ลูกไม่กินข้าว เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างความลำบากใจให้คุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัย 1–7 ปี เนื่องจากอาจทำให้ลูกได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาและการเจริญเติบโตของร่างกาย คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุและวิธีการฝึกให้ลูกกินข้าว เพื่อช่วยดูแลให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเหมาะสมต่อวัย
ลูกไม่กินข้าว เกิดจากอะไร
ลูกไม่กินข้าว อาจทำให้ลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งความวิตกกังวลนี้อาจเกิดจากความไม่รู้หรือเข้าใจผิด ของคุณพ่อคุณแม่เกี่ยวกับเรื่องกินและน้ำหนักตัวของลูก ดังนี้
- คุณพ่อคุณแม่มีค่านิยมที่ผิด ๆ มองว่า เด็กอ้วนคือสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์แข็งแรงและน่ารัก ทำให้มองเด็กที่น้ำหนักปกติว่า เป็นเด็กผอมเกินไป และพยายามยัดเยียดเรื่องกินมากขึ้น
- เข้าใจผิดว่าลูกน้ำหนักน้อยเกินไป ทั้งที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นในชั้นเดียวกันที่มีน้ำหนักเกิน ซึ่งในปัจจุบันมีเด็กอ้วนในบ้านเราอยู่ถึงร้อยละ 15-20
- ไม่รู้ว่าเด็กหลังอายุ 1 ขวบ อาจสนใจการกินน้อยลง เด็กอายุขวบปีแรกจะกินเก่งเพราะเป็นช่วงที่เติบโตเร็ว ซึ่งเด็กจะมีน้ำหนักเพิ่มถึง 3 เท่าตัว คือ น้ำหนักแรกเกิดประมาณ 3 กิโลกรัม จะเพิ่มเป็น 9 กิโลกรัม เมื่ออายุ 1 ขวบ จึงมีความต้องการสารอาหารมากตามธรรมชาติและหิวบ่อย กินเก่ง แต่เมื่ออายุ 1 ปี จนถึง 10 ปี จะมีน้ำหนักขึ้นเฉลี่ยปีละ 2 กิโลกรัม ทำให้ร่างกายต้องการสารอาหารน้อยลง เด็กจึงมีความกระตือรือร้นเรื่องกินลดลง ทำให้พ่อแม่เข้าใจว่าลูกไม่กินข้าว
- ไม่รู้ว่าลูกควรกินอาหารปริมาณเท่าใดในแต่ละวัน ปริมาณอาหารที่คุณพ่อคุณแม่คาดหวังว่าลูกควรจะกินมักจะมากเกินความจริง จากการศึกษาวิจัยพบว่าคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะตักอาหารให้ลูกปริมาณมากกว่าที่ร่างกายของลูกต้องการ เมื่อเด็กกินไม่หมดก็ทำให้เกิดความวิตกกังวล และพยายามยัดเยียด
- ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องปกติที่เด็กอาจกินน้อยเป็นบางมื้อหรือบางวัน เด็กคนเดียวกันความต้องการอาหารแต่ละวันอาจไม่เหมือนกัน บางวันเด็กอาจกินมาก บางวันอาจกินน้อย ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น กิจกรรมที่ใช้พลังงานในวันนั้น สภาพทางอารมณ์และจิตใจ แม้แต่สภาพอากาศก็อาจมีผลต่อการเจริญอาหารของเด็กในแต่ละวัน เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่อาจมีบางมื้อที่รู้สึกไม่หิว ไม่อยากกินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ไข้หวัด ก็อาจทำให้เบื่ออาหารชั่วคราวได้
- ไม่รู้ว่าความต้องการปริมาณอาหารของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน แม้ว่าจะน้ำหนักเท่ากัน แต่เด็กแต่ละคนอาจกินอาหารมากน้อยต่างกันได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราการใช้พลังงาน การย่อย การดูดซึม อัตราการเผาผลาญของร่างกายของเด็กแต่ละคน
คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกกินข้าวตั้งแต่กี่ขวบ
โดยปกติเด็กจะเริ่มกินอาหารตั้งแต่อายุ 6 เดือน แต่ก็ยังกินนมเป็นหลัก คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะนิยมให้ลูกเริ่มกินข้าวบดเปล่า ๆ หรือกล้วยบด โดยเด็กควรได้รับสารอาหารหลักครบ 5 หมู่เหมือนผู้ใหญ่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรทำอาหารให้ลูกเอง เพื่อให้ได้สารอาหารครบ และควรหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนเมนูอาหารให้มีความหลากหลาย และไม่จำเป็นต้องมีการปรุงรสใด ๆ เพื่อให้เด็กเรียนรู้และคุ้นเคยกับรสชาติอาหารแบบธรรมชาติ
เหตุผลที่เด็กติดนมจน ไม่กินข้าว
เด็กที่อายุเกิน 1 ขวบควรกินอาหาร 3 มื้อเหมือนผู้ใหญ่ เพราะเด็กในวัยนี้เริ่มต้องการสารอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และนมไม่จัดว่าเป็นอาหารหลักสำหรับเด็กวัย 1 ขวบขึ้นไป ซึ่งการให้เด็กกินนมมากเกินไป จะทำให้อิ่มจนไม่ยอมกินข้าว ควรให้เด็กกินอาหารที่ครบ 5 หมู่ และครบ3 มื้อ พร้อมกับให้กินนมเป็นอาหารเสริม โดยไม่ควรกินนมเกิน 20-24 ออนซ์ต่อวัน เทียบง่าย ๆ ก็คือเท่ากับนม 3 แก้วต่อวัน
สาเหตุที่เด็กบางคนกินนมมาก ๆ เนื่องมาจากการติดขวดนม มีความสุขที่จะได้ดูดขวดนมมากกว่าการกินข้าว จึงแนะนำว่าให้เลิกขวดนมตั้งแต่ขวบครึ่ง หรืออย่างช้าไม่เกิน 2 ขวบ คือเดินได้เมื่อไหร่ ให้โยนขวดนมทิ้ง การติดดูดจนกระทั่งกินนมเยอะเกินไป จะทำให้เด็กไม่กินข้าว
ลูกอมข้าว อีกปัญหาที่พบบ่อย
พฤติกรรมอมข้าวอาจเกิดจากการที่เด็กเริ่มอิ่มหรือเริ่มอยากไม่กินข้าว แต่ผู้เลี้ยงหรือคุณพ่อคุณแม่ยังพยายามจะป้อนต่อ การอมข้าวอาจเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ไม่มีใครสามารถป้อนข้าวเข้าไปในปากได้อีก เมื่อคุณพ่อคุณแม่พยายามจะเอาช้อนมาจ่อที่ปากให้กิน เด็กก็จะยิ่งอมไปเรื่อย ๆ จนอาจติดเป็นนิสัยได้
ดังนั้น ถ้าเกิดเด็กเริ่มไม่ยอมกินแล้ว คุณพ่อคุณแม่อย่าพยายามใช้ช้อนจ่อปากป้อนข้าวต่อไป เพราะถึงจะป้อนเข้าไปได้ เด็กก็จะคายทิ้ง เพราะไม่อยากกิน ส่วนเด็กที่ติดนิสัยอมข้าวไปแล้ว ก็ไม่ควรจี้เวลากินว่ากินเร็ว ๆ เคี้ยว แต่ควรให้เด็กกินอาหารด้วยตัวเอง โดยกำหนดเวลามื้ออาหารไว้ และอาจให้คำชมเชยในมื้อที่กินอาหารได้ดี
ถ้ากินไปด้วย เล่นไปด้วย จะมีปัญหาไหม
เด็กวัยนี้เป็นวัยที่ฉลาด ซุกซน พร้อมจะเล่นอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เมื่อถึงเวลากินก็จะเล่น และอาจกลายเป็นว่าต้องมีคนคอยตามป้อนให้ตลอด เมื่อถึงวัยที่ควรจะกินเองก็อาจทำให้เด็กก็ไม่กินข้าวหรือต้องให้ป้อน เนื่องจากเป็นการกระทำที่คุ้นชินตั้งแต่ยังเด็ก
ดังนั้น การดึงความสนใจของเด็กมาที่โต๊ะอาหารให้มากขึ้น ชวนให้เด็กเล่นในสิ่งที่เกี่ยวกับการกินอาหาร เช่น การหยิบจับอาหารที่มีสีสันต่าง ๆ การใช้ช้อนส้อมตักอาหารเล่น รวมไปถึงการตักข้าวกินเอง อาจทำให้เด็กมีความสุขกับมื้ออาหาร
สิ่งที่ควรทำเพื่อให้ลูกกินข้าว
- เตือนลูกก่อนกินข้าว 10-15 นาทีก่อนเวลาอาหาร เตือนลูกว่า ใกล้ถึงเวลากินแล้ว การบอกล่วงหน้าเป็นการเตรียมลูกให้พร้อมก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงเวลาของการกิน
- สร้างกิจวัตรประจำวัน อาจให้ทุกคนกินอาหารในเวลาเดียวกันทุกมื้อ และพยายามทำให้ทุกอย่างเหมือนกันให้มากที่สุด เพื่อทำให้ลูกคุ้นชินกับเวลาการกินอาหารให้ทุกวัน
- ทำให้มื้ออาหารเพลิดเพลินและมีความสุข ถ้าเวลากินอาหารเป็นเวลาแห่งความสุข ลูกก็อาจตั้งตารอที่จะกินข้าว พยายามหลีกเลี่ยงการโต้เถียงหรือการทำอะไรที่ให้ความรู้สึกในแง่ลบในระหว่างมื้ออาหาร
- อย่าบังคับให้ลูกกินอาหารจนเกลี้ยงจาน เมื่อลูกบอกว่าอิ่มแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกหยุดกิน การบังคับให้กินต่อเมื่อไม่หิวแล้ว อาจเป็นการรบกวนความต้องการตามธรรมชาติภายในร่างกายที่บอกให้ลูกหยุดกินเมื่ออิ่ม การบังคับให้ลูกกินอาจทำให้เกิดการต่อต้าน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจบอกลูกว่าหยุดกินได้เมื่ออิ่ม และสอนลูกด้วยว่าควรจะกินเท่าที่หิว เพื่อที่ลูกจะได้ไม่ติดนิสัยการกินมากจนเกินไป ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้
- อย่าต่อรองหรือติดสินบนลูก ไม่ว่าจะเป็นการให้รางวัลหรือการลงโทษ ก็ไม่ใช่เรื่องดีทั้งนั้น การบอกลูกว่าให้กินอีกสามคำ แล้วจะได้กินขนม เป็นการทำให้ลูกเคยชินกับการต่อรองที่อาจทำให้เกิดปัญหาในการเลี้ยงดูในเรื่องอื่น ๆ ด้วย อีกอย่างการเอาขนมมาเป็นรางวัลอาจทำให้ลูกรู้สึกว่าขนมเป็นของมีค่า และสามารถนำไปสู่การปรนเปรอตัวเองด้วยขนมและของหวานต่อไปเมื่อโตขึ้น
[embed-health-tool-vaccination-tool]