เด็ก ๆ ที่เข้าสู่ช่วงวัยประถมส่วนใหญ่มักอยู่ในช่วงอายุ 6-12 ปี ด้วยกัน พร้อมมีการเจริญเติบโตขึ้นตามแต่ละช่วงวัย รวมไปถึงการอบรม เอาใจใส่ และการดูแลของคุณพ่อคุณแม่ร่วมด้วย แต่คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่คะว่า ในช่วงอายุลูกรักดังกล่าว จะส่งผลให้พวกเขามีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นในด้านใดบ้าง ถ้าหากยังไม่ทราบละก็ วันนี้บทความของ Hello คุณหมอ จึงขอนำความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ถึง พัฒนาการเด็กวัยประถม และเคล็ดลับการดูแลให้เหมาะกับช่วงวัย มาฝากผู้ปกครองทุกคนกันค่ะ
รูปแบบการเรียนรู้ของ เด็กวัยประถม
แต่ละช่วงอายุ และอุปนิสัยเด็ก ๆ แต่ละบุคคลนั้น ย่อมมีการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจมีความต้องการอยากจะเรียนรู้ทางด้านวิชาการ ในขณะที่เด็กบางคนอาจอยากเรียนรู้ทางด้านกิจกรรม แต่ส่วนใหญ่โดยรวมแล้วเด็กในช่วงวัยประถมมักอยากเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามาเสมอ พวกเขาจะกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น ชอบสำรวจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการพบเจอสังคมใหม่ในโรงเรียน วิชาเรียน กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางคุณครูผู้สอนได้มอบหมายให้ ซึ่งมักจะทำให้เด็กคัดกรองในสิ่งที่ตนเองชอบได้ว่า ตัวพวกเขานั้นถนัดอะไร ชอบทำอะไร และสิ่งใดที่ไม่ค่อยถนัด
ดังนั้นรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กในช่วงวัยนี้ผู้ปกครองทุกคนควรสนับสนุนหากเป็นไปในทางที่ดี และควรตักเตือนหากลูกรักมีพฤติกรรมที่ไม่สมควร แต่ไม่ถึงกับต้องบังคับตลอดเวลา เนื่องจากเด็กวัยประถมต้องการอิสระในภายใต้การขอความคิดเห็นจากผู้ปกครองร่วม เพื่อทำให้เขาตัดสินใจลงมือทำ และเพลิดเพลินกับสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบได้อย่างสนุกขึ้น
พัฒนาการเด็กวัยประถม แต่ละช่วงอายุ
อย่างที่ทราบกันดีว่า เด็กวัยประถม ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 6-12 ปี โดยแต่ละช่วงอายุก็ย่อมมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
- ช่วงอายุ 6- 8 ปี
การเปลี่ยนแปลงด้านความคิด และการเรียนรู้
- มีความเห็นใจ ห่วงใยผู้อื่น ตามสถานการณ์ที่พบเจอได้มากขึ้นกว่าการเห็นแก่ตัวเอง
- เริ่มมีทักษะการพูดคุย หรืออธิบายถึงความรู้สึก ความคิดที่ดี
- มีความสามารถใหม่ ๆ ที่พวกเขาชอบเพิ่มเข้ามา
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และสังคม
- เริ่มนึกถึงอนาคต หรือสิ่งเป้าหมายที่อยากเป็นตามความชื่นชอบ
- ให้ความสำคัญเมื่อต้องมีการทำงานเป็นกลุ่มกับคนหมู่มาก
- มีความต้องการให้เป็นที่ยอมรับ และความชื่นชอบจากเพื่อน ๆ
- แสดงถึงอิสระที่ตนเองต้องการให้ผู้ปกครองได้ทราบมากขึ้น
- ช่วงอายุ 9-11 ปี
การเปลี่ยนแปลงด้านความคิด และการเรียนรู้
- เริ่มเห็นมุมมองต่าง ๆ ด้านความคิดอีกแง่มุมของผู้อื่นชัดเจนมากยิ่งขึ้น
- เริ่มมีความสนใจอยากเรียนรู้ด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และสังคม
- มีการตระหนักถึงกายภาพมากขึ้น เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยแรกรุ่น
- มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่แน่นแฟ้น ให้ความสำคัญกับเพื่อนมากขึ้น
- ช่วงอายุ 12 ปี
การเปลี่ยนแปลงด้านความคิด และการเรียนรู้
- รู้จักแยกแยะสิ่งผิด-ถูกได้มากขึ้น
- มีการแสดงออกความรู้สึกผ่านการพูดคุยได้ดี
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และสังคม
- อารมณ์แปรปรวน
- เริ่มมีภาวะความเครียดจากสิ่งรอบข้าง
- รู้จักดูแลตัวเอง เอาใจใส่บุคลิกภาพมากขึ้น
- ให้ความสำคัญกับเพื่อนมากขึ้น จนลดความสัมพันธ์ในครอบครัว
- มีกิริยาแสดงความหยาบคาย ด้วยอารมณ์ชั่ววูบ
- ขาดความมั่นใจ
พัฒนาการข้างต้นของเด็ก ๆ จะไปในเชิงบวก หรือเชิงลบนั้น อาจต้องขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ การดูแลของผู้ปกครอง และสังคมความเป็นอยู่รอบด้านร่วมด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลกับเด็ก ๆ ในการกระตุ้นพัฒนาการ และการเติบโตนำไปสู่การใช้ชีวิตในวันข้างหน้าได้
เคล็ดลับการเลี้ยงดูเด็กวัยประถม
ในฐานะที่คุณเป็นผู้ปกครอง คุณต้องรู้จักฝึกวินัยพวกเขาตั้งแต่เนิ่น ๆ พร้อมเอาใจใส่ พูดคุย ถามไถ่สม่ำเสมอ และมักหากิจกรรมทำร่วมกัน เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าคุณไม่ใช่เป็นเพียงแค่พ่อแม่ แต่ยังเป็นเพื่อน และที่ปรึกษาคนสำคัญในชีวิต ที่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็สามารถเข้าไปพูดคุยได้อย่างไม่ต้องเกรงกลัว หรือถูกทำโทษรุนแรง
ที่สำคัญควรชี้แนะแนวทางด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง กล่าวตักเตือนทุกครั้งหากเด็ก ๆ ทำผิดพลาด เว้นการลงโทษดุด่าถ้อยคำหยาบคาย และใช้ความรุนแรงเป็นทางออก เพราะอาจเป็นการสร้างความกลัวให้เด็กฝังใจจนส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ อีกทั้งในกรณีที่เด็กมีความประพฤติดี คุณจำเป็นต้องชมเชย หรือมีการให้รางวัลบ้างเล็กน้อย เพื่อให้พวกเขารู้สึกมีกำลังใจจะทำต่อ และพร้อมสนับสนุนกิจกรรมในสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นด้านกีฬา ภาษา วิชาการ ศิลปะ เป็นต้น
[embed-health-tool-vaccination-tool]