backup og meta

แพนโทพราโซล (Pantoprazole)

ข้อบ่งใช้ แพนโทพราโซล

แพนโทพราโซล ใช้สำหรับ

แพนโทพราโซล (Pantoprazole) เป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและหลอดอาหารบางชนิด เช่น กรดไหลย้อน (acid reflux) ยานี้ทำงานโดยการลดปริมาณการผลิตกรดภายในกระเพาะ ยานี้ช่วยบรรเทาอาการ เช่น แสบร้อนกลางอก กลืนลำบาก และไอเป็นประจำ ยานี้จะช่วยฟื้นฟูความเสียหายจากกรดที่บริเวณกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร ช่วยป้องกันแผล และยังอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งหลอดอาหารได้อีกด้วย ยาแพนโทพราโซลนั้นอยู่ในกลุ่มของยา PPI (proton pump inhibitors)

การใช้งานอื่นๆ ในส่วนนี้จะมีวิธีการใช้ยาที่ไม่ได้อยู่ในฉลากยาที่ได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญแห่งอเมริกา แต่ผู้เชี่ยวชาญการดูแลสุขภาพของคุณอาจจะสั่งให้ใช้ได้ หากผู้เชี่ยวชาญการดูแลสุขภาพของคุณสั่งให้คุณใช้ยานี้ ควรใช้ยานี้สำหรับสภาวะที่มีอยู่ในรายการนี้เท่านั้น

ยานี้ยังอาจใช้เพื่อรักษาและป้องกัน การเกิดแผลภายในกระเพาะอาหารและลำไส้

วิธีการใช้ยา แพนโทพราโซล

รับประทานยานี้ตามที่แพทย์กำหนด โดยปกติคือวันละครั้ง ขนาดยาและระยะเวลาในการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์และการตอบสนองต่อการรักษา

หากคุณใช้ยาเม็ด คุณสามารถรับประทานพร้อมกับอาหาร หรือรับประทานแยกต่างหาก ควรกลืนยาลงไปทั้งเม็ด อย่าแบ่ง บด หรือเคี้ยวเม็ดยา เพราะอาจทำลายยาได้

หากคุณใช้ยาเม็ดเล็กๆ ควรรับประทานยา 30 นาทีก่อนมื้ออาหาร สำหรับการรับประทานยา ควรแกะห่อยาแล้วผสมยาเม็ดๆ ลงในซอสแอปเปิ้ลหรือน้ำแอปเปิ้ล อย่าผสมยาลงไปในอาหารหรือน้ำอื่นๆ อย่าบดหรือเคี้ยวเม็ดยา โรยเม็ดยาลงบนซอสแอปเปิ้ล 1 ช้อนชา (5 มล.) แล้วกลืนส่วนผสมนั้นลงไปทันที (ภายใน 10 นาที) กลืนส่วนผสมนั้นลงไปพร้อมกับจิบน้ำ หรือคุณอาจจะผสมเม็ดยาลงในน้ำแอปเปิ้ล 1 ช้อนชา (5 มล.) ลงในแก้วคนผสมกัน 5 วินาที แล้วดื่มส่วนผสมนั้นทันที เพื่อให้แน่ใจว่าคุณได้รับยาทั้งหมด ควรล้างแก้วนั้นอีกหนึ่งหรือสองครั้งด้วยน้ำแอปเปิล เพื่อผสมเข้ากับยาที่อาจจะเหลืออยู่ในแก้ว แล้วดื่มน้ำนั้นลงไป อย่าเตรียมส่วนผสมไว้ล่วงหน้าเพื่อใช้ภายหลัง

หากคุณรับยาเม็ดลงผ่านทางท่อเข้าสู่กระเพาะอาหาร โดยใช้สายยางต่อเข้ากระเพาะอาหารผ่านทางจมูก (nasogastric tube) หรือสายยางต่อเข้ากระเพาะอาหาร (gastric tube) โปรดสอบภามผู้เชี่ยวชาญการดูแลสุขภาพ สำหรับข้อมูลวิธีการผสมยาอย่างถูกต้อง และการให้ยา

หากจำเป็นคุณอาจต้องใช้ยาลดกรดร่วมกับยานี้ หากคุณกำลังใช้ยาซูคราลเฟต (sucralfate) ควรใช้ยาแพนโทพราโซล 30 นาทีก่อนใช้ยาซูคราลเฟต

ใช้ยานี้เป็นประจำ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากยาสูงสุด เพื่อให้ง่ายต่อการจำควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องจนครบกำหนดการรักษา แม้ว่าคุณจะรู้สึกดีขึ้นแล้ว

การเก็บรักษายาแพนโทพราโซล

ยาแพนโทพราโซลควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาแพนโทพราโซลบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัย โปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาแพนโทพราโซลลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาแพนโทพราโซล

โรคภูมิแพ้

แจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณเคยมีอาการที่ผิดปกติ หรืออาการแพ้ต่อยานี้ นอกจากนี้ยังควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้อื่นๆ ที่คุณเป็น เช่น แพ้อาหาร สีย้อม สารกันบูด หรือสัตว์ สำหรับยาที่หาซื้อเองควรอ่านฉลากยา หรือส่วนประกอบของยาอย่างละเอียด

เด็ก

ยังไม่มีงานวิจัยที่เหมาะสม ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาการต่อผลของยาแพนโทพราโซลในผู้ป่วยเด็ก ยังไม่มีการพิสูจน์ความปลอดภัยและประสิทธิภาพ

ผู้สูงอายุ

ยังไม่มีงานวิจัยที่เหมาะสมในปัจจุบัน ที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะที่อาจจะจำกัดประสิทธิภาพในการใช้ยาแพนโทพราโซลในผู้สูงอายุ

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานข้อมูลที่เพียงพอ เกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้ยานี้ขณะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษากับแพทย์เสมอ เพื่อพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนใช้ยานี้

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาแพนโทพราโซล

รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินทันที หากคุณมีสัญญาณของอาการแพ้ ได้แก่ ลมพิษ หายใจติดขัด บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ

หยุดใช้ยาแพนโทพราโซล และติดต่อแพทย์ในทันที หากคุณมีอาการแมกนีเซียมต่ำดังนี้

  • หัวใจเต้นเร็วหรือไม่สม่ำเสมอ
  • กล้ามเนื้อกระตุก
  • รู้สึกกระวนกระวายใจ
  • ท้องร่วงไหลเป็นน้ำหรือเป็นเลือด
  • เป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือรู้สึกปวกเปียก
  • ไอหรือสำลัก
  • ปวดหัว รวบรวมสมาธิได้ยาก มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ อ่อนแรง เบื่ออาหาร รู้สึกไม่มั่นคง สับสน มองเห็นภาพหลอน หมดสติ ชัก หรือหายใจตื้น

ผลข้างเคียงที่รุนแรงน้อยกว่าอาจจะเกิดขึ้นได้มากกว่า เช่น

  • มีความเปลี่ยนแปลงทางน้ำหนัก
  • คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงระดับเบา
  • มีแก๊ส ปวดท้อง
  • วิงเวียน ง่วงซึม รู้สึกเหนื่อยล้า
  • ปวดข้อต่อ
  • นอนไม่หลับ

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ หรืออาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้กับยาดังต่อไปนี้ แพทย์อาจจะตัดสินใจไม่ใช้ยาในกลุ่มนี้เพื่อรักษาคุณ หรือเปลี่ยนยาบางตัวที่คุณกำลังใช้อยู่

  • ยาริลพิไวรีน (Rilpivirine)

โดยปกติแล้วไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้กับยาดังต่อไปนี้ แต่อาจจำเป็นในบางกรณี หากคุณได้รับใบสั่งยาทั้งคู่ร่วมกัน แพทย์อาจจะต้องเปลี่ยนขนาดยา หรือความถี่ในการใช้ยา ตัวหนึ่งหรือทั้งคู่

  • อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir)
  • โบซูทินิบ (Bosutinib)
  • ไซตาโลแพรม (Citalopram)
  • ดาบราเฟนิบ (Dabrafenib)
  • ดาซาทินิบ (Dasatinib)
  • เออร์โลทินิบ (Erlotinib)
  • เอสลิคาร์บาซีพีน แอซิเตด (Eslicarbazepine Acetate)
  • คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
  • เลดิพาสเวียร์ (Ledipasvir)
  • เมโทเทรเซต (Methotrexate)
  • ไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล (Mycophenolate Mofetil)
  • เนลฟินาเวียร์ (Nelfinavir)
  • นิโลทินิบ (Nilotinib)
  • พาโซพานิบ (Pazopanib)
  • ซาควินาเวียร์ (Saquinavir)
  • โทโปเทแคน (Topotecan)
  • วิสโมเดกิบ (Vismodegib)

การใช้ยานี้ร่วมกับยาดังต่อไปนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงบางอย่าง แต่การใช้ยาทั้งสองร่วมกัน อาจเป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคุณที่สุด หากคุณได้รับใบสั่งยาทั้งคู่ร่วมกัน แพทย์อาจจะต้องเปลี่ยนขนาดยา หรือความถี่ในการใช้ยา ตัวหนึ่งหรือทั้งคู่

  • แครนเบอร์รี่ (Cranberry)
  • เลโวไทรอกซีน (Levothyroxine)
  • วาฟาริน (Warfarin)

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาแพนโทพราโซลอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาแพนโทพราโซลอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะ

  • ท้องร่วง
  • เคยมีภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (Hypomagnesemia)
  • โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
  • เคยมีอาการชัก — ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะยาอาจทำให้อาการนี้รุนแรงขึ้นได้

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาแพนโทพราโซลสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคหลอดอาหารอักเสบแบบมีแผล (Erosive Esophagitis)

การรักษาโรคหลอดอาหารอักเสบแบบมีแผล

  • 40 มก. รับประทานวันละครั้งเป็นเวลาถึง 8 สัปดาห์ แต่อาจควรพิจารณาให้ยาเพิ่มอีก 8 สัปดาห์ สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้น หลังจากการรักษาแรกเริ่ม ยังไม่มีการพิสูจน์ความปลอดภัย และประสิทธิภาพสำหรับการรักษานานเกินกว่า 16 สัปดาห์

รักษาระดับการรักษาโรคหลอดอาหารอักเสบแบบมีแผล

  • 40 มก. รับประทานวันละครั้ง การศึกษาแบบควบคุมนั้นจำกัดการรักษาด้วยยาแพนโทพราโซลในระยะเวลา 12 เดือน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease)

  • การให้ยานอกเหนือจากการรับประทาน 40 มก. วันละครั้ง เป็นเวลา 7 ถึง 10 วัน ให้ยาโดยการหยอดยาเข้าทางหลอดเลือดดำนานกว่า 15 นาที ควรหยุดการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำทันที เมื่อผู้ป่วยสามารถกลับสู่การรักษาด้วยการรับประทานยาได้
  • รับประทาน 40 มก. รับประทานวันละครั้ง สำหรับการห้ยาในระยะสั้น (นานถึง 8 สัปดาห์) แต่อาจควรพิจารณาให้ยาเพิ่มอีก 8 สัปดาห์ สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้น หลังจากการรักษาแรกเริ่ม ยังไม่มีการพิสูจน์ความปลอดภัย และประสิทธิภาพสำหรับการรักษา นานเกินกว่า 16 สัปดาห์

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal Ulcer)

งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ = 54 คน)

  • 40 มก. รับประทานวันละครั้ง อาจเพิ่มขนาดยาทุก ๆ 12 สัปดาห์ในขนาด 40 มก. ไปจนถึงขนาดยาสูงสุดที่ 120 มก. ต่อวัน เป็นเวลา 28 สัปดาห์ ข้อมูลได้เปิดเผยว่า การรักษาด้วยยาชนิดเดียวในขนาดยาวันละ 40 มก. นั้น มีความเกี่ยวข้องกับการรักษาแผลในลำไส้เล็กส่วนต้นอย่างสมบูรณ์ ได้มากถึง 87% และ 94% ของผู้ป่วย หลังจากการรักษาเป็นเวลา 4 สัปดาห์ และ 8 สัปดาห์ตามอันดับ

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric Ulcer)

  • 40 มก. รับประทานวันละครั้ง ข้อมูลได้เปิดเผยว่าการรักษาด้วยยาชนิดเดียวในขนาดยาวันละ 40 มก. นั้นมีความเกี่ยวข้องกับการรักษาแผลในลำไส้เล็กส่วนต้นอย่างสมบูรณ์ มากถึง 87% และ 94% ของผู้ป่วย หลังจากการรักษาเป็นเวลา 4 สัปดาห์ และ 8 สัปดาห์ตามอันดับ

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori Infection)

Study (จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ = 242 คน) – การรักษาด้วยยาสามชนิด (Triple therapy)

  • 40 มก. รับประทานวันละสองครั้งเป็นเวลา 7 วัน มักจะใช้ร่วมกับยาคลาริโทรมัยซิน (clarithromycin) และยาอะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) หรือไม่ก็ยาเมโทรนิดาโซล (metronidazole) เพื่อกำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ตามด้วยยาแพนโทพราโซล 40 มก. รับประทานวันละครั้งจนถึงวันที่ 28 การรักษาด้วยยาสามชนิดนั้นมีผลในการกำจัดเชื้อในอัตราที่มากกว่า 95%

งานวิจัยการใช้ยาสี่ชนิด (The QUADRATE Study) (จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ = 405 คน) – การรักษาด้วยยาสี่ชนิด

  • 40 มก. รับประทานวันละสองครั้งเป็นเวลา 7 วัน มักจะใช้ร่วมกับยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต (bismuth subcitrate) และยาเตตราไซคลีน (tetracycline) ทั้งคู่วันละสี่ครั้ง และยาเมโทรนิดาโซล 200 มก. วันละสามครั้ง และ 400 มก. ก่อนนอน สามารถกำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรได้ถึง 82% ของผู้ป่วย

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษากลุ่มอาการโซลลิงเจอร์–เอลลิสัน (Zollinger-Ellison Syndrome)

  • การให้ยานอกเหนือจากการรับประทาน 80 มก. ทุกๆ 12 ชั่วโมง ให้ยาโดยการหยอดยาเข้าหลอดเลือดดำนานกว่า 15 นาที ยังไม่มีการศึกษาขนาดยาต่อวันที่สูงกว่า 240 มก. โดยแบ่งหยอดยาเข้าหลอดเลือดดำในขนาดที่เท่ากันนานกว่า 15 นาที หรือให้ยานานกว่า 6 วัน
  • รับประทาน 40 มก. รับประทานวันละครั้ง จนถึงขนาดยาสูงสุดที่ 240 มก. ต่อวัน ผู้ป่วยบางรายเคยมีการรักษาด้วยยาแพนโทพราโซลนานกว่า 2 ปี

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อป้องกันแผลจากความเครียด

งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ = 21 คน) – การป้องกันแผลจากความเครียดสำหรับการดูแลผู้ป่วยขั้นวิกฤติ

  • 80 มก. วันละสองครั้ง โดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างรวดเร็วนานกว่า 15 นาที จนถึงขนาดยาต่อวันสูงสุดที่ 240 มก. แบ่งฉีดสามครั้งในขนาดที่เท่ากัน

งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ = 20 คน) – การป้องกันแผลในกระเพาะอาหารไม่ให้เลือดกลับมาไหลอีกครั้งหลังจากห้ามเลือดแล้วสำหรับการดูแลผู้ป่วยขั้นวิกฤติ

  • 80 มก. ฉีดเข้าหลอดเลือดดำทันที ตามด้วยหยอดยาเข้าหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่องที่ขนาด 8 มก./ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วัน หลังจากนั้นอาจดำเนินการรักษาต่อด้วยการรับประทานในยากลุ่มยายับยั้งโปรตอนปั๊ม

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic Ulcer)

งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ = 21 คน ) – การป้องกันแผลจากความเครียดสำหรับการดูแลผู้ป่วยขั้นวิกฤติ

  • 80 มก. วันละสองครั้ง โดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างรวดเร็วนานกว่า 15 นาที จนถึงขนาดยาต่อวันสูงสุดที่ 240 มก. แบ่งฉีดสามครั้งในขนาดที่เท่ากัน

งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ = 20 คน) – การป้องกันแผลในกระเพาะอาหารไม่ให้เลือดกลับมาไหลอีกครั้งหลังจากห้ามเลือดแล้วสำหรับการดูแลผู้ป่วยขั้นวิกฤติ

  • 80 มก. ฉีดเข้าหลอดเลือดดำทันที ตามด้วยหยอดยาเข้าหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่องที่ขนาด 8 มก./ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วัน หลังจากนั้นอาจดำเนินการรักษาต่อด้วยการรับประทานในยากลุ่มยายับยั้งโปรตอนปั๊ม

ขนาดยาแพนโทพราโซลสำหรับเด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของขนาดยานี้สำหรับผู้ป่วยเด็ก ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจกับความปลอดภัยของยาก่อนการใช้ยา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อกับแพทย์หรือเภสัชกร

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ด 20 มก. 40 มก.

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pantoprazole. http://www.healthline.com/drugs/pantoprazole/oral-tablet. Accessed July 14, 2016.

Pantoprazole. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-17633/pantoprazole-oral/details. Accessed July 14, 2016.

Pantoprazole. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a601246.html. Accessed July 14, 2016.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ อาการ สาเหตุ และการรักษา

เปลี่ยนวิถีชีวิตง่ายๆ ป้องกันอาการกรดไหลย้อน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา