backup og meta

Cilostazol (ซิลอสทาซอล) ข้อบ่งใช้ และผลข้างเคียง

Cilostazol (ซิลอสทาซอล) ข้อบ่งใช้ และผลข้างเคียง

Cilostazol (ซิลอสทาซอล) ใช้ในการรักษาอาการเกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิตบริเวณขา ยานี้ช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ตะคริวที่เกิดขึ้นระหว่างออกกำลังกายหรือขณะเดิน รวมถึงอาการปวดขาเนื่องจากหลอดเลือดตีบ

[embed-health-tool-bmi]

ข้อบ่งใช้

Cilostazol ใช้สำหรับ

Cilostazol (ซิลอสทาซอล) ใช้ในการรักษาอาการเกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิตบริเวณขา ยานี้ช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ตะคริวที่เกิดขึ้นระหว่างออกกำลังกายหรือขณะเดิน รวมถึงอาการปวดขาเนื่องจากหลอดเลือดตีบ ที่เกิดจากออกซิเจนถูกส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ ยาซิลอสทาซอลช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และปริมาณออกซิเจนที่ส่งไปยังกล้ามเนื้อ

ยาซิลอสทาซอลเป็นยาต้านการทำงานของเกล็ดเลือด และขยายหลอดเลือด ซึ่งช่วยยับยั้งเซลล์เลือดที่เรียกว่าเกล็ดเลือด (platelets) ไม่ให้จับตัวกันและป้องกันการอุดตั้นของเลือด รวมถึงช่วยขยายหลอดเลือดบริเวณขา

วิธีการใช้ยาซิลอสทาซอล

รับประทานยาซิลอสทาซอลในขณะท้องว่างตามที่แพทย์แนะนำ ปกติวันละสองครั้ง ก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง เช้าและเย็น ขนาดยาที่ใช้ขึ้นอยู่กับอาการ การตอบสนองต่อการรักษา และการใช้ยาชนิดอื่น ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงยาที่คุณใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อเอง หรือยาสมุนไพร

ควรใช้ยาสม่ำเสมอเพื่อให้ได้ผลสูงสุดและควรทานยาตรงเวลาในทุกๆ วัน อาการของคุณจะดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่อาจะใช้เวลาถึง 12 สัปดาห์ กว่าจะเห็นผลสูงสุด ควรแจ้งแพทย์ หากอาการยังคงอยู่หรือแย่ลง

การเก็บรักษายา ซิลอสทาซอล

ยาซิลอสทาซอลควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นแสงและความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเสื่อมสภาพ ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาซิลอสทาซอลบางยี่ห้ออาจมีวิธีเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรอ่านคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์หรือสอบถามเภสัชกรเสมอ และโปรดเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเพื่อความปลอดภัย

ไม่ควรทิ้งยาซิลอสทาซอลลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นเสียแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น หากยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง โดยสามารถสอบถามข้อมูลวิธีกำจัดยาที่ถูกต้องได้จากเภสัชกร

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนการใช้ Cilostazol

ก่อนการใช้ยาซิลอสทาซอล ควรแจ้งแพทย์ หากคุณแพ้ยาซิลอสทาซอล หรือยาอื่นๆ  หรือหากคุณมีอาการแพ้อื่นๆ ยาชนิดนี้อาจมีส่วนผสมไม่ออกฤทธิ์ ที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่นๆ ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ควรแจ้งประวัติทางการแพทย์ให้แพทย์และเภสัชกรทราบ โดยเฉพาะ

  • อาการเลือดออกง่ายหรือรุนแรง เช่น แผลร้อนในเลือดออก เลือดออกในตาหรือสมอง
  • โรคเลือด เช่น โรคเลือดไหลไม่หยุด เกล็ดเลือดต่ำ
  • โรคหัวใจ เช่น หัวใจวาย เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคไต

ยานี้อาจทำให้คุณเวียนศีรษะ จึงไม่ควรขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่ต้องการการตื่นตัว จนกว่าคุณแน่ใจว่า สามารถทำกิจกรรมเหล่านั้นได้อย่างปลอดภัย

เพื่อลดโอกาสการเกิดแผล ฟกช้ำ หรือบาดเจ็บ ควรใช้ของมีคม เช่นมีดโกน และที่ตัดเล็บอย่างระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงกีฬาที่มีการปะทะ

ยาชนิดนี้อาจทำให้เกิดอาการเลือดออกในกระเพาะอาหาร การดื่มแอลกอฮอล์ทุกวันในขณะที่ใช้ยาอยู่ อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ ควรควบคุมปริมาณแอลกอฮอล์ ควรปรึกษาแพทยหรือเภสัชกร เกี่ยวกับเครื่องดื่มที่ปลอดภัย

ยาซิลอสทาซอลอาจทำให้เกิดภาวะที่ส่งผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจ แต่มักไม่ทำให้เกิดการเต้นของหัวใจที่แรงและผิดจังหวะ และอาการอื่นๆ เช่น เวียนศีรษะรุนแรง หมดสติ ที่ต้องได้รับการรักษาโดยทันที

ความเสี่ยงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติอาจเพิ่มขึ้น หากคุณมีอาการของโรคอื่น หรือใช้ยาอื่นที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยง ก่อนใช้ยาซิลอสทาซอล คุณควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกร เกี่ยวยาทุกชนิดที่คุณใช้หรือมีอาการ ดังต่อไปนี้

  • โรคเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจวาย หัวใจเต้นช้า คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
  • ประวัติในครอบครัวเกี่ยวกับโรคหัวใจ เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ การเสียชีวิตกะทันหันจากโรคหัวใจ

ระดับโพแทสเซียมหรือแมกนีเซียมในเลือดที่ต่ำอาจเพิ่มความเสี่ยงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ความเสี่ยงนี้อาจเพิ่มขึ้นหากคุณใช้ยาต่างๆ เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือหากคุณมีภาวะสุขภาพ เช่น เหงื่อออกมาก ท้องร่วง หรืออาเจียน โปรดปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการใช้ยาซิลอสทาซอลอย่างปลอดภัย

ก่อนการผ่าตัด แจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ถึงยาทุกชนิดที่คุณใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อได้เอง ยาสมุนไพร ยาทางเลือกอื่นๆ เป็นต้น

ผู้สูงอายุอาจตอบสนองต่อการเกิดผลข้างเคียงของยาได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะอาการมือเท้าบวม อาการบวมน้ำ หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ

ระหว่างตั้งครรภ์ ควรใช้ยาเมื่อจำเป็นเท่านั้น โปรดปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ของยา ยังไม่มีข้อมูลว่ายาชนิดนี้เข้าสู่น้ำนมหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินประโยชน์และความเสี่ยงก่อนใช้ยานี้

ยาซิลอสทาซอล จัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา มีดังนี้

  • A = ไม่มีความเสี่ยง
  • B = ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C = อาจจะมีความเสี่ยง
  • D = มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X = ห้ามใช้
  • N = ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของ Cilostazol

อาการปวดศีรษะ ท้องร่วง น้ำมูกไหล และวิงเวียนอาจเกิดขึ้นได้ หากอาการเหล่านี้ยังอยู่หรือแย่ลง ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที

แพทย์สั่งยาชนิดนี้เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย มากกว่าจะเกิดผลข้างเคียง และผู้ป่วยหลายคนที่ใช้ยานี้ไม่ได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงใดๆ

ติดต่อแพทย์ทันที หากเกิดผลข้างเคียงรุนแรง ได้แก่

  • มือเท้าบวม
  • อาการช้ำหรือเลือดออกง่าย
  • อุจจาระสีคล้ำหรือมีเลือดปน
  • อาเจียนสีคล้ายกาแฟบด
  • มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ เจ็บคอเรื้อรัง

เข้ารับการรักษาทันทีหากคุณเกิดอาการข้างเคียงรุนแรงมาก ได้แก่

  • เจ็บหน้าอก กราม หรือแขนข้างซ้าย
  • หน้ามืด เวียนศีรษะรุนแรง
  • หัวใจเต้นเร็วและแรง
  • สายตาเบลอ
  • ร่างกายข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง
  • พูดไม่รู้เรื่อง มึนงง

อาการแพ้รุนแรงจากการใช้ยาไม่ค่อยเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หากสังเกตอาการของการแพ้ เช่น เวียนศีรษะรุนแรง หายใจลำบาก ผื่นคัน บวม โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น คอ ควรรีบเข้ารับการรักษาทันที

ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน หรือบางคนอาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากนี้ หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นๆ

ยาซิลอสทาซอลอาจเกิดอันตรกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรด้วยว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง สมุนไพร เป็นต้น และเพื่อความปลอดภัย คุณไม่ควรเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ยาที่อาจทำปฏิกิริยากับยาซิลอสทาซอล ได้แก่

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาเฮพาริน (heparin) ยาวาร์ฟาริน (warfarin)
  • ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น ยาไดพิริดาโมล (dipyridamole) ยาทิพรานาเวียร์ (tipranavir)

ยาซิลอสทาซอลอาจใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงการเสียเลือด ตัวอย่างยาต้านเกล็ดเลือด เช่น ยาแอสไพริน (aspirin) ยาโคลพิโดเกรล (clopidogrel) ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ และใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด แจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีอาการเลือดออกผิดปกติ ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ตรวจสอบฉลากยาทั้งที่แพทย์สั่งและที่หาซื้อได้เองอย่างละเอียด เนื่องจากยาหลายชนิดอาจมีส่วนผสมของยาแก้ปวดหรือยาลดไข้ เช่น ยาแอสไพริน (aspirin) ยาลดอาการอักเสบกลุ่ม NSAID เช่น ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ยานาพรอกเซน (naproxen) ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงอาการเลือดออกหรือต้านเกล็ดเลือดได้ หากใช้ร่วมกับยาซิลอสทาซอล

อย่างไรก็ตาม หากแพทย์แนะนำให้ใช้ยาแอสไพรินขนาดต่ำ เพื่อป้องกันอาการหัวใจวายหรือหลอดเลือดในสมองแตก (ขนาดปกติที่ใช้คือ 81-325 มิลลิกรัมต่อวัน) คุณควรใช้ยาแอสไพรินต่อไป จนกว่าแพทย์จะสั่งให้หยุดใช้ สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาซิลอสทาซอลอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่นๆ

ยาซิลอสทาซอลอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาซิลอสทาซอลสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาปกติสำหรับผู้ใหญ่ในการรักษาอาการเส้นเลือดแดงที่ขาตีบ

  • รับประทานยา 100 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง 30 นาทีหรือ 2 ชั่วโมง ก่อนอาหารเช้าและเย็น

การปรับขนาดยาสำหรับภาวะไต 

  • ไม่มีข้อมูล

การปรับขนาดยาสำหรับภาวะตับ 

  • ยาซิลอสทาซอลถูกย่อยด้วยสารไซโตโครมพี 450 ในตับ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการตับวายควรรับประทานยานี้เพียง 50 มิลลิกรัม วันละสองครั้ง

การปรับขนาดยา

เนื่องจากปฏิกิริยาที่ทำกับเอนไซม์ไซโตโครมพี 450 (CYP450) ขนาดยาซิลอสทาซอลควรปรับลดลงเหลือ 50 มิลลิกรัมวันละสองครั้งในช่วงที่ใช้ยาอื่นร่วมด้วย เช่น ยาต้านเชื้อนากลุ่มเอโซล (azole antifungals) ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมโครไลด์ และยากลุ่มยับยั้งการหลั่งกรด (proton pump inhibitors) นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเกรปฟรุต ร่วมกับยาซิลอสทาซอล

ข้อควรระวัง

  • ยาซิลอสทาซอลและเมตาโบไลท์ของยาชนิดนี้หลายตัว เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ชื่อ ฟอสโฟไดเอสเทอเรส (phosphodiesterase III inhibitors) ยาหลายชนิดและผลทางเภสัชวิทยาทำให้เกิดการรอดชีวิตน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยาหลอก กับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง ขั้นที่ 3 และ 4 (CHF) ยาซิลอสทาซอลเป็นยาที่ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ยาซิลอสทาซอลใช้ในการต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดและห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกต่อเนื่อง เช่น แผลในกระเพาะอาหาร ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ
  • ควรใช้ยาซิลอสทาซอลอย่างระมัดระวังกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเสียเลือด และผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านเกล็ดเลือดแข็งตัว
  • ควรใช้ยาซิลอสทาซอลอย่างระมัดระวังกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเลือดมาก่อน เช่น เกล็ดเลือดต่ำ

การฟอกเลือด

ยังไม่มีข้อมูล แต่ไม่สามารถกำจัดยาซิลอสทาซอลด้วยการฟอกเลือดได้ เนื่องจากมีพันธะโปรตีนอยู่สูง

คำแนะนำอื่นๆ

  • ควรทานยาซิลอสทาซอลอย่างน้อย 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมงก่อนอาหารเช้าและเย็น
  • ผู้ป่วยบางคนอาจรู้สึกว่าอาการดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์หลังการรักษา ในขณะที่ผู้ป่วยบางคนอาจต้องใช้เวลาในการรักษาถึง 12 สัปดาห์ จึงจะเห็นผล

ขนาดยาซิลอสทาซอลสำหรับเด็ก

ขนาดยาที่ใช้สำหรับเด็กยังไม่มีการระบุแน่ชัด ยาชนิดนี้อาจไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กได้ สิ่งสำคัญคือ คุณต้องทำความเข้าใจถึงความปลอดภัยก่อนการใช้ยา โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ชนิดเม็ด

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cilostazol. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-16838/cilostazol-oral/details. Accessed January 16, 2018.

Cilostazol Dosage. https://www.drugs.com/dosage/cilostazol.html. Accessed January 16, 2018.

Cilostazol. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01166. Accessed January 16, 2018.

Cilostazol. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a601038.html. Accessed August 18, 2023.

Cilostazol. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK544363/. Accessed August 18, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/08/2023

เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาชนิดไหนที่ช่วยอาการปวดกระดูกและข้อ

จัดการกับอาการ ปวดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย ให้ได้ผล


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์ · แก้ไขล่าสุด 18/08/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา