เด็ก 10 เดือน เป็นวัยที่ยังจำเป็นต้องกินนมแม่และสามารถเสริมการกินอาหารแข็ง เพื่อฝึกทักษะการเคี้ยวอาหารและเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ดังนั้น การเลือก อาหารเด็ก10เดือน ให้เหมาะสม อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีของเด็กได้
[embed-health-tool-vaccination-tool]
อาหารเด็ก10เดือน ที่ควรได้รับ
นอกจากการกินนมแม่ เด็ก 10 เดือนยังควรได้รับอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนาการทางสมอง โดยอาหารเด็ก 10 เดือน อาจมีดังนี้
- อาหารประเภทแป้ง เช่น มันฝรั่ง มันเทศ ข้าวโพด ข้าว ข้าวต้ม ข้าวโอ๊ต ขนมปัง
- อาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดหนังและมัน ไข่ ปลา ถั่ว ธัญพืช เต้าหู้
- ผักและผลไม้ เช่น กล้วย กีวี่ ส้ม แอปเปิ้ล มะม่วงสุก ลูกพลัม ลูกพีช มะละกอ สับปะรด สตรอว์เบอร์รี
- ผลิตภัณฑ์จากนมที่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เช่น นมวัว นมแพะ โยเกิร์ต ชีส โดยใช้เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร เช่น ซุป ไข่ตุ๋นนมสด
นอกจากนี้ ควรเสริมการกินอาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสีและธาตุเหล็ก เช่น ตับ ไข่แดง อาหารทะเล ธัญพืช ผักใบเขียว เพื่อช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ปริมาณเลือดและความแข็งแรงของเม็ดเลือดในเด็กเล็ก
อาหารเด็ก10เดือนควรกินมากแค่ไหน
เด็ก 10 เดือน เป็นวัยที่ร่างกายต้องการสารอาหารที่หลากหลาย และมีการเรียนรู้ทักษะการกินอาหารแข็งมากขึ้นจึงอาจเริ่มกินนมน้อยลง ซึ่งเด็กจำเป็นต้องได้รับอาหารอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตทางร่างกายและสติปัญญา อย่างไรก็ตาม ปริมาณการกินอาหารของเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับกิจกรรมในแต่ละวันและปริมาณการใช้พลังงานของเด็ก ดังนี้
- การป้อนนมเด็ก 10 เดือน ทั้งนมแม่และนมผง ควรให้มื้อละประมาณ 6-8 ออนซ์ วันละ 4-5 ครั้ง
- การป้อนอาหารแข็งเด็ก 10 เดือน แนะนำให้ป้อนวันละ 2-3 มื้อ โดยควรป้อนอาหารบดหยาบร่วมกับการป้อนน้ำซุบ เพื่อให้เด็กสามารถฝึกเคี้ยวอาหารและน้ำซุปจะช่วยให้เด็กกินอาหารได้คล่องคอมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตอาการของเด็กตลอดการป้อนอาหารและนม หากเด็กเริ่มหันหน้าหนี ไม่ยอมอ้าปาก หรือเริ่มคายอาหารออกจากปาก อาจเป็นสัญญาณว่าเด็กอิ่มแล้ว จึงควรหยุดป้อนอาหารและไม่ควรบังคับให้เด็กกินต่อ เพราะอาจทำให้เด็กรู้สึกเหมือนโดนบังคับและอาจทำให้ป้อนอาหารในมื้ออื่น ๆ ยากขึ้น
อาหารเด็ก10เดือน ที่ควรหลีกเลี่ยง
ระบบย่อยอาหารของเด็ก 10 เดือนอาจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ และเพื่อรักษาสุขภาพของเด็ก ป้องกันปัญหาโรคอ้วนและสุขภาพช่องปาก จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด ดังนี้
- เกลือ ควรหลีกเลี่ยงการปรุงรสอาหารด้วยเกลือ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือสูง เช่น เบคอน ไส้กรอก อาหารสำเร็จรูป เพราะอาจเสี่ยงทำให้เด็กเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้
- น้ำตาล เด็ก 10 เดือนจะเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้นซี่แรก จึงไม่ควรให้เด็กกินน้ำตาล เพราะอาจเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาฟันผุได้
- ไขมันอิ่มตัว การกินไขมันอิ่มตัวมากเกินไปอาจทำให้เด็กเสี่ยงน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนได้ จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น ขนมกรุบกรอบ เค้ก บิสกิต
- น้ำผึ้ง ไม่ควรให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี กินน้ำผึ้ง เนื่องจากอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคโบทูลิซึม (Botulism) ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาท ที่อาจทำให้เด็กมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- อาหารทะเลบางชนิด เช่น ปลาทูน่า หอย เนื่องจากอาจปนเปื้อนสารปรอทที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก อาจทำให้ปวดหัว ง่วงนอน วิงเวียนศีรษะ และประสิทธิภาพการรับรู้ลดลง
- อาหารที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เช่น นม ไข่ ชีส เพราะอาจเสี่ยงทำให้เด็กติดเชื้อแบคทีเรียจนเกิดอาการเจ็บป่วยได้