backup og meta

แป้งโดว์ มีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร และวิธีทำแป้งโดว์ด้วยตัวเอง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 23/05/2022

    แป้งโดว์ มีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร และวิธีทำแป้งโดว์ด้วยตัวเอง

    แป้งโดว์ เป็นของเล่นที่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก เด็กสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยการปั้นแป้งโดว์เป็นรูปร่างต่าง ๆ ตามต้องการ ซึ่งอาจช่วยเสริมสร้างจินตนาการและการเรียนรู้ของเด็ก เช่น ช่วยเสริมพัฒนาการด้านการใช้ภาษาและสื่อสาร เมื่อเด็กเล่นแป้งโดว์พร้อมเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว ที่สำคัญการปั้นแป้งโดว์ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กบริเวณมือและนิ้วของเด็กได้เป็นอย่างดีอีกด้วย คุณพ่อคุณแม่สามารถหาซื้อแป้งโดว์สำเร็จรูป หรือทำแป้งโดว์จากส่วนผสมที่หาได้ง่าย ๆ ภายในบ้าน แป้งโดว์ทำเองนั้นปลอดสารเคมี คุณพ่อคุณแม่จึงมั่นใจได้ว่าปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายสำหรับเด็ก

    แป้งโดว์ คืออะไร

    แป้งโดว์เป็นก้อนแป้งเนื้อนิ่ม ยืดหยุ่นได้ และมีสีสันสดใส สามารถใช้ปั้นเป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้คล้ายดินน้ำมัน แต่ไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อเด็ก จึงเป็นของเล่นที่ให้ทั้งความเพลิดเพลินและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้อย่างปลอดภัย เหมาะสำหรับเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไป เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มหยุดหยิบสิ่งของเข้าปาก

    วิธีการทำแป้งโดว์ด้วยตัวเอง

    วิธีการทำแป้งโดว์ด้วยตัวเอง อาจมีดังนี้

    ส่วนผสมของแป้งโดว์

    • แป้งสาลีหรือแป้งข้าวโพด 2 ถ้วยตวง
    • ครีมออฟทาร์ทาร์ (Cream of tartar) 2 ช้อนโต๊ะ
    • น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
    • เกลือป่น 1 ถ้วยตวง
    • สีผสมอาหาร
    • น้ำ 2 ถ้วยตวง
    • ถาดหรือเขียง
    • กระทะเทฟล่อนหรือกระทะเคลือบ

    ขั้นตอนการทำ แป้งโดว์

    1. ใส่แป้งสาลี เกลือ ครีมออฟทาร์ทาร์ และน้ำมันพืชลงในภาชนะที่เตรียมไว้ จากนั้นคลุกเคล้าให้เข้ากัน ขั้นตอนนี้อาจให้เด็กมีส่วนร่วมในการคลุกเคล้าส่วนผสมต่าง ๆ ด้วยตัวเอง
    2. ค่อย ๆ เติมน้ำลงในภาชนะผสม ระวังอย่าให้ส่วนผสมข้นหรือเหลวจนเกินไป
    3. เปิดไฟอ่อน ๆ วางกระทะบนเตา ควรใช้กระทะเทฟล่อนหรือกระทะเคลือบ เพื่อไม่ให้ส่วนผสมติดกระทะ รอให้กระทะร้อนสักครู่ แล้วจึงเทส่วนผสมลงกระทะ ขั้นตอนนี้ควรให้ผู้ใหญ่จัดการ และให้เด็กเป็นผู้สังเกตการณ์เพื่อความปลอดภัย
    4. กวนส่วนผสมจนเป็นเนื้อเดียวกัน รอให้แป้งเริ่มจับตัวเป็นก้อน แล้วตักแป้งออกมาพักบนภาชนะใหม่ ทิ้งไว้ให้แป้งหายร้อน
    5. ตรวจสอบว่าแป้งไม่ร้อนจนเกินไป แล้วจึงแบ่งแป้งมาปั้นแยกเป็นก้อน ๆ หยดสีผสมอาหารตามต้องการ ควรใส่สีผสมอาหารทีละนิดจนกว่าจะได้สีที่ถูกใจ ในขั้นตอนนี้สามารถให้เด็กมีส่วนร่วมได้
    6. นวดจนสีเสมอกันทั้งก้อนแป้ง เพียงเท่านี้ก็จะได้แป้งโดว์พร้อมใช้งานแล้ว ควรเก็บแป้งโดว์ไว้ในตู้เย็นโดยใส่ในถุงซิปล็อกพลาสติก เมื่อแป้งเริ่มเปลี่ยนสีก็สามารถทำใหม่ได้อีกเรื่อย ๆ

    ประโยชน์ของการเล่นแป้งโดว์

    การเล่นแป้งโดว์มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็ก ดังนี้

    • เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็ก เด็กสามารถปั้นแป้งเป็นสิ่งต่างๆ เช่น แพนเค้ก หนอน ลูกบอล อาหาร ซึ่งอาจช่วยให้เด็กได้ฝึกทักษะความยืดหยุ่นทางความคิด และลองใช้ความคิดมุมมองใหม่โดยไม่ยึดติดกับความคิดและการกระทำแบบเดิม ๆ เช่น รู้จักคิดพลิกแพลงเมื่อเล่นกับ แป้งโดว์ และเมื่อเวลาผ่านไป เด็กจะปั้นแป้งโดว์ได้ซับซ้อนมากขึ้น ใช้สีที่หลากหลายกว่าเดิมในการสร้างสรรค์ผลงาน แทนที่จะใช้เพียงแค่สีเดียวต่อชิ้น
    • พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กบริเวณมือและนิ้ว การนวดคลึงแป้งให้เป็นแผ่นและปั้นแป้งเป็นรูปร่างต่าง ๆ จะช่วยให้เด็กได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือและนิ้ว เมื่อกล้ามเนื้อมือและนิ้วแข็งแรงก็จะช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะด้านการวาด การเขียนหนังสือ รวมถึงการหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
    • ส่งเสริมพัฒนาการด้านการใช้ภาษาและการสื่อสาร เด็กอาจได้เรียนรู้การใช้ภาษาและใช้คำศัพท์ในชีวิตประจำวัน เช่น คำกริยา อย่างนวด คลึง แผ่ ม้วน ปั้น เป็นต้น หรือคำนาม เช่น ลูกบอล นก บ้าน ต้นไม้ เป็นต้น รวมถึงได้พัฒนาทักษะในการสื่อสารกับผู้อื่นในการอธิบายสิ่งที่ตัวเองทำ
    • ฝึกการทำงานร่วมกันของมือและตา ในขณะที่ใช้มือปั้นแป้งโดว์เป็นรูปร่างต่าง ๆอาจช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันระหว่างมือและตา ซึ่งเป็นการฝึกความสามารถการประสานงานของตาในการส่งข้อมูลที่ได้รับจากภาพตรงหน้าไปยังสมอง เพื่อสั่งการให้มือได้ทำงานไปพร้อม ๆ กัน
    • ช่วยเสริมทักษะทางสังคม การใช้เวลาทำแป้งโดว์และเล่นแป้งโดว์กับผู้อื่น เช่น คุณพ่อคุณแม่ เพื่อน อาจช่วยให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และช่วยส่งเสริมทักษะการเข้าสังคมให้กับเด็กได้ด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 23/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา