backup og meta

พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 2 เดือน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 18/01/2022

    พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 2 เดือน

    พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 2 เดือน อาจแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน แต่โดยพื้นฐานแล้วย่อมต้องมีพัฒนาการตามวัยทั้งทางด้านร่ายกาย อารมณ์ และจิตใจ  คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลและสังเกตพัฒนาการของลูกน้อย ทั้งนี้ เพื่อจะได้รับมือกับลูกน้อยได้อย่างเข้าใจ รวมทั้งหากเกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการ จะได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างทันท่วงที

    การเจริญเติบโตทางร่างกายและความสามารถของเด็ก 1 ขวบ 2 เดือน

    1.จากรายงานขององค์กรอนามัยโลก (WHO)  น้ำหนักเฉลี่ยของเด็กวัยนี้อยู่ที่ 9 กิโลกรัมสำหรับเด็กผู้หญิง และ  10 กิโลกรัมสำหรับเด็กผู้ชาย ส่วนความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 76 เซนติเมตรสำหรับเด็กผู้หญิง และ 78 เซนติเมตรสำหรับเด็กผู้ชาย

    2.เด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่สามาถยืนได้ด้วยตนเองและเริ่มก้าวเท้าสองสามก้าวได้แล้ว บางคนอาจเดินได้เองแล้ว หรืออาจมีเด็กบางคนที่อาจเริ่มวิ่งหรือแม้กระทั่งเริ่มคลานขึ้นบันได รวมทั้งปีนป่าย

    3. ฟันน้ำนมเริ่มขึ้นแล้ว ควรแปรงฟันให้ลูกน้อยเป็นประจำทุกวัน และวัยนี้อาจสามารถเอ่ยคำง่าย ๆ เช่น พ่อ แม่ ได้ และอาจจะพูดคำอื่น ๆ ได้อีก 5-6 คำ รวมทั้งความสามารถในการรับคำสั่งง่าย ๆ เช่น ไปหยิบของเล่น ไปข้างนอก

    4. พ่อแม่หลายคนอาจเริ่มอยากฝึกให้ลูกเข้าห้องน้ำหรือฝึกใช้กระโถน โดยปกติแล้ว เด็ก ๆ จะส่งสัญญาณให้เองหากพวกเขาพร้อมที่จะขับถ่ายด้วยตนเอง และยังไม่มีรายงานทางการแพทย์ถึงช่วงวัยที่เหมาะสมที่สุดสำหรับฝึกลูกน้อยขับถ่าย เพียงแต่พ่อแม่อาจเริ่มเล่านิทานหรือพูดถึงการขับถ่ายในห้องน้ำเพื่อเตรียมตัวและแนะนำให้ลูกน้อยรู้จักการช่วยเหลือตัวเองในเรื่องนี้ให้ได้มากที่สุด

    5. เด็กจะสามารถปล่อยสิ่งของออกจากมือและหยิบขึ้นมาด้วยตนเองได้ และเริ่มที่จะฝึกโยนลูกบอล หยิบจับของเล่น หรือสิ่งของใกล้มือ ควรฝึกให้เด็ก ๆ รู้จักหยิบสิ่งของออกจากภาชนะ รวมทั้งสามารถพลิกหน้าหนังสือที่เป็นกระดาษแข็งได้ หรือแม้กระทั่งหยิบจับดินสอสีแล้วขีดเขียนลงบนกระดาษ อีกทั้งชี้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเพื่อแสดงความต้องการ

    อาหารและการรับประทานอาหาร

    แพทย์อาจจะแนะนำให้พยายามทำให้เด็กวัยนี้เลิกดื่มนมจากขวด  ถ้าลูกน้อยยังไม่พร้อมจะเลิกดื่มนมจากขวด อาจเริ่มต้นด้วยการจำกัดเวลาการดื่มนมและน้ำผลไม้จากขวด ให้อยู่ในช่วงมื้ออาหาร หรือเวลารับประทานของว่างเท่านั้น หากต้องการให้ลูกน้อยเลิกดื่มนมจากขวดอย่างเด็ดขาดอาจใช้วิธีหักดิบ หรือทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งวิธีหลังอาจดีกว่า ทั้งนี้ อาจทดแทนด้วยการให้ลูกดื่มนมจากถ้วยหัดดื่มแทน และเริ่มต้นใช้ถ้วยในช่วงอาหารเช้า หลังจากนั้นสองสามวันก็เพิ่มในช่วงกลางวัน ซึ่งการเลิกดูดนมขวดในช่วงก่อนนอน ถือเป็นเรื่องยากที่สุด และมักจะทำได้สำเร็จในภายหลัง

    โดยเด็กในวันนี้อาจเริ่มทดลองกินอาหารใหม่ ๆ ได้แล้ว และอาจจะปฏิเสธที่จะกินอาหารที่เคยชอบกิน พ่อแม่จึงไม่ควรยัดเยียดอาหารหากลูกปฏิเสธที่จะกิน เพราะเป็นช่วงวัยที่เขากำลังค้นหาอาหารที่พวกเขาชอบและไม่ชอบ

    สำหรับปริมาณอาหารในแต่ละวัน ปกติแล้ว เด็กวัยนี้ควรกินอาหารหลัก 3 มื้อและอาหารว่าง 2 มื้อระหว่างวัน โดยเน้นให้เด็กได้กินอาหารครบทั้ง 5 หมู่ โดยในหนึ่งวัน เด็กวัยนี้ควรได้พลังงานประมาณ 1,000 กิโลแคลอรี่ หรือประมาณ 40 กิโลแคลอรี่ต่อความสูง 2.5 เซนติเมตร แต่ทั้งนี้พ่อแม่อาจไม่ถึงกับจำเป็นต้องชั่งตวงอาหาร ขึ้นอยู่กับความหิวของเด็ก ๆ ด้วย

    พัฒนาการด้านอื่น ๆ และการส่งเสริมของพ่อแม่และผู้ปกครอง

    เด็กในวัยนี้มักมีพัฒนาการทางด้านความกลัวและความกังวลค่อนข้างชัดเจนขึ้น ลูกกลายเป็นเด็กที่รู้สึกไวต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเขามากขึ้น อาจรู้สึกตกใจกับเสียงของเครื่องซักผ้า หรือเครื่องปั่นอาหาร พ่อแม่จึงควรระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องเสียงที่ไม่ทำให้เด็กวัยนี้ตกใจกลัว และพยายามทำให้เด็กรู้สึกสบายใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว

    ในช่วงวัยนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะในการวางรากฐานที่จะช่วยให้ลูกน้อยเป็นคนที่มีระเบียบวินัย คุณแม่และคุณพ่อจำเป็นต้องมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันก่อนที่จะพูดจาชี้แนะลูก โดยเฉพาะในสิ่งที่อนุญาตให้ลูกน้อยทำ หากลูกน้อยฝ่าฝืนกฎระเบียบที่พ่อแม่ตั้งไว้ ควรหลีกเลี่ยงการดุด่า หรือตะคอกลูกน้อย วิธีที่ดีที่สุดคือทำตัวให้หนักแน่นเข้าไว้ สอนลูกให้รู้ว่าพฤติกรรมไหนดี และพฤติกรรมไหนไม่ดี ลูกจะรับรู้ได้ในทันทีเวลาที่พ่อแม่แสดงความจริงจังโดยการเปลี่ยนน้ำเสียง

    เวลาเล่นสำหรับเด็กเป็นช่วงเวลาสำคัญ สำหรับการสร้างทักษะต่าง ๆ  ทั้งทางการเคลื่อนไหวร่างกาย และการเข้าสังคม รวมทั้งการให้ความยอมรับนับถือในตัวเองด้วย ฉะนั้นจึงควรจัดเตรียมโอกาสและสถานที่ ให้ลูกน้อยได้เล่นสนุกเยอะ ๆ ถ้าพบว่าลูกกำลังเล่นกับตัวเอง ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ควรสนับสนุนให้เขาเล่นแบบนี้ในแต่ละวันบ้าง โดยพ่อแม่อาจนั่งสังเกตอยู่ห่าง ๆ ก็ได้ วิธีนี้จะช่วยสนับสนุนให้ลูกน้อยพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมพัฒนาการอย่างหนึ่ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 18/01/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา