ฝึกลูกนอนคนเดียว เป็นการฝึกให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะทำอะไรด้วยตัวเองเป็น โดยไม่ต้องพึ่งพาพ่อกับแม่เสมอไป รวมทั้งทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้มีเวลาส่วนตัว แต่การฝึกลูกนอนคนเดียวนั้นอาจไม่ง่ายนัก ต้องค่อยเป็นค่อยไป สื่อสารให้ลูกเข้าใจถึงเหตุผลและให้เวลาลูกปรับตัวเพื่อจะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว หรือรู้สึกว่าโดนกีดกันออกจากพ่อกับแม่ ยังคงความรักและความเข้าใจในครอบครัว
ฝึกลูกนอนคนเดียว ดีอย่างไร
การฝึกให้ลูกรู้จักเข้านอนคนเดียวโดยไม่ต้องมีคุณพ่อคุณแม่คอยตามประกบเข้านอนด้วยนั้น เป็นผลดีต่อเด็กในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้
รู้จักจัดการกับความรู้สึก
การฝึกลูกนอนคนเดียว เป็นการฝึกให้ลูกเรียนรู้ที่จะจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง เพราะการอยู่คนเดียวในตอนกลางคืนหรือท่ามกลางความมืดอาจเป็นเรื่องน่ากลัว หากคุณพ่อคุณแม่ยังต้องนอนกับลูกทุกครั้งอาจจะเป็นการจำกัดความสามารถในการจัดการกับความรู้สึกตัวเองของลูก การฝึกลูกนอนคนเดียว จะช่วยให้เขารับมือกับความกลัว เพื่อเรียนรู้ที่จะรับมือและจัดการกับความรู้สึกอื่น ๆ ด้วยตัวเองต่อไป
เข้าใจสิทธิความเป็นส่วนตัว
เมื่อลูกเรียนรู้ที่จะเข้านอนคนเดียวในห้องนอนของตัวเอง เท่ากับเรียนรู้ว่าทุก ๆ คนต่างต้องการความเป็นส่วนตัว เมื่อเด็กมีพื้นที่ส่วนตัวเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการนึก คิด หรือทำอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องส่วนตัว ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เด็กรู้จักที่จะเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นด้วย
เสริมสร้างความมั่นใจ
การฝึกให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตนเอง ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจว่าพวกเขาทำได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างการนอนคนเดียว การใส่เสื้อผ้าด้วยตัวเอง การไปโรงเรียนเอง หรือการล้างจานเอง ทำให้รู้จักการตัดสินใจด้วยตัวเอง นำมาซึ่งความภูมิใจที่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองจนสำเร็จ
เปิดโอกาสการทำกิจกรรมได้มากขึ้น
เมื่อลูกโตพอที่จะต้องทำอะไรด้วยตัวเองได้แล้ว แต่ถ้ายังติดการนอนกับพ่อแม่อยู่ ก็อาจกลายเป็นการจำกัดกิจกรรมบางอย่าง เช่น การไปพักค่ายค้างแรม เพราะหากไม่มีพ่อกับแม่คอยช่วยเหลืออยู่ข้าง ๆ แบบตอนอยู่ที่บ้านแล้ว ก็อาจทำให้รู้สึกไม่สนุก กังวล ไม่เต็มที่กับการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งปัญหานอนไม่หลับ เป็นการตัดโอกาสที่จะทำให้ลูกเติบโตและเรียนรู้กิจกรรมที่มีประโยชน์รวมทั้งการเข้าสังคมอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วย
เทคนิคการ ฝึกลูกนอนคนเดียว
คุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่กำลังประสบปัญหาการฝึก ลูกนอนคนเดียว แต่ยังไม่ได้ผล อาจลองใช้เทคนิคง่าย ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังต่อไปนี้
อยู่เป็นเพื่อน แต่ไม่นอนด้วย
ในระยะแรกเริ่ม การจะให้ลูกเข้าห้องนอนคนเดียวแล้วคุณพ่อคุณแม่เดินออกมาเลย ก็อาจจะไม่ช่วยให้เด็กนอนคนเดียวได้ทันที ควรเริ่มจากการนอนเป็นเพื่อนในวันแรก ๆ หรืออยู่เป็นเพื่อนแล้วรอจนลูกนอนหลับไป เพื่อให้ลูกรู้สึกอุ่นใจและรู้สึกปลอดภัย แล้วค่อย ๆ ลดระยะเวลาในการอยู่เป็นเพื่อนลง จากอยู่รอจนลูกหลับ เป็นอยู่ด้วยเพียง 30 นาที หรือ 10 นาที หรืออยู่ด้วยจนกว่าจะอ่านหนังสือหรือเล่านิทานจบ จนกระทั่งไม่จำเป็นต้องอยู่เป็นเพื่อนอีกเลย
จัดห้องนอนให้เหมาะกับ ลูกนอนคนเดียว
การจัดบรรยากาศห้องนอนถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญและจำเป็น ห้องนอนที่ดีควรให้ความรู้สึกสบายและปลอดภัย เหมาะที่จะนอนหลับพักผ่อน ไม่ควรมืดมากเพราะอาจยิ่งทำให้ลูกรู้สึกกลัวมากขึ้น โดยเฉพาะหากลูกเป็นโรคกลัวความมืด แต่ก็ไม่ควรสว่างเกินไปจนรบกวนการนอนหลับ นอกจากนี้ยังควรเป็นห้องที่มีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการนอน ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป และไม่ควรมีเสียงรบกวนเวลานอนด้วย เพื่อให้ลูกนอนคนเดียวได้อย่างสบายใจ
ทำให้ลูกรู้สึกสงบและปลอดภัย
ความมืดอาจทำให้ลูกจินตนาการไปต่าง ๆ นานา จนทำให้รู้สึกกลัวขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่ควรหาสิ่งที่จะทำให้ลูกรู้สึกสงบและปลอดภัยไว้ในห้องนอน เช่น น้องเน่า ตุ๊กตา สัตว์เลี้ยง หมอน ผ้าห่ม หนังสือเล่มโปรด หรือสิ่งของอื่น ๆ ที่ลูกชอบ เพื่อให้อารมณ์สงบลงที่จะอยู่ตามลำพังเพราะมีของที่ทำให้พวกเขารู้สึกอุ่นใจ
ใช้ภาษาอย่างเหมาะสม
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแสดงอาการหงุดหงิดโดยเฉพาะเวลาที่ลูกอาจจะงอแงเมื่อต้องนอนคนเดียว ควรใช้ภาษาที่สุภาพ ปลอบประโลม และให้กำลังใจ เช่น “ตอนแม่เด็ก ๆ แม่ก็กลัว แต่แค่มีพี่หมีอยู่ด้วยทั้งคืน แม่ก็ไม่กลัวแล้ว” หรือ “นอนคนเดียวได้ เป็นคนเก่งมาก ๆ เลยนะ” หรือ “เตียงกว้างขนาดนี้ นอนคนเดียวสบายใจที่สุดเลย ไม่ต้องเบียดใครด้วย” ควรเป็นคำพูดที่แสดงออกถึงความเข้าใจในปัญหาที่ลูกกำลังเผชิญ และให้กำลังใจเพื่อให้ลูกมั่นใจได้ว่าจะไม่มีสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นแม้จะนอนคนเดียวโดยไม่มีพ่อกับแม่อยู่ด้วยก็ตาม
กำหนดเวลานอน
เมื่อเริ่มฝึกให้ลูกนอนคนเดียว ในระยะแรก ๆ ลูกอาจจะรอคอยให้พ่อกับแม่ไปส่งเข้านอน และถ้ายิ่งรู้ว่าพ่อกับแม่ยังไม่เข้านอนด้วย ก็อาจจะยิ่งทำให้ลูกยังไม่เข้านอนด้วยเหมือนกัน ดังนั้น ช่วงแรกอาจจะต้องมีการกำหนดเวลาเข้านอนอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศในการนอนให้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน นอนพร้อมกัน แม้จะคนละห้องนอนก็ตาม
การนอนคนเดียว อาจเป็นเรื่องที่ยากโดยเฉพาะหากลูกยังเล็ก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรรีบร้อน ควรฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ลูกรู้สึกชินกับการนอนคนเดียว จนสามารถเข้านอนคนเดียวได้เป็นปกติ