backup og meta

Grooming คือ การเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ ภัยต่อเด็กที่ควรรู้เท่าทัน

Grooming คือ การเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ ภัยต่อเด็กที่ควรรู้เท่าทัน

การกรูมมิ่ง หรือ Grooming คือ พฤติกรรมการเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ โดยผู้ที่มีพฤติกรรมนี้จะเข้ามาตีสนิทกับเด็กหรือครอบครัวของเด็กเพื่อให้เกิดความไว้วางใจและตายใจ เมื่อคุ้นเคยกันดีแล้ว บุคคลนั้นอาจเริ่มชักจูงหรือข่มขู่ให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเพศโดยที่เด็กไม่ทราบว่าตัวเองกำลังถูกควบคุมหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศอยู่ การเรียนรู้ว่า Grooming คืออะไร และมีลำดับขั้นตอนอย่างไร อาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองรู้เท่าทันและสอนเด็กให้ระมัดระวังตัว สามารถสังเกต และออกห่างจากบุคคลที่มีพฤติกรรมในลักษณะนี้ได้

[embed-health-tool-vaccination-tool]

Grooming คือ อะไร

การกรูมมิ่ง หรือ Grooming คือ พฤติกรรมการเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ ด้วยการพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่น่าไว้วางใจกับตัวเด็กหรือครอบครัวของเด็ก ซึ่งอาจใช้เวลาหลายวัน หลายเดือน หรือใช้เวลาเป็นปี เมื่อเด็กและครอบครัวและเด็กรู้สึกสนิทใจและเชื่อว่าว่าบุคคลนั้น ๆ ไม่มีจุดประสงค์อื่นใดแอบแฝง ก็อาจทำให้บุคคลนั้นสามารถใช้เวลาร่วมกับเด็กได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเด็กรู้สึกคุ้นเคย ผูกพัน และไม่ทันระวังตัว ก็อาจโดนฉวยโอกาสล่วงละเมิดทางเพศเมื่ออยู่ตามลำพัง หรือในขณะที่เด็กหรือครอบครัวไม่ทันสังเกต

การ Grooming เกิดขึ้นได้อย่างไร

การ Grooming เป็นพฤติกรรมที่หวังได้รับความรู้สึกจากเด็กตอบแทนและหวังล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual abuse) เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยผู้กระทำสามารถเป็นเพศใดก็ได้ และเด็กทั้งผู้หญิงและผู้ชายล้วนมีความเสี่ยงถูก Grooming ได้ไม่ต่างกัน ผู้กระทำอาจเป็นบุคคลใกล้ชิด เช่น ญาติสนิทของเด็ก หรืออาจเป็นคนแปลกหน้าที่เข้ามาตีสนิทกับเด็กโดยที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองไม่ทราบ บางครั้งผู้กระทำการ Grooming อาจเข้ามาตีสนิทกับสมาชิกในครอบครัวของเด็กอย่างโจ่งแจ้งเพื่อให้ตัวเองสามารถเข้าหาและเรียกร้องเรื่องทางเพศกับเด็กในภายหลังได้สะดวกที่สุด โดยไม่มีใครสังเกตหรือสงสัย

นอกจากนี้ ยังมีการ Grooming ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คุณพ่อคุณแม่อาจไม่สามารถสอดส่องหรือตามดูแลได้ บุคคลที่ไม่หวังดีอาจเข้าหาเด็กหลังจากรู้ว่าเป็นผู้เยาว์และอาจแสดงท่าทีว่าเป็นคนอายุใกล้เคียงกัน เข้าหาด้วยการหลอกว่าเป็นดาราศิลปิน หรือเข้าหาด้วยภาพลักษณ์ผู้ใหญ่ใจดี แล้วอาจสร้างสายสัมพันธ์กับเด็กด้วยการส่งข้อความ โทรศัพท์หา หรือวิดีโอคอล หากเด็กไม่ทันระวังตัวหรือตายใจ ก็อาจถูกลวนลามทางเพศทางออนไลน์ หรือถูกล่อลวงไปล่วงละเมิดทางเพศได้

สัญญาณของเด็กที่ถูก Grooming

สัญญาณของการ Grooming อาจสังเกตหรือระบุแน่ชัดได้ยาก เพราะมักดูเหมือนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ทั่ว ๆ ไป อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีพฤติกรรมดังตัวอย่างต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของการ Grooming ที่พบในเด็กและวัยรุ่น

สัญญาณของการถูก Grooming ในเด็ก

  • เด็กได้รับของขวัญ เช่น เสื้อผ้า ของเล่นใหม่ แบบไม่มีที่มาที่ไป และไม่อยากบอกว่าได้รับของขวัญมาจากใคร
  • เด็กได้รับข้อความจากคนที่รู้จักกันผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้ก็อาจสังเกตหรือแยกแยะได้ยากว่าเป็นการ Grooming หรือไม่ เนื่องจากเด็กในยุคปัจจุบันมีเพื่อนออนไลน์เยอะเป็นเรื่องปกติ
  • เด็กพูดถึงเด็กโตหรือผู้ใหญ่บางคนบ่อย ๆ และแสดงท่าทางว่าอยากใช้เวลาร่วมกับบุคคลนั้น ๆ
  • เด็กแสดงท่าทางว่าอยากไปพบกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่บางคนตามลำพังโดยไม่ต้องการให้คุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วย
  • เด็กไม่อยากพูดถึงสิ่งที่ตัวเองทำเมื่อถูกถามถึง
  • เด็กหยุดเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันหรือหยุดขอคำแนะนำจากคุณพ่อคุณแม่
  • เด็กใช้เวลาตามลำพังในห้องส่วนตัวหรือชอบอยู่คนเดียวมากขึ้น

สัญญาณการของถูก Grooming ในวัยรุ่น

  • วัยรุ่นมีแฟนที่อายุมากกว่าหลายปี
  • วัยรุ่นได้รับของขวัญ เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ โทรศัพท์มือถือ หรือของราคาแพง แบบไม่มีที่มาที่ไป และไม่อยากบอกว่าได้รับของขวัญมาจากใคร
  • วัยรุ่นไม่ต้องการพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังทำหรือพูดโกหกเพื่อหลบเลี่ยงไม่บอกความจริง
  • วัยรุ่นใช้เวลากับเพื่อนน้อยลงหรือเปลี่ยนกลุ่มเพื่อนอย่างกะทันหัน
  • วัยรุ่นเลิกพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เรื่องเกี่ยวกับความรู้สึก ทั้งนี้ก็อาจแยกแยะได้ยากว่าเป็นการ Grooming หรือไม่ เนื่องจากวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มักต่อต้านคนในครอบครัว โดยเฉพาะกับคุณพ่อคุณแม่

วิธีสอนเด็กไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการ Grooming

การให้คำแนะนำแก่เด็กเพื่อไม่ให้เป็นเหยื่อของการ Grooming อาจทำได้ดังนี้

  • สอนให้เด็กเรียกชื่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายให้ถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้เด็กสามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจนหากมีเรื่องที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น
  • ให้เด็กทำความเข้าใจว่า คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองสามารถเห็นเด็กในตอนที่ถอดเสื้อผ้าได้เนื่องจากยังต้องช่วยอาบน้ำหรือแต่งตัว แต่คนนอกบ้านไม่ควรเห็นเด็กในตอนถอดเสื้อผ้าเนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และเมื่อเด็กสามารถอาบน้ำแต่งตัวเองได้แล้ว ก็ไม่ควรให้ผู้อื่นเห็นตอนถอดเสื้อผ้า
  • ควรปลูกฝังให้เด็กรับรู้ว่าอวัยวะบางส่วนของร่างกาย เช่น หน้าอก ต้นขา อวัยวะเพศ เป็นอวัยวะที่ไม่ควรให้คนอื่นมาสัมผัสหรือลูบคลำเป็นอันขาด ไม่ว่าจะเป็นคนแปลกหน้า หรือคนที่สนิทสนมด้วยแค่ไหนก็ตาม
  • โดยส่วนใหญ่แล้วคนที่ต้องการล่อลวงหรือ Grooming เด็ก มักจะบอกให้เด็กเก็บเรื่องที่ตัวเองถูกล่วงละเมิดเป็นความลับ ไม่เช่นนั้นจะไม่มาเล่นด้วย ไม่ให้ของขวัญ หรือไม่ให้เด็กกินขนมที่ชอบอีก หรือในบางกรณีเมื่อเด็กนำเรื่องที่เกิดขึ้นไปบอกผู้อื่น ผู้ที่ทำการ Grooming ก็จะบอกว่าเด็กพูดโกหก คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนเด็กว่าอย่าเชื่อฟังคำพูดของคนที่แสดงพฤติกรรมล่วงละเมิดร่างกายของเด็กแล้วบอกให้เด็กเก็บเรื่องที่เกิดขึ้นไว้เป็นความลับกับตัวเอง หากเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เด็กจะต้องบอกคุณพ่อคุณแม่ทันที และทำให้เด็กมั่นใจว่าเด็กสามารถบอกคุณพ่อคุณแม่ได้โดยไม่ถูกทำโทษแต่อย่างใด
  • เด็กบางคนอาจไม่กล้าปฏิเสธผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะหลีกห่างหรือปฏิเสธเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตราย เช่น สอนให้ปฏิเสธการถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอส่วนลับของร่างกายตัวเอง สอนให้เด็กหลีกเลี่ยงการอยู่กับบุคคลอื่นตามลำพัง สอนให้วิ่งหนีไปยังที่ ๆ คนพลุกพล่านหากถูกล่วงละเมิด
  • สอนให้เด็กรู้ว่ากฎที่ตั้งเอาไว้ต้องใช้กับทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จักที่คุ้นเคยกันดี ญาติสนิท คนข้างบ้าน เด็กอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน รวมไปถึงคนแปลกหน้า และควรระมัดระวังตัวเองอยู่เสมอ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Sexual Abuse. https://www.healthychildren.org/English/safety-prevention/at-home/Pages/Sexual-Abuse.aspx. Accessed December 15, 2022

10 Ways to Teach Children to Speak Up About Sexual Abuse. https://childmind.org/article/10-ways-to-teach-your-child-the-skills-to-prevent-sexual-abuse/. Accessed December 15, 2022

Grooming: recognising the signs. https://raisingchildren.net.au/school-age/safety/online-safety/grooming-signs. Accessed December 15, 2022

Recognising when a child is at risk. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/servicesandsupport/recognising-when-a-child-is-at-risk. Accessed December 15, 2022

พฤติกรรมการเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ (Grooming). https://www.thaichildrights.org/articles/grooming/. Accessed December 15, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: ศุภานิช สุริโย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เคล็ดลับสำหรับพ่อแม่ ในการเลี้ยงลูกให้ได้ดี

การเลี้ยงลูก ให้สุขทั้งกายและใจ ทำได้อย่างไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 04/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา