backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

เซฟดิโตเรน (Cefditoren)

ข้อบ่งใช้

ยาเซฟดิโตเรนใช้สำหรับ

ยาเซฟดิโตเรน (Cefditoren) มักใช้เพื่อรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียต่างๆ เซฟดิโตเรน (Cefditoren) ยานี้อยู่ในกลุ่มของ ยาปฏิชีวนะเซฟาโลสปอริน (cephalosporin antibiotics) เซฟดิโตเรน (Cefditoren) ทำงานโดยการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย

เซฟดิโตเรน (Cefditoren) ยานี้เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่ได้ผลกับการติดเชื้อไวรัส (เช่น โรคหวัด หรือไข้หวัดใหญ่) การใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อไม่จำเป็นอาจทำให้ยานั้นไม่ได้ผลกับการติดเชื้อในอนาคต

วิธีการใช้ยาเซฟดิโตเรน

รับประทานยาตามที่แพทย์กำหนด โดยปกติแล้วคือวันละ 2 ครั้ง ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์ และการตอบสนองต่อการรักษา

เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด ควรใช้ยาปฏิชีวนะนี้โดยเว้นระยะห่างที่เท่ากัน เพื่อให้ง่ายต่อการจำ ควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน

ใช้ยาอย่างต่อเนื่องจนครบตามจำนวนที่แพทย์สั่ง แม้ว่าอาการอาจจะหายไปหลังจากผ่านไปไม่กี่วัน การหยุดใช้ยาเร็วเกินไป อาจทำให้กลับมาติดเชื้อใหม่อีกครั้ง

ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้เป็นเวลานาน (มากกว่าหลายเดือน) เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการของคุณไม่หายไปหรือแย่ลง

การเก็บรักษายาเซฟดิโตเรน

ยาเซฟดิโตเรนควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงและความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเสื่อมสภาพ ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือตู้เย็น ยาเซฟดิโตเรนบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัยโปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาเซฟดิโตเรนลงในชักโครก หรือในท่อระบายน้ำ เว้นเสียแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง เมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา

ก่อนใช้ยาเซฟดิโตเรน แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากคุณแพ้ยานี้ หรือแพ้ยาปฏิชีวนะตัวอื่น เช่น เพนิซิลลิน (penicillins) หรือยาเซฟาโลสปอรินอื่นๆ หรือหากคุณมีการแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีส่วนประกอบที่ไม่สำคัญ (เช่น โปรตีนนม) ที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่นๆ ได้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดสอบถามกับเภสัชกร

ก่อนใช้ยานี้แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ เกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะ โรคไต ความผิดปกติของระบบเผาผลาญบางชนิด เช่น ภาวะขาดคาร์นิทีน (carnitine deficiency) มวลกล้ามเนื้อลดลง โรคกระเพาะอาหาร/ลำไส้ เช่น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (Colitis)

ยาเซฟดิโตเรนอาจทำให้วัคซีนจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเชื้อเป็น (เช่น วัคซีนไทรอยด์) ทำงานได้ไม่ดี ห้ามกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (immunizations) หรือรับวัคซีนขณะที่กำลังใช้ยานี้เว้นแต่แพทย์สั่ง

ก่อนการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่คุณกำลังใช้ (ทั้งยาตามใบสั่ง ยาที่หาซื้อได้เอง และสมุนไพร)

ขณะการตั้งครรภ์ควรใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น โปรดปรึกษาความเสี่ยงและประโยชน์กับแพทย์

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้สามารถส่งผ่านน้ำนมแม่ได้หรือไม่ โปรดปรึกษากับแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้ ยาเซฟดิโตเรนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด B โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาเซฟดิโตเรน

อาจเกิดอาการท้องร่วง ปวดศีรษะ คลื่นไส้และอาเจียน หากอาการเหล่านี้ไม่ยอมหายไปหรือแย่ลงโปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที

โปรดจำไว้ว่า การที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้ เนื่องจากพิจารณาแล้วว่ายามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงจากผลข้างเคียง และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ

แจ้งให้แพทย์ทราบในทันที หากคุณมีผลข้างเคียงที่รุนแรง ได้แก่ มีเลือดออกหรือรอยช้ำได้ง่าย เหนื่อยล้าผิดปกติ มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจและอารมณ์ (เช่น สับสน) ชัก มีสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับไต (เช่น ปริมาณของปัสสาวะเปลี่ยนแปลง) มีสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับตับ (เช่น คลื่นไส้อาเจียนไม่หยุด เบื่ออาหาร ปวดท้อง/กระเพาะ ดวงตาและผิวเป็นสีเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม) สัญญาณของการติดเชื้อครั้งใหม่ (เช่น เจ็บคอไม่ยอมหาย เป็นไข้ หนาวสั่น) ข้อเท้า/เท้าบวม น้ำหนักเพิ่มเฉียบพลันหาสาเหตุไม่ได้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระหายน้ำมากขึ้น ปัสสาวะมากขึ้น มีสัญญาณของน้ำตาลในเลือดต่ำ (เช่น เหงื่อออก สั่นเทา หัวใจเต้นเร็ว หิว มองเห็นไม่ชัด วิงเวียน เป็นเหน็บที่มือและขาฉับพลัน)

น้อยครั้งมากที่ยานี้อาจทำให้เกิดสภาวะของลำไส้ที่รุนแรง เช่น อาการท้องร่วงที่เกี่ยวข้องกับเชื้อคลอสไทรเดียมดิฟิซายล์ (Clostridium difficile) เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยา อาการนี้อาจเกิดขึ้นระหว่างการรักษา หรือหลังจากหยุดการรักษาหลายสัปดาห์จนถึงเดือน แจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากคุณมีอาการ ได้แก่ ท้องร่วงไม่หยุด ปวดที่ท้องหรือกระเพาะ มีเลือดหรือมูกในอุจจาระ

อย่าใช้ยาแก้ท้องร่วง หรือยาแก้ปวดชนิดเสพติด (narcotic pain medications) หากคุณมีอาการเหล่านี้ เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้

การใช้ยานี้เป็นเวลานานหรือใช้ซ้ำๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อรา หรือยีสต์ชนิดใหม่ในช่องปาก แจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณสังเกตเห็นรอยคราบสีขาวภายในปาก มีการเปลี่ยนแปลงของสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศ หรืออาการใหม่อื่นๆ

อาการแพ้ที่รุนแรงของยานี้เกิดขึ้นน้อยมาก แต่ควรรับการรักษาในทันทีหากเกิดอาการแพ้ที่รุนแรง ได้แก่ ผดผื่น คัน/บวม (โดยเฉพาะใบหน้า ลิ้น ลำคอ) เวียนหัวอย่างรุนแรง หายใจติดขัด

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ ได้แก่ ยาที่ลดปริมาณของกรดในกระเพาะอาหาร เช่น ยาลดกรด (antacids) เอช 2 บล็อกเกอร์ (H2 blockers) เช่น แรนิทิดีน (ranitidine)

แม้ว่ายาปฏิชีวนะส่วนใหญ่จะไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อการคุมกำเนิดโดยการใช้ฮอร์โมน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด แผ่นคุมกำเนิด หรือห่วงคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะบางตัว เช่น ไรแฟมพิน (rifampin) ไรฟาบูทิน (rifabutin) สามารถลดประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ หากคุณกำลังใช้การคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ยานี้อาจส่งผลกระทบกับผลการตรวจสอบในห้องแล็บบางอย่าง เช่น การทดสอบคุมบ์ (Coombs’ test) หรือการตรวจสอบระดับน้ำตาลในปัสสาวะบางอย่าง ซึ่งอาจทำให้ผลการตรวจเป็นเท็จได้ อย่าลืมแจ้งบุคคลากรทางแล็บและแพทย์ทั้งหมดให้ทราบว่า คุณกำลังใช้ยานี้อยู่

ยาเซฟดิโตเรนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยา โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาเซฟดิโตเรนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาเซฟดิโตเรนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาเซฟดิโตเรนสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)

  • โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่กำเริบเฉียบพลัน : 400 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาปอดบวม (Pneumonia)

  • ติดเชื้อจากชุมชน : 400 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 14 วัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)/คออักเสบ (Pharyngitis)

  • 200 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน

  • ไม่ซับซ้อน : 200 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน

การปรับขนาดยาสำหรับไต

  • ค่าครีอะตินีนเคลียรานซ์ (CrCl) 30 ถึง 49 มล/นาที : ไม่ควรเกิน 200 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง
  • ค่าครีอะตินีนเคลียรานซ์ (CrCl) ต่ำกว่า 30 มล/นาที : 200 มก. รับประทานวันละครั้ง
  • โรคไตระยะสุดท้าย : ไม่มีข้อมูล

การปรับขนาดยาสำหรับตับ

  • ความบกพร่องของตับระดับไม่รุนแรงถึงปานกลาง ค่าไชด์พิว (Child-Pugh) กลุ่มเอหรือบี : ไม่มีคำแนะนำการปรับขนาดยา
  • ความบกพร่องของตับระดับรุนแรง ค่าไชด์พิว (Child-Pugh) กลุ่มซี : ไม่มีข้อมูล

ข้อควรระวัง

  • ห้ามใช้ยาเซฟดิโตเรนสำหรับผู้ป่วยภาวะขาดคาร์นิทีน หรือมีความผิดปกติของระบบเผาผลาญ ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดคาร์นิทีนอย่างมีนัยสำคัญทางการแพทย์ เนื่องจากยานี้สามารถทำให้ไตขับคาร์นิทีนออกไปได้
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาเซฟดิโตเรนในระยะยาวเนื่องจากสารประกอบที่มีสารไพวาเลตอื่นๆ (pivalate) นั้น ทำให้เกิดภาวะขาดคาร์นิทีนที่รุนแรงเมื่อใช้ในเวลานานหลายเดือน การใช้ยาเซฟดิโตเรนในช่วงเวลาสั้นนั้นยังไม่มีความเกี่ยวข้องการการลดระดับของคาร์นิทีน
  • ไม่ควรใช้ยาเซฟดิโตเรนกับผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิไวเกินต่อการกระตุ้นจากโปรตีนนม (ไม่ใช่การแพ้น้ำตาลแลคโทส) เนื่องจากยาเม็ดนี้มีส่วนประกอบของโซเดียมเคซีเนต (sodium caseinate) ซึ่งเป็นโปรตีนนม
  • ก่อนเริ่มใช้ยาเซฟดิโตเรน ควรมีการตรวจสอบว่า ผู้ป่วยนั้นมีภาวะภูมิไวเกิน (hypersensitivity) ต่อยาในกลุ่มเซฟาโลสปอริน ยาเพนิซิลลิน หรือยาอื่นๆ หรือไม่ การใช้ยาเซฟดิโตเรนกับผู้ป่วยที่มีภูมิไวต่อยาเพนิซิลินนั้น ควรทำด้วยความระมัดระวัง หากเกิดอาการแพ้ต่อยาเซฟดิโตเรนเกิดขึ้น รวมทั้งปฎิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis) ควรหยุดใช้ยาในทันที ภาวะภูมิไวเกินฉับพลันที่รุนแรงนั้น อาจต้องการการรักษาด้วยยาเอพิเนฟรีน (Epinephrine) และมาตการการช่วยชีวิต รวมทั้งการให้ออกซิเจน ให้ของเหลวทางหลอดเลือดดำ ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ประคับประคองระบบหัวใจและหลอดเลือดและการจัดการทางเดินหายใจตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
  • ยาปฏิชีวนะเกือบทั้งหมด มีรายงานเกี่ยวกับอาการท้องร่วงที่เกี่ยวข้องกับเชื้อคลอสไทรเดียมดิฟิซายล์ และมีโอกาสที่จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น จึงมีความสำคัญในการพิจารณาการวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยที่มีอาการท้องร่วง หลังจากใช้ยาในกลุ่มเซฟาโลสปอริน ในกรณีที่ไม่รุนแรงมักจะมีอาการดีขึ้นหลังจากหยุดใช้ยา ส่วนในกรณีรุนแรงอาจต้องมีการรักษาและการบำบัดที่ช่วยสนับสนุนการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ (antimicrobial agent) ที่ส่งผลต่อต้านเชื้อคลอสไทรเดียมดิฟิซายล์ เชื้อคลอสไทรเดียมดิฟิซายล์ที่เป็นพิษมากเกินไป (Hypertoxin) นั้น สามารถทำให้เพิ่มความเจ็บป่วยและการเสียชีวิต การติดเชื้อเหล่านี้อาจจะดื้อต่อการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพและอาจจำเป็นต้องมีการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ออก (Colectomy)
  • ยาในกลุ่มเซฟาโลสปอริน อาจเกี่ยวข้องกับการลดลงของการทำงานของโปรทรอมบิน (Prothrombin) ปัจจัยเสี่ยงนั้นมีทั้งความบกพร่องของไตหรือตับ ภาวะโภชนาการแย่ การรักษาด้วยยาต้านจุลชีพที่ยืดเยื้อ และการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่เรื้อรัง ควรมีการเฝ้าสังเกตค่าเวลาโปรทรอมบิน (Prothrombin times) และเริ่มต้นการรักษาด้วยวิตามินเคหากมีข้อบ่งชี้
  • ยาในกลุ่มเซฟาโลสปอรินหลายชนิดนั้น มีความเกี่ยวข้องกับอาการชัก โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาในขนาดสูงอย่างไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีภาวะไตบกพร่อง ควรหยุดใช้ยาหากมีอาการชักเกิดขึ้น ควรมีการเฝ้าสังเกตการทำงานของไต โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
  • การติดเชื้อแทรกซ้อน (Superinfection) ด้วยเชื้อที่ไม่ไวต่อยากลุ่มนี้ เช่น ยีสต์ อาจเกิดขึ้นได้หากรักษาด้วยยาในกลุ่มเซฟาโลสปอรินในระยะยาว ควรมีมาตรการที่เหมาะสมหากมีการติดเชื้อแทรกซ้อนเกิดขึ้น
  • ควรระมัดระวังการใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติการเป็นลำไส้อักเสบหรือความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารอื่นๆ
  • ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของขนาดยานี้ สำหรับผู้ป่วยเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่แนะนำให้ใช้ยาเซฟดิโตเรนกับผู้ป่วยในกลุ่มนี้

การฟอกไต

  • ไม่มีข้อมูล
  • ประมาณ 30% ของยาเซฟดิโตเรนนั้นถูกกำจัดโดยการฟอกไต (hemodialysis) ที่ระยะเวลา 4 ชั่วโมง (4 hours duration) โดยไม่มีความเปลี่ยนแปลงต่อค่าครึ่งชีวิตตอนปลาย (terminal half-life)

คำแนะนำอื่นๆ

  • ควรรับประทานยาเซฟดิโตเรนพร้อมกับอาหาร เพื่อการดูดซึมที่ดีที่สุด
  • ไม่แนะนำการใช้ยาเซฟดิโตเรนร่วมกับยาที่ลดกรดในกระเพาะ (รวมทั้งยาลดกรด)
  • เพื่อลดโอกาสการเกิดเชื้อดื้อยา ยาปฏิชีวนะควรใช้เพื่อป้องกันหรือรักษาการติดเชื้อที่ได้รับการพิสูจน์หรือต้องสงสัยอย่างมากว่าเป็นเพราะเชื้อแบคทีเรีย ควรมีการพิจารณาการเพาะเชื้อ (Culture) และข้อมูลความไวของเชื้อเมื่อทำการเลือกการรักษา หากไม่มีข้อมูล อาจมีการพิจาณาระบาดวิทยาในท้องถิ่น และรูปแบบของความไวของเชื้อ เมื่อเลือกการรักษาแบบกว้างๆ (empiric therapy) ควรแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการลืมใช้ยา และรับประทานยาให้ครบถ้วน

ขนาดยาเซฟดิโตเรนสำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)

อายุ 12 ขึ้นไป

  • โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่กำเริบเฉียบพลัน : 400 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาปอดบวม (Pneumonia)

อายุ 12 ขึ้นไป

  • ติดเชื้อจากชุมชน : 400 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 14 วัน

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)/คออักเสบ (Pharyngitis)

อายุ 12 ปีขึ้นไป

  • 200 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังและโครงสร้างของผิว

อายุ 12 ขึ้นไป

  • ไม่ซับซ้อน : 200 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ด

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยา ควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cefditoren Pivoxil. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-22227/cefditoren-pivoxil-oral/details. Accessed January 1, 2018.

Cefditoren Dosage. https://www.drugs.com/dosage/cefditoren.html. Accessed January 1, 2018.

Cefditoren pivoxil: a review of its use in the treatment of bacterial infections. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15516158. Accessed September 19, 2019.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattavara Pasathan

avatar

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา