backup og meta

วิตามินอี (Vitamin E)

ข้อบ่งใช้ข้อควรระวังและคำเตือนผลข้างเคียงปฏิกิริยาของยาขนาดยา

ข้อบ่งใช้

วิตามินอี (Vitamin E) ใช้สำหรับ

วิตามินอี (Vitamin E) เป็นวิตามินชนิดหนึ่งที่ละลายในไขมัน พบได้ในอาหารหลายชนิด รวมทั้งน้ำมันพืช ธัญพืช เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ไข่ ผลไม้ ผักและน้ำมันจมูกข้าวสาลี นอกจากนี้ยังพบในรูปแบบอาหารเสริม

วิตามินอีนำมาใช้เพื่อรักษาภาวะขาดวิตามินอี ซึ่งพบได้ยาก แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม และทารกซึ่งคลอดก่อนกำหนด และมีน้ำหนักตัวน้อย

บางคนใช้วิตามินอีเพื่อรักษาและป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ การแข็งของหลอดเลือด หัวใจวาย เจ็บหน้าอก อาการเจ็บขาเนื่องจากหลอดเลือดแดงตีบ และความดันโลหิตสูง

วิตามินอียังใช้เพื่อรักษาโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ มีการใช้เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอดและช่องปากในผู้สูบบุหรี่ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ (Polyps) มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งตับอ่อน

บางคนใช้วิตามินอีเพื่อรักษาโรคทางสมองและระบบประสาท ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ และโรคสมองเสื่อมอื่นๆ โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) ตะคริวตอนกลางคืน โรคขาอยู่ไม่สุข และโรคลมชัก พร้อมกับยาชนิดอื่น วิตามินอียังใช้สำหรับโรคฮันติงตัน (Huntington’s chorea) และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ

ผู้หญิงใช้วิตามินอีเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ในช่วงปลาย เนื่องจากความดันโลหิตสูง (ครรภ์เป็นพิษ) กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) รู้สึกเจ็บปวดระหว่างมีประจำเดือน กลุ่มอาการวัยหมดประจำเดือน อาการร้อนวูบวาบที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม และซีสต์ในเต้านม

บางครั้งใช้วิตามินอีเพื่อลดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายของการรักษา เช่น การฟอกเลือดและการฉายรังสี นอกจากนี้ ยังใช้เพื่อลดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ของยา เช่น ผมร่วงในคนที่ได้รับยาด็อกโซรูบิซิน (Doxorubicin) และความเสียหายที่เกิดกับปอดในคนที่ใช้ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone)

บางครั้งใช้วิตามินอีเพื่อเพิ่มความอดทนทางร่างกาย เพิ่มพลังงาน ลดความเสียหายของกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกาย และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

วิตามินอียังใช้สำหรับรักษาโรคต้อกระจก หอบหืด การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ ความผิดปกติของผิวหนังผิว ผิวเสื่อมสภาพเพราะอายุมาก แสบจากแสงแดด โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้สารคัดหลั่งในร่างกายมีความเหนียวข้นขึ้น) ภาวะมีบุตรยาก อ่อนแรง อ่อนเพลียเรื้อรัง (CFS) แผลพุพอง โรคทางพันธุกรรมบางโรค และเพื่อป้องกันโรคภูมิแพ้

บางคนใช้วิตามินอีทาผิวเพื่อลดริ้วรอย และป้องกันผลกระทบจากการใช้สารเคมี เพื่อรักษาโรคมะเร็ง (เคมีบำบัด)

การทำงานของ วิตามินอี

ยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับการออกฤทธิ์ของวิตามินอีที่เพียงพอ โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า วิตามินอีจำเป็นต่อร่างกายในการทำงานที่เหมาะสมของอวัยวะหลายอย่าง วิตามินอียังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยชะลอกระบวนการที่ทำให้เซลล์เกิดความเสียหาย

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้วิตามินอี

ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในกรณีดังต่อไปนี้

  • คุณกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เนื่องจากในขณะที่คุณกำลังตั้งท้องหรือให้นมบุตรอยู่ คุณควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
  • คุณกำลังใช้ยาชนิดอื่น รวมถึงยาใด ๆ ที่คุณซื้อโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์
  • คุณแพ้ส่วนประกอบของวิตามินอีหรือสมุนไพรชนิดอื่น
  • คุณมีอาการป่วย ความผิดปกติ หรือโรคชนิดอื่น
  • คุณมีอาการแพ้ เช่น แพ้อาหาร สารย้อมสี วัตถุกันเสียหรือสัตว์อื่นๆ

ข้อกำหนดในการใช้อาหารเสริม ไม่เคร่งครัดเท่ากับข้อกำหนดในการใช้ยา จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อระบุความปลอดภัยของสารนี้ ข้อดีของการใช้อาหารเสริมต้องมีมากกว่าความเสี่ยงก่อนใช้ ปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ความปลอดภัยของ วิตามินอี

วิตามินอีปลอดภัยสำหรับคนที่มีสุขภาพดีส่วนใหญ่ เมื่อรับประทานหรือทาลงบนผิว คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลข้างเคียงใด ๆ เมื่อรับประทานรายวันในขนาดยาที่แนะนำ คือ 15 มิลลิกรัม

วิตามินอีอาจไม่ปลอดภัย หากได้รับในขนาดที่สูง ถ้าคุณเป็นโรค เช่น โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน อย่าใช้ขนาดยา 400 IU ต่อวัน หรือมากกว่านั้น การวิจัยบางงานชี้ให้เห็นว่า ขนาดยาที่สูงขึ้นอาจเพิ่มโอกาสที่จะเสียชีวิต และทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ยิ่งมีขนาดยาที่มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่รุนแรงเท่านั้น

มีความกังวลบางอย่าง ที่วิตามินอีอาจเพิ่มโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองร้ายแรง ที่เรียกว่า “เลือดคั่งในสมอง’ ซึ่งเป็นอาการที่เลือดออกแล้วไหลเข้าไปในสมอง งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่า การรับประทานวิตามินอีในขนาดยา 300-800 IU ในแต่ละวัน อาจเพิ่มโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 22 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม วิตามินอีอาจลดโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่รุนแรงน้อยกว่า ซึ่งเรียกว่า ภาวะสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke)’

มีข้อมูลที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับฤทธิ์ของวิตามินอี ต่อโอกาสที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก งานวิจัยบางงานแสดงให้เห็นว่า การใช้วิตามินรวมในปริมาณมาก รวมทั้งการรับประทานอาหารเสริมวิตามินอีต่างหาก อาจเพิ่มโอกาสที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายบางคน

ข้อควรระวังและคำเตือนพิเศษ

การตั้งครรภ์

สตรีมีครรภ์ที่ใช้ปริมาณวิตามินอีรายวัน วิตามินอีอาจจะปลอดภัยต่อสตรีมีครรภ์ มีความกังวลว่า การใช้วิตามินอีเสริมอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ถ้ากินในช่วงเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกินไปที่จะทราบว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ที่ควรกังวลหรือไม่ จนกว่าจะมีข้อมูลสนับสนุนมากขึ้น อย่ารับประทานอาหารเสริมวิตามินอีในช่วงตั้งครรภ์ โดยไม่ปรึกษาผู้ให้บริการด้านการแพทย์ก่อน

การให้นมบุตร

วิตามินอีมีความปลอดภัย เมื่อรับประทานในปริมาณที่แนะนำระหว่างการให้นมบุตร

ทารกและเด็ก

วิตามินอีมีความปลอดภัยเมื่อรับประทานอย่างเหมาะสม ปริมาณวิตามินอีสูงสุด ที่ถือว่าปลอดภัยสำหรับเด็ก ขึ้นอยู่กับอายุ

  • ปริมาณวิตามินอีน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นปริมาณที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอายุ 1-3 ปี
  • ปริมาณวิตามินอี น้อยกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นปริมาณที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอายุ 4-8 ขวบ
  • ปริมาณวิตามินอีน้อยกว่า 600 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นปริมาณที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอายุ 9-13 ปี
  • น้อยกว่า 800 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นปริมาณที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอายุ 14-18 ปี
  • วิตามินอี (อัลฟา-โทโคฟีรอล) อาจไม่ปลอดภัยเมื่อให้ทางหลอดเลือดดำ (IV) แก่ทารกที่คลอดก่อนกำหนดในขนาดยาที่สูง

การขยายหลอดเลือดหัวใจ

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมที่มีวิตามินอี หรือวิตามินสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ (เบตาแคโรทีน วิตามินซี) ทันทีก่อนและหลังการขยายหลอดเลือดหัวใจ โดยไม่ได้รับการดูแลจากผู้ให้บริการด้านการแพทย์ วิตามินเหล่านี้ดูเหมือนจะขัดขวางการรักษาที่เหมาะสม

โรคเบาหวาน

วิตามินอีอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการรับประทานวิตามินอีในปริมาณมาก

หัวใจวาย

วิตามินอีอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ในคนที่เป็นโรคหัวใจวาย คนที่เป็นโรคหัวใจวายควรหลีกเลี่ยงการรับประทานวิตามินอีในปริมาณมาก

ระดับวิตามินเคในร่างกายต่ำ (การขาดวิตามินเค)

วิตามินอีอาจทำให้เกิดปัญหาในการแข็งตัวของลิ่มเลือดในคนที่มีระดับวิตามินเคต่ำเกินไป

โรคตาเรียกว่าจอตามีสารสี

ออลแรคอัลฟ่าโทโคฟีรอล (All-rac-alpha-tocopherol) หรือวิตามินอีสังเคราะห์ 400 IU อาจจะช่วยเร่งการมองไม่เห็นในคนที่มีเป็นโรคจอตามีสารสี (Retinitis Pigmentosa) อย่างไรก็ตามปริมาณที่ต่ำกว่าอย่าง 3 หน่วยดูเหมือนจะไม่ออกฤทธิ์ หากคุณเป็นโรคนี้ควรหลีกเลี่ยงวิตามินอี

ความผิดปกติของการมีเลือดออก

วิตามินอีอาจทำให้ความผิดปกติของการเลือดออกรุนแรงขึ้น หากคุณมีโรคเกี่ยวกับเลือดออกควรหลีกเลี่ยงการรับประทานวิตามินอี

มะเร็งที่ศีรษะและลำคอ

อย่ารับประทานวิตามินอีในปริมาณ 400 IU ต่อวันหรือมากกว่า วิตามินอีอาจเพิ่มโอกาสที่จะกลับมาเป็นมะเร็ง

มะเร็งต่อมลูกหมาก

มีความกังวลว่า การใช้วิตามินอีอาจเพิ่มโอกาสที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับฤทธิ์ของวิตามินอี ในผู้ชายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎี การใช้วิตามินอีเสริมอาจทำให้มะเร็งต่อมลูกหมากแย่ลง

โรคหลอดเลือดสมอง

วิตามินอีอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ในคนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง คนที่มีประวัติโรคหลอดเลือดสมอง ควรหลีกเลี่ยงวิตามินอีในปริมาณมาก

การผ่าตัด

วิตามินอีอาจเพิ่มความเสี่ยงที่เลือดจะออกระหว่าง และหลังการผ่าตัด หยุดใช้วิตามินอีอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้วิตามินอี

วิตามินอีในขนาดยาสูงอาจทำให้คลื่นไส้ ท้องเสีย ตะคริวที่ท้อง เหนื่อยล้า อ่อนแรง ปวดศีรษะ เห็นภาพไม่ชัด เป็นผื่น เกิดรอยช้ำ หรือเลือดออก

ไม่ใช่ทุกคนที่จะแสดงอาการอันเนื่องมาจากผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจมีผลข้างเคียงอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากคุณมีความกังวลเรื่องผลข้างเคียง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยาของ วิตามินอี

วิตามินอีอาจทำปฏิกิริยากับยาหรือโรคของคุณ ปรึกษากับแพทย์ก่อนใช้วิตามินอี

ยาที่อาจมีผลต่อวิตามินอี ได้แก่

  • ยาไซโคลสปอรีน (Cyclosporine) อย่างเช่น ยานีโอรัล (Neoral) ยาซานดิมมูน (Sandimmune)

การใช้วิตามินอีในปริมาณมาก ควบคู่ไปกับยาไซโคลสปอรีน (ยานีโอรัลและยาซานดิมมูน) อาจเพิ่มปริมาณยาไซโคลสปอรีน (ยานีโอรัลและยาซานดิมมูน) ที่ร่างกายดูดซึม โดยการเพิ่มปริมาณยาไซโคลสปอรีนที่ร่างกายดูดซึม วิตามินอีอาจเพิ่มฤทธิ๋และผลข้างเคียงของยาไซโคลสปอรีน (ยานีโอรัลและยาซานดิมมูน)

  • ยาที่เปลี่ยนฤทธิ์ผ่านทางตับ

ยาบางตัวจะเปลี่ยนแปลงและถูกทำลายโดยตับ วิตามินอีอาจเพิ่มความไวในการสลายยาบางชนิดของตับ การรับประทานวิตามินอีพร้อมด้วยยาบางอย่างที่ทำลายได้โดยตับสามารถลดฤทธิ์ของยาได้ ก่อนที่คุณจะใช้วิตามินอี ปรึกษาผู้ให้บริการด้านการแพทย์ของคุณ หากคุณกำลังใช้ยาที่เปลี่ยนฤทธิ์โดยตับ ยาบางชนิดที่เปลี่ยนฤทธิ์โดยตับรวมถึงยาโลวาสแตติน (lovastatin) อย่างเช่น ยาเมวาคอร์ (Mevacor) ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) อย่างเช่นยาไนซอรัล (Nizoral) ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) อย่างเช่นยาสปอราน็อกซ์ (Sporanox) ยาฟีโซฟีนาดีน (Fexofenadine) อย่างเช่น ยาอัลเลกรา (Allegra) ยาไทรอาโซแลม (Triazolam) อย่างเช่น ยาฮัลซิออน (Halcion) และอื่นๆ

  • ยารักษาโรคมะเร็ง (เคมีบำบัด)

วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีความกังวลบางอย่างว่า สารต้านอนุมูลอิสระอาจลดประสิทธิภาพของยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง แต่ยังเร็วเกินไปที่จะทราบว่ามีปฏิกิริยาเช่นนี้เกิดขึ้นหรือไม่

  • ยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้ช้าลง (Anticoagulant / Antiplatelet drugs)

วิตามินอีอาจทำให้เลือดแข็งตัวได้ การรับประทานวิตามินอีร่วมกับยาที่ทำให้การแข็งตัวของเลือดช้าลง อาจเพิ่มโอกาสที่ผิวจะเกิดรอยฟกช้ำและเลือดออก ยาบางชนิดที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้ช้าลง ได้แก่ ยาแอสไพริน ยาคลอพิดอกเรล (Clopidogrel) อย่างเช่นพลาวิกซ์ (Plavix) ยาไดโคลเฟแนค (diclofenac) อย่างเช่น โวลทาเรน (Voltaren) ยาคาตาแฟลม (Cataflam) และอื่น ๆ ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อย่างเช่น แอดวิล (Advil) มอร์ทริน (Motrin) และอื่น ๆ ยานาพรอกเซน (Naproxen) อย่างเช่น อะนาพรอก (Anaprox) นาโพรซิน (Naprosyn) และอื่น ๆ ยาดัลเตพาริน (Dalteparin) อย่างเช่น แฟรกมิน (Fragmin) ยาอีน็อกซาพาริน (Enoxaparin) อย่างเช่น โลเวน็อกซ์ (Lovenox) ยาเฮพาริน (Heparin) ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) อย่างเช่น คูมาดิน® (Coumadin®) และอื่นๆ

  • ยาที่ใช้ในลดคอเลสเตอรอลหรือยาสแตติน (Statins)

การรับประทานวิตามินอี เบตาแคโรทีน วิตามินซี และซีลีเนียมร่วมกัน อาจลดประสิทธิภาพของยาบางชนิดที่ใช้ลดคอเลสเตอรอล ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าการรับประทานวิตามินอีอย่างเดียว สามารถลดประสิทธิภาพของยาบางชนิดที่ใช้ในการลดคอเลสเตอรอลหรือไม่ ยาบางชนิดที่ใช้ในการลดคอเลสเตอรอล ได้แก่ ยาอะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) อย่างเช่น ลิพิเตอร์ (Lipitor) ยาฟลูวาสแตติน (Fluvastatin) อย่างเช่นเลสคอล (Lescol) ยาโลวาสแตติน (Lovastatin) อย่างเช่น มวาคอร์ (Mevacor) และยาพราวาสแตติน (Pravastatin) อย่างเช่น พราวาชอล (Pravachol)

การรับประทานวิตามินอีควบคู่ไปกับเบตาแคโรทีน วิตามินซีและซีลีเนียม อาจลดผลที่เป็นประโยชน์ของไนอะซิน ไนอะซินสามารถเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีได้ การรับประทานวิตามินอีร่วมกับวิตามินอื่นๆ อาจลดคอเลสเตอรอลชนิดดีในร่างกาย

ยาวาร์ฟาริน (คูมาดิน®) ใช้ชะลอการแข็งตัวของเลือด วิตามินอียังช่วยชะลอการแข็งตัวของเลือด การรับประทานวิตามินอีพร้อมกับยาวาร์ฟาริน (คูมาดิน®) อาจเพิ่มโอกาสที่จะเกิดรอยช้ำและเลือดออก มั่นใจว่าคุณได้ตรวจเลือดเป็นประจำ และอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนาดยาวาร์ฟาริน

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยานี้

ขนาดยาวิตามินอี

ขนาดยาต่อไปนี้ได้รับการศึกษาในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

การรับประทาน

  • รักษาอาการขาดวิตามินอี ขนาดยาทั่วไปในผู้ใหญ่คือสารอัลฟ่าโทโคฟีรอลชนิดอาร์อาร์อาร์ (วิตามินอีธรรมชาติ) 60-75 IU ต่อวัน
  • รักษาความผิดปกติของการเคลื่อนไหวที่เรียกว่าการเคลื่อนไหวช้าผิดปกติ (Tardive Dyskinesia) สารอัลฟ่าโทโคฟีรอลชนิดอาร์อาร์อาร์ (วิตามินอีธรรมชาติ) 1600 IU ต่อวัน
  • เพิ่มสมรรถภาพของเพศชาย: วิตามินอี 200-600 IU ต่อวัน
  • รักษาโรคอัลไซเมอร์ ไม่เกิน 2000 IU ต่อวัน การรักษาด้วยวิตามินอีร่วมกับยาโดเนเพซิล (Donepezil) เช่นอะริเซปต์ (Aricept) 5 มิลลิกรัมและวิตามินอี 1000 IU ต่อวัน เพื่อชะลออาการความจำเสื่อมในคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์
  • รักษาโรคตับ ที่เรียกว่าโรคตับอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ 800 หน่วยต่อวันในผู้ใหญ่ 400-1,200 IU ต่อวันในเด็ก
  • รักษาโรคฮันติงตันระยะเริ่มต้น ​สารอัลฟ่าโทโคฟีรอลชนิดอาร์อาร์อาร์ (วิตามินอีธรรมชาติ) 3000 IU
  • รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ วิตามินอี 600 IU วันละ 2 ครั้ง
  • ป้องกันความเสียหายของเส้นประสาทที่เกิดจากยาซิสพลาติน (Cisplatin) วิตามินอี (สารอัลฟ่าโทโคฟีรอล) 300 มิลลิกรัมต่อวัน โดยรักษาด้วยยาเคมีบำบัดในแต่ละครั้ง และนานไม่เกิน 3 เดือนหลังจากหยุดใช้ยาซิสพลาติน
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพของไนเตรตที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจ วิตามินอี 200 มิลลิกรัมสามครั้งต่อวัน
  • ลดโปรตีนในปัสสาวะของเด็กที่เป็นโรคไตเรียกว่าโรคไตจากเบาหวานบางส่วน (segmental glomerulosclerosis) วิตามินอี 200 IU
  • รักษาภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD) วิตามินอี 800 IU ต่อวัน
  • รักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) สารอัลฟ่าโทโคฟีรอลชนิดอาร์อาร์อาร์ (วิตามินอีธรรมชาติ) 400 IU
  • รักษาอาการปวดประจำเดือน วิตามินอี 200 IU 2 ครั้ง หรือ 500 IU ทุกวัน เริ่มใช้วิตามินอี 2 วันก่อนที่จะมีประจำเดือน และใช้อย่างต่อเนื่องในช่วง 3 วันแรกที่เป็นประจำเดือน
  • รักษาดวงตาหลังการผ่าตัด ที่เรียกว่า “การใช้เลเซอร์เพื่อรักษาสายตาสั้น (Keratectomy)’ วิตามินอีหรือยาไนโคติเนทชนิดอัลฟ่าโทโคฟีริล (Alpha-tocopheryl Nicotinate) 230 มิลลิกรัม และวิตามินเอหรือสารเรตินอลพัลมิเทท (Retinol Palmitate) มีการใช้ยา 25,000 IU วันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 30 วัน จากนั้น จึงใช้ยาวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 2 เดือน
  • รักษาพังผืดที่เกิดจากรังสี วิตามินอี 1000 IU ต่อวันร่วมกับยาเพนท็อกซิฟิลลีน (Pentoxifylline) 800 มิลลิกรัม
  • รักษาโรคธาลัสซีเมียชนิดเบต้า วิตามินอี 750 IUต่อวัน
  • ป้องกันผิวไหม้ สารอัลฟ่าโทโคฟีรอลชนิดอาร์อาร์อาร์ (วิตามินอีธรรมชาติ) 750 IUร่วมกับวิตามินซี 2 กรัม
  • ป้องกันความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์ (Pre-eclampsia) ในสตรีที่มีความเสี่ยงสูง วิตามินอี 400 IU ร่วมกับวิตามินซี 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน

เพื่อประโยชน์สูงสุด คุณควรรับประทานวิตามินอีสังเคราะห์ (ออลแรคอัลฟ่าโทโคฟีรอล) พร้อมกับอาหาร

ขนาดยาวิตามินอีอาจทำให้เกิดความสับสน คำแนะนำในปัจจุบันแสดงให้เห็นถึงปริมาณที่แนะนำในแต่ละวัน (RDA) และปริมาณสูงสุดที่ร่างกายสามารถรับได้ (UCL) สำหรับวิตามินอีหน่วยจะเป็นมิลลิกรัม อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะมีข้อความกำกับโดยใช้หน่วย IU

ขนาดยาวิตามินอีอาจแตกต่างกันไปตามผู้ป่วยแต่ละราย ปริมาณที่ใช้ขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพ และโรคอื่น ๆ อาหารเสริมไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป โปรดปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับคุณ

รูปแบบของยา

วิตามินอี สามารถพบได้จากแหล่งดังต่อไปนี้

  • พบในอาหารตามธรรมชาติ
  • แคปซูล (Softgel)
  • แคปซูล

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vitamin E https://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-954-VITAMIN+E.aspx Accessed January 16, 2018

Vitamin E. https://www.drugs.com/vitamin_e.html  Accessed January 16, 2018

Vitamin E. https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminE-HealthProfessional/.Accessed January 16, 2018

 

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/03/2021

เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารเสริม เบาหวาน ที่อาจช่วยให้ควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น

เพิ่มวิตามินอี ให้ร่างกายง่าย ๆ ด้วยอาหารใกล้ตัวที่มีวิตามินอีสูง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์ โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group · เขียน โดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไข 26/03/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา