การบูลลี่ ไม่ว่าจะเป็นทางคำพูดหรือการกระทำ เป็นเรื่องที่พบได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก หากเด็กถูกบูลลี่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ อย่างไรก็ตาม การฝึกทักษะในการเข้าสังคม เช่น มารยาท การสื่อสารที่ถูกต้องชัดเจน การรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน อาจช่วยป้องกันไม่ให้เด็กถูกบูลลี่และช่วยลดการบูลลี่ได้
[embed-health-tool-child-growth-chart]
ทักษะทางสังคมที่อาจช่วยป้องกัน การบูลลี่
สำหรับเด็กเล็กแล้ว เพื่อป้องกันการถูกกลั่นแกล้งและพัฒนาความสัมพันธ์ เขาจำเป็นจะต้องเรียนรู้และใช้ทักษะทางสังคมที่หลากหลายอย่างมีประสิทธิผล สภาพแวดล้อมของเด็กปฐมวัยมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการเรียนรู้โดยธรรมชาติ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กด้วย ซึ่งเด็กๆ สามารถเรียนรู้และฝึกฝนทักษะทางสังคมได้ สำหรับวิธีที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยเสริมสร้าง ทักษะทางสังคมและป้องกันการกลั่นแกล้ง ที่จะเกิดขึ้นกับลูกน้อย สามารถทำได้ดังนี้
สร้างความนับถือตัวเอง
การเห็นคุณค่าในตัวเอง ถือเป็นรากฐานของความมั่นคงที่เด็กๆ จะสามารถอยู่ในสังคมได้ หากเด็กขาดความมั่นใจก็ถือเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาที่จะต้องรับความเสี่ยงในการพัฒนา ทักษะทางสังคมและการป้องกันการกลั่นแกล้ง ที่เข้มแข็ง
การพัฒนาความนับถือตัวเองของลูก ต้องเริ่มต้นจากการทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกเข้าใจและรับทราบถึงจุดอ่อนของพวกเขา ยอมรับ และรู้สึกดีกับตัวเองได้ การนับถือตัวเองเป็นปัจจัยที่ช่วยป้องกันการกลั่นแกล้งได้ เด็ก ๆ มักจะไม่ค่อยเลือกแกล้งคนที่มีความมั่นใจในตัวเองและสามารถควบคุมตัวเองได้
ส่งเสริมมิตรภาพ
มิตรภาพที่ดีเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยป้องกันการถูกกลั่นแกล้ง ในความเป็นจริงแล้วการมีเพื่อนแม้เพียงคนเดียวก็สามารถสร้างเกราะป้องกันการกลั่นแกล้งได้ สำหรับเด็กที่มีเพื่อนมาก ๆ มักจะไม่ค่อยเป็นเป้าหมายสำหรับการโดนแกล้งสักเท่าไหร่ ดังนั้น จึงเป็นการดีที่จะช่วยให้ลูกได้พัฒนามิตรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็ก โดยกำหนดเวลากับเพื่อน ๆ ให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมภายนอก และพูดคุยกันถึงสิ่งที่จะทำให้เกิดมิตรภาพที่ดี
สอนให้กล้าแสดงออก
เชื่อหรือไม่ว่า การกล้าแสดงออกนั้นเป็นส่วนสำคัญของการมีสังคมที่เข็มแข็ง เมื่อเด็กทำตัวเฉยชาพวกเขามักจะถูกเอาเปรียบหรือถูกรังแก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กผู้หญิงที่มักจะมองหากลุ่มเป้าหมายที่ไม่กล้าในการแสดงออก เพื่อกลั่นแกล้งและเอาเปรียบ ดังนั้น คุณควรสอนให้พวกเขากล้าที่จะแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกของตัวเอง นอกจากนั้นยังต้องเสนอให้พวกเขาตระหนักด้วยว่า การยืนหยัดเพื่อสิทธิของตัวเองเป็นสิ่งที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการถูกกลั่นแกล้ง รุกราน การกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต การกลั่นแกล้งทางเพศ และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่น ๆ
ปลูกฝังความเคารพ
เด็กทุกคนควรได้รับการสอนว่า ทุกคนควรได้รับความเคารพและทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง เมื่อพวกเขาได้รับการสอนในสิ่งนี้ พวกเขาจะมีแนวโน้มในการรังแกผู้อื่นน้อยลง ทั้งยังจะมีแนวโน้มในการต่อต้านพฤติกรรมการกลั่นแกล้งอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเด็กๆ ต้องตระหนักว่า หากเพื่อนของพวกเขาไม่ปฏิบัติกับผู้อื่นด้วยความเคารพ เพื่อนของพวกเขาก็คือคนพาล คุณพ่อคุณแม่ต้องเน้นย้ำกับลูก ๆ เสมอว่า ทุกคนควรได้รับความเคารพ รวมถึงตัวของพวกเขาเองด้วย และพวกเขาไม่ควรรักษาความสัมพันธ์กับคนที่ไม่เคารพผู้อื่น
ปลูกฝังความยืดหยุ่น
เด็ก ๆ จะต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งและความขัดแย้งไปตลอดชีวิต ดังนั้นการสอนให้พวกเขารู้จักกับวิธีการจัดการปัญหาโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น ถือเป็นทักษะชีวิตที่มีคุณค่ามาก ความยืดหยุ่นยังช่วยให้เด็ก ๆ ต่อต้านผลกระทบของการกลั่นแกล้งได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเด็กที่มีความยืดหยุ่น จะซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง และสื่อสารความรู้สึกกับผู้อื่นได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยให้พวกเขามีความอดทนเมื่อถูกรังแกหรือต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบาก
สอนให้มีความเห็นอกให้ใจผู้อื่น
เด็กที่รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นถือเป็นเด็กที่มีทักษะทางสังคม เมื่อเด็กสามารถเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ พวกเขามักจะสื่อสารถึงผู้อื่นด้วยความห่วงใยและการเอาใจใส่ไปยังผู้อื่นได้ด้วย การสอนให้ลูกๆ เอาใจใส่ผู้อื่น คุณพ่อคุณแม่สามารถทำตัวเป็นแบบอย่างให้เขาเห็นที่บ้าน เช่น เมื่อคุณเห็นสถานการณ์ของการกลั่นแกล้งผู้อืิ่น ให้ถามลูก ๆ ว่าคนนั้นจะรู้สึกอย่างไรเมื่อโดนกลั่นแกล้ง หากพวกเขามีความลำบากใจที่จะบอกคำตอบกับคุณ คุณควรเสนอแนวทางและคำแนะนำบางอย่างให้แก่พวกเขา
นอกจากนี้การแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่และห่วงใยต่อผู้อื่น โดยการบริจาคสิ่งของให้กับคนยากจน การไปเป็นอาสาสมัคร การเข้าร่วมกิจกรรมการกุศลอื่น ๆ ก็ถือเป็นการฝึกให้เด็กๆ มีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นได้เช่นกัน
ฝึกการแก้ปัญหา
บางทีองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการสร้างทักษะทางสังคมให้แก่เด็ก ๆ ก็คือ การพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมให้พวกเขา การทำเช่นนี้จำเป็นที่เด็กต้องเรียนรู้กับวิธีระบุความรู้สึกและการจัดการกับแรงกระตุ้นจากอารมณ์พวกเขาได้ แต่ถ้าพวกเขาไม่มีทักษะในการระบุความรู้สึกและจัดการกับแรงกระตุ้น ก็อาจจะทำให้เด็กมีปัญหาในการเข้าหาผู้อื่นได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนให้ลูก ๆ มีเครื่องมือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ด้วยการเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกันและเผชิญหน้ากับเหตุการณ์จริงเพื่อเป็นการฝึกฝนตัวเอง เป็นต้น
การสร้างทักษะทางสังคมที่แข็งแกร่งจะช่วยป้องกันพวกเขาจากการกลั่นแกล้งที่โรงเรียน ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขาจะมีความสามารถในการสื่อสารกับเพื่อน ๆ คนอื่นในโรงเรียน และทำความรู้จักกับเพื่อนได้ดีขึ้น และถ้าพวกเขามีความมั่นใจในตัวเองและกล้าที่จะบอกกับคนที่มากลั่นแกล้งพวกเขาให้หยุดการกระทำดังกล่าว พวกเขาจะไม่ตกเป็นเป้าหมายของการถูกกลั่นแกล้งอีกต่อไป