก คลื่นไส้ หรือแสบร้อนกลางอกได้ ก่อนรับประทานอาหารเสริมใด ๆ อย่าลืมปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเสมอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 09/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา