backup og meta

4 เหตุผล (น่ากลัว) ที่เราไม่ควรมี สัตว์เลี้ยง ในห้องนอน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    4 เหตุผล (น่ากลัว) ที่เราไม่ควรมี สัตว์เลี้ยง ในห้องนอน

    เจ้าตูบ เจ้าเหมียวชอบอ้อนขอมานอนด้วย ไม่รู้ว่าเพราะห้องนอนของเราเปิดแอร์เย็นฉ่ำหรือเปล่า เจ้าสัตว์เลี้ยงแสนน่ารักถึงอยากมานอนด้วยทุกคืน หลายคนมักจะมั่นใจว่าสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ของเรานั้นสะอาด เพราะอาบน้ำเช็ดตัวให้หอมฟุ้งทุกวัน แต่รู้หรือเปล่าว่าถึงแม้เจ้าสัตว์เลี้ยงพวกนี้จะสะอาด แต่การพา สัตว์เลี้ยง มานอนด้วยทุกคืนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของเราโดยไม่รู้ตัว

    1 สัตว์เลี้ยง รบกวนการนอนหลับ

    อาการตื่นนอนมาแล้วเพลีย หลับไม่เต็มอิ่ม หรือรู้สึกว่านอนไม่พอนั้นอาจเกิดจากการที่ถูกรบกวนขณะหลับ ซึ่งสิ่งรบกวนก็ไม่ใช่ใครที่ไหนเลย เป็นเจ้าตูบ เจ้าเหมียวของเรานั่นเอง เรื่องของสัตว์เลี้ยงรบกวนการนอนหลับนั้น มีงานวิจัยที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนไข้ 150 คน โดยสถาบัน Center for Sleep Medicine แห่งโรงพยาบาลเมโย คลินิก ในสหรัฐอเมริกา ผลการวิจัยพบว่า 49% มีสัตว์เลี้ยง และ 56% ของคนที่มีสัตว์เลี้ยงพาสัตว์เลี้ยงของพวกเขามานอนด้วยในห้องนอน ซึ่งผลการวิจัยชี้ว่าการมีสัตว์เลี้ยงในห้องนอน ทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในห้องนอน ซึ่งทำให้ส่งผลต่อการนอนหลับได้

    2 เห็บ หมัด สัตว์ตัวเล็ก

    น้องหมา น้องแมว มักจะพาเพื่อนติดตัวมาด้วย เช่น พวกพยาธิชนิดต่างๆ อย่างพยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ ซึ่งไข่ของพยาธิพวกนี้อาจจะติดอยู่ตามขนของสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้น้องหมาน้องแมวยังพาเห็บ หมัด เพื่อนซี้มาด้วย

    เห็บกับหมัดจะดูดเลือดสัตว์ ส่วนใหญ่คนจะเลี้ยงน้องหมาน้องแมวเป็นสัตว์เลี้ยง เวลาเราเจอเห็บหมัดจึงมักจะเจอในสุนัขกับแมวมากกว่าสัตว์ประเภทอื่น เช่น ลิง กระต่าย โรคติดต่อที่มี เห็บ หมัด เป็นพาหะนำโรคได้แก่โรคทูลารีเมีย (Tularemia) หรือโรคไข้กระต่าย ที่เป็นโรคติดต่อจากสัตว์ประเภทใช้ฟันแทะ แต่โชคดีที่โรคนี้ยังไม่พบในประเทศไทย มีเพียงรายงานผู้ต้องสงสัยว่าเข้าข่ายเป็นโรคไข้กระต่าย

    แต่ถึงแม้ว่าเห็บ หมัดจะไม่ได้ทำให้ติดโรค แต่การถูกเห็บหมัดกัด ก็จะรุนแรงมากกว่าการถูกยุงกัด ดังที่ ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า หมัดที่กัดคนจะทำให้เกิดอาการคันมาก มักเป็นที่บริเวณแขนขา คนที่โดนกัดมักจะเกา ทำให้เป็นตุ่มคันกระจายทั่วบริเวณแขนขา โดยอาการคันจากหมัดกัดจะรุนแรงกว่ายุงกัด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนเราถูกยุงกัดตั้งแต่เด็กและมีภูมิคุ้มกัน แต่พอโดนหมัดกัดจะมีปฏิกิริยามากกว่า ดังนั้น การพาน้องหมาน้องแมวมานอนด้วยนั้นเสี่ยงต่อการถูกเห็บ หมัดกัด จนเกิดอาการคันที่ผิวหนัง และอาจลุกลามได้

    3 ติดเชื้อแบคทีเรีย

    เวลาที่เจ้าของนอนหลับอย่างสบายใจ จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าน้องหมา น้องแมวของเรากำลังเลียเราอยู่หรือเปล่า ในปากของสัตว์เลี้ยงนั้นเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรีย ที่อาจพาโรคมาสู่เราโดยไม่รู้ตัว เช่น โรคกระเพาะ หรือจนถึงขั้นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เพราะมีงานวิจัยที่พบว่าแบคทีเรียที่อยู่ในกระเพาะของคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร สามารถติดต่อทางของเหลวได้ เช่น น้ำลาย

    นพ.ฉัตรชัย อิ่มอารมณ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลไว้ว่าการเลี้ยงสัตว์แบบมีการคลุกคลี มีพฤติกรรมเสี่ยงโรคมะเร็ง  โดยมีผลงานวิจัยเปิดเผยว่า สิ่งปฎิกูลของสัตว์หรือของเหลว เช่น น้ำลาย เลือด น้ำหนอง มีการแอบแฝงของเชื้อแบคทีเรีย แบคทีเรียตัวร้ายนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร 60%

    การไปคลุกคลี จูบปาก หอมกัน มีโอกาสที่จะทำให้เชื้อมาติดอยู่ที่คนได้ ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร หลังจากนั้นก็มีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งเหมือนกัน จึงสรุปว่า ไม่ได้ต่างกันกับเชื้อโรคที่เป็นโรคกระเพาะในคน แต่เปลี่ยนจากเชื้อที่อยู่ในคน มาอยู่ในสัตว์แทน เจ้าของจึงต้องระวังเชื้อแบคทีเรียจากปากของแมวและสุนัข เพราะอาจจะเป็นพาหะนำโรคทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้

    4 เสี่ยงปัญหาระบบทางเดินหายใจ

    ขนของสัตว์เลี้ยงมักจะมีสารก่อโรคภูมิแพ้อยู่ในนั้น เช่น ฝุ่น หรือแม้แต่ขนสัตว์เองก็เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ ซึ่งสารก่อภูมิแพ้ที่เกิดจากสัตว์เลี้ยงนั้นมีน้ำหนักเบาและเล็ก จะสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานกว่าสารก่อภูมิแพ้ที่มาจากแมลงสาบ หรือจากแหล่งอื่นๆ การพาสัตว์เลี้ยงมานอนที่ห้องนอน จึงเพิ่มโอกาสในการเป็นภูมิแพ้ คือสารก่อภูมิแพ้จะลอยอยู่ในอากาศอยู่นาน หรือติดตามโซฟา เตียงนอน พรมในห้องนอน ไม่นานก็จะทำให้เจ้าของห้องเกิดอาการภูมิแพ้ได้ หากทำความสะอาดห้องแล้ว แต่ยังมีอาการจามไม่หยุด รู้สึกแพ้อากาศ หรือมีอาการภูมิแพ้กำเริบ ก็ให้สงสัยไว้เลยว่า อาจจะเป็นเพราะน้องหมาน้องแมวที่นอนด้วยกันทุกคืน

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา