อาหารเด็ก9เดือน ควรเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิดที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยพัฒนาการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมอง รวมถึงให้พลังงานที่เพียงพอในการทำกิจกรรมแต่ละวัน เพื่อสุขภาพและพัฒนาการที่ดีของเด็กในอนาคต
[embed-health-tool-bmi]
อาหารเด็ก9เดือน ที่ควรได้รับ
เด็ก 9 เดือน เป็นวัยที่มีพัฒนาการมากขึ้นและต้องการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว จึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย รวมถึงควรให้พลังงานเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน เพื่อใช้ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนาการทางสมอง ดังนั้น อาหารเด็ก9เดือนจึงจำเป็นต้องมีนมแม่เป็นอาหารหลัก และเสริมด้วยอาหารแข็งที่ให้สารอาหารหลากหลาย ดังนี้
- ผักและผลไม้ ควรเลือกผักและผลไม้ที่มีสีสันสดใสดึงดูดใจ โดยผักควรผ่านการปรุงสุกจนนิ่ม บดละเอียดหรือบดหยาบเพื่อง่ายต่อการกิน เช่น บร็อคโคลี่ แครอท ผักโขม ผักปวยเล้ง กะหล่ำปลี อะโวคาโด ผักคะน้า หน่อไม้ฝรั่ง สำหรับผลไม้ควรเป็นผลไม้สุกและบดจนเนื้อเนียนกินง่าย เช่น กล้วย แอปเปิ้ล บลูเบอร์รี่ กีวี่ ส้ม มะม่วงสุก ลูกแพร์ สตรอว์เบอร์รี แตงโม ลูกพีช มะละกอ
- อาหารประเภทแป้ง เช่น มันฝรั่ง มันเทศ ข้าว ข้าวต้ม ข้าวโอ๊ต ขนมปัง ควรผ่านการปรุงสุกจนเนื้อนิ่ม หรืออาจนำไปบดหยาบเพื่อให้กินง่ายขึ้น
- อาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา ถั่ว อาหารทะเล ไข่ เต้าหู้ เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก รวมถึงยังให้ธาตุเหล็กและสังกะสีที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันและการสร้างเม็ดเลือด
- ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต ชีส นม ควรผ่านการพาสเจอร์ไรส์เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค และสามารถใช้เป็นส่วนประกอบกับอาหารชนิดอื่น ๆ เช่น ซุป ไข่ตุ๋นนมสด เพื่อช่วยเสริมแคลเซียมให้กับเด็ก
อาหารเด็ก9เดือน ควรกินมากแค่ไหน
เด็ก 9 เดือน ยังจำเป็นต้องได้รับสารอาหารจากนมแม่เป็นอาหารหลัก และสามารถเสริมด้วยอาหารแข็ง เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงยังช่วยฝึกทักษะการเคี้ยวและการกินอาหารด้วยตัวเอง เด็กบางคนจึงอาจกินนมแม่หรือนมผงในปริมาณที่น้อยลง สำหรับปริมาณที่แนะนำในการให้นมและอาหารแข็งกับเด็ก 9 เดือน มีดังนี้
- การป้อนนมเด็ก 9 เดือน ทั้งนมแม่และนมผง ควรให้มื้อละประมาณ 6-8 ออนซ์ วันละ 4-5 ครั้ง
- การป้อนอาหารแข็งเด็ก 9 เดือน แนะนำให้ป้อนวันละ 2-3 มื้อ โดยควรป้อนเป็นอาหารบดละเอียดหรือหยาบไม่ผ่านการปรุงรส ร่วมกับการป้อนน้ำซุบหรือสลับกับการให้น้ำเปล่า
อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตอาการหิวหรืออิ่มของเด็กอยู่เสมอ หากเด็กมีอาการร้องไห้งอแง หยิบของเข้าปาก อาจแสดงว่าเด็กกำลังหิว แต่หากเด็กหันหน้าหนี ไม่ยอมอ้าปากหรือเริ่มคายอาหารออกจากปาก อาจแสดงว่าเด็กอิ่ม จึงไม่ควรบังคับให้เด็กกินต่อจนหมด เพราะอาจทำให้เด็กรู้สึกโดนบังคับและต่อต้านการกินอาหารได้
อาหารเด็ก9เดือนที่ควรหลีกเลี่ยง
ระบบภูมิคุ้มกันและระบบย่อยอาหารของเด็ก 9 เดือนอาจยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงจำเป็นต้องระวังในการให้อาหารเด็ก9เดือน ดังนี้
- น้ำผึ้ง ไม่ควรให้น้ำผึ้งกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคโบทูลิซึม (Botulism) ซึ่งเป็นโรคที่อาจสร้างความเสียหายต่อระบบประสาท และอาจทำให้เด็กมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เกลือ อาจเสี่ยงทำให้เด็กมีความดันโลหิตสูง จึงควรหลีกเลี่ยงการปรุงรสอาหารด้วยเกลือ และหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปต่าง ๆ เช่น เบคอน ไส้กรอก แฮม
- อาหารที่เสี่ยงต่ออาการแพ้ เช่น นมวัว ถั่วลิสง อาหารทะเล ข้าวสาลี เพราะระบบภูมิคุ้มกันของเด็ก 9 เดือนอาจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ จึงอาจเกิดอาการแพ้อาหารได้ง่าย แนะนำเลี่ยงเฉพาะในเด็กกลุ่มเสี่ยง ไม่แนะนำให้เด็กทั่วไปเลี่ยงอาหารเหล่านี้เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
- ช็อกโกแลต มีส่วนผสมของคาเฟอีนที่อาจทำให้เด็กมีอาการปวดหัวได้ นอกจากนี้ ช็อกโกแลตยังมีส่วนผสมของน้ำตาลที่อาจสะสมในช่องปากและทำให้เกิดปัญหาฟันผุในเด็กได้
- อาหารปรุงไม่สุกหรืออาหารที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เช่น ปลาดิบ นม ชีส โยเกิร์ต เพราะอาจเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เด็กท้องเสีย หรืออาจมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้
- อาหารที่มีวัตถุเจือปน เช่น สีผสมอาหาร น้ำตาลเทียม วัตถุกันเสีย เครื่องปรุงต่าง ๆ เพราะอาหารเด็ก9เดือน ควรเป็นอาหารจากธรรมชาติ ไม่ผ่านการปรุงแต่งที่อาจเสี่ยงปนเปื้อนสารเคมีหรือเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก