backup og meta

โฟรวาทริปแทน (Frovatriptan)

ข้อบ่งใช้

ยา โฟรวาทริปแทน ใช้สำหรับ

ยา โฟรวาทริปแทน (Frovatriptan) ใช้เพื่อรักษาโรคไมเกรน (migraines) ยานี้ช่วยในการบรรเทาอาการปวดหัว อาการปวด และอาการของโรคไมเกรนอื่นๆ ทั้งอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการแพ้แสงหรือเสียง การรักษาอย่างรวดเร็วช่วยให้คุณกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ และอาจช่วยลดความจำเป็นในการใช้ยาแก้ปวดอื่นๆได้

ยา โฟรวาทริปแทน อยู่ในกลุ่มของยาทริปแทน (triptans) ยานี้ส่งผลต่อสารตามธรรมชาติในสมอง อย่างสารเซโรโทนิน (serotonin) ที่ทำให้หลอดเลือดในสมองแคบลง ยานี้ยังบรรเทาอาการปวดโดยการส่งผลต่อเส้นประสาทบางอย่างภายในสมอง

ยาโฟรวาทริปแทนไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคไมเกรนในอนาคต หรือลดความถี่ในการเกิดโรคไมเกรนกำเริบได้

วิธีการใช้ยา โฟรวาทริปแทน

รับประทานยานี้ตามที่แพทย์กำหนด เมื่อเริ่มมีสัญญาณของโรคไมเกรน สามารถรับประทานพร้อมกับอาหาร หรือรับประทานแยกต่างหากได้ แต่ยานี้อาจจะทำงานได้เร็วกว่า หากรับประทานขณะท้องว่าง ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์ และการตอบสนองต่อการรักษา หากอาการไม่ดีขึ้น อย่ารับประทานยาเพิ่มโดยไม่ปรึกษากับแพทย์

หากอาการของคุณดีขึ้นแค่บางส่วน หรือหากอาการปวดหัวกลับมาอีกครั้ง ผู้ผลิตจากสหรัฐอเมริกานั้นแนะนำให้รับประทานยาอีกครั้ง หลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมง สูงสุดที่ 3 ครั้ง (7.5 มก.) ภายใน 24 ชั่วโมง ผู้ผลิตจากแคนาดานั้นแนะนำให้รับประทานยาอีกครั้ง หลังจากผ่านไป 4 ชั่วโมง สูงสุดที่ 2 ครั้ง (5 มก.) ภายใน 24 ชั่วโมง ควรทำตามแนวทางการใช้ยาจากแพทย์อย่างระมัดระวัง

หากคุณมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ แพทย์อาจจะทำการตรวจหัวใจ ก่อนเริ่มใช้ยา โฟรวาทริปแทน แพทย์อาจจะสั่งให้คุณรับประทานยาครั้งแรก ที่ห้องทำงานของแพทย์หรือคลินิก เพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียง เช่น เจ็บหน้าอก โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

หากคุณใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคไมเกรนกำเริบ มากกว่าเดือนละ 10 วัน ยานี้อาจจะทำให้อาการปวดหัวของคุณรุนแรงขึ้น (อาการปวดหัวจากการใช้ยาเกินขนาด) อย่าใช้ยาบ่อยกว่า หรือนานกว่าที่กำหนด โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณจำเป็นต้องใช้ยาบ่อยกว่าที่กำหนด หรือหากยาของคุณไม่ได้ผลดีดังเดิม หรือหากอาการปวดหัวของคุณรุนแรงขึ้น

การเก็บรักษายา โฟรวาทริปแทน

ยาโฟรวาทริปแทนควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาโฟรวาทริปแทนบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัย โปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาโฟรวาทริปแทนลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา โฟรวาทริปแทน

ก่อนใช้ยา โฟรวาทริปแทน แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากคุณแพ้ต่อยานี้ หรือหากคุณเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีส่วนประกอบไม่ออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่น โปรดปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ เกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะ ปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต (เช่น ที่แขนหรือขา หรือกระเพาะอาหาร) อาการปวดหัวบางชนิด เช่นอาการปวดหัวไมเกรนแบบอัมพาตครึ่งตัว (hemiplegic migraine) หรืออาการปวดหัวไมเกรนแบบบาซิลาร์ (basilar migraine) ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น อาการเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ อาการหัวใจขาดเลือดฉับพลันครั้งก่อน โรคตับ อาการชัก โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคเส้นเลือดสมองตีบชั่วคราว

สภาวะบางอย่างสามารถเพิ่มความเสี่ยง ในการเกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจได้ โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณมีสภาวะดังต่อไปนี้ ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะคอเลสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน คนในครอบครัวเคยเป็นโรคหัวใจ น้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ วัยหมดประจำเดือน (เพศหญิง) อายุมากกว่า 40 ปี (เพศชาย)

ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนได้ อย่าขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่ต้องการความตื่นตัว จนกว่าคุณจะสามารถทำได้อย่างปลอดภัย และควรจำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ก่อนการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบ เกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ ทั้งยาตามใบสั่งยา ยาที่หาซื้อเอง และสมุนไพรต่างๆ

ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและภาวะความดันโลหิตสูงนั้น จะเพิ่มขึ้นตามอายุ ผู้สูงอายุอาจจะมีปฏิกิริยาไวต่อผลข้างเคียงของยานี้ได้มากกว่า โดยเฉพาะความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น และปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ

ในช่วงขณะการตั้งครรภ์ควรใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น โปรดปรึกษาความเสี่ยงและประโยชน์กับแพทย์

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ยาโฟรวาทริปแทนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยา โฟรวาทริปแทน

อาจเกิดอาการหน้าแดง รู้สึกเหน็บ ชา เสียวซ่า หรือร้อน เหนื่อยล้า ปากแห้ง หรือวิงเวียน หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้น โปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที

โปรดจำไว้ว่า การที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้ เนื่องจากคำนวณแล้วว่า ยามีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ

ยานี้อาจจะเพิ่มระดับความดันโลหิตได้ โปรดทำการตรวจวัดระดับความดันโลหิตเป็นประจำ และแจ้งให้แพทย์ทราบ หากผลการตรวจนั้นสูง

แจ้งให้แพทย์ทราบในทันที หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ได้แก่ นิ้วมือ นิ้วเท้า หรือเล็บเป็นสีน้ำเงิน มือหรือขาเย็น มีความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจหรืออารมณ์

ยาโฟรวาทริปแทนมักจะทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก ตึงที่กราม หรือคอ อาการปวด หรือความดันที่มักจะไม่ค่อยเป็นอันตราย

แต่ผลเหล่านี้คล้ายกับอาการของโรคหัวใจขาดเลือดฉับพลัน ซึ่งอาจจะมีทั้งอาการปวดหน้าอก กราม หรือแขนข้างซ้าย หายใจไม่อิ่ม หรือเหงื่อออกผิดปกติ ควรรับการรักษาในทันที หากเกิดอาการเหล่านี้ หรือเกิดอาการที่รุนแรงอย่าง หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ หมดสติ ปวดท้องอย่างรุนแรง ท้องเสียเป็นเลือด สัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง (เช่น อ่อนแรงที่ด้านหนึ่งของร่างกาย พูดติดขัด การมองเห็นเปลี่ยนแปลงฉับพลัน สับสน)

ยานี้อาจเพิ่มระดับของสารเซโรโทนิน และในกรณีหายากอาจทำให้เกิดสภาวะที่รุนแรงมาก อย่างกลุ่มอาการเซโรโทนิน (serotonin syndrome) หรือเซโรโทนินเป็นพิษ (serotonin toxicity) ความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้น หากคุณใช้ยาอื่นที่สามารถเพิ่มระดับของเซโรโทนินได้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ เกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ (อ่านเพิ่มเติมในส่วนปฏิกิริยาของยา) รับการรักษาในทันทีหากเกิดอาการดังต่อไปนี้

  • หัวใจเต้นเร็ว
  • มองเห็นภาพหลอน
  • สูญเสียการเคลื่อนไหวที่สอดประสาน
  • วิงเวียนอย่างรุนแรง
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ท้องร่วงอย่างรุนแรง
  • กล้ามเนื้อกระตุก
  • เป็นไข้ที่หาสาเหตุไม่ได้
  • ร้อนรนหรือกระสับกระส่ายผิดปกติ

การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้ ผดผื่น คันหรือบวม (โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ) วิงเวียนขั้นรุนแรง หายใจติดขัดไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน หรือเซโรโทนินเป็นพิษจะเพิ่มขึ้น หากคุณใช้ยาที่อาจเพิ่มสารเซโรโทนิน ยกตัวอย่างเช่น ยาเมทิลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (MDMA) หรือยาอี (ecstasy) สมุนไพรเซนต์จอห์น (St.John’s wort) ยาต้านซึมเศร้าบางชนิด (antidepressants) เช่น ยาในกลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (SSRIs) อย่างฟลูออกซิทีน (fluoxetine) หรือพาร็อกซีทีน (paroxetine) ยาในกลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (SNRIs) อย่างดูล็อกซีทีน (duloxetine) หรือเวนลาฟาซีน (venlafaxine) และอื่นๆ ความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนินหรือเซโรโทนินเป็นพิษนั้น มักจะเพิ่มขึ้นเมื่อคุณเริ่มใช้ยา หรือเพิ่มขนาดยาเหล่านี้

หากคุณกำลังใช้ยาในกลุ่มเออร์โกตามีนใดๆ (ergotamine) เช่น ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน (dihydroergotamine) หรือยาทริปแทนอื่นๆ เช่นโซลมิทริปแทน (zolmitriptan) หรือไรซาทริปแทน (rizatriptan) คุณอาจจะต้องรับประทานยาโฟรวาทริปแทน โดยเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ออกจากยาเหล่านี้เพื่อลดโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง

ยาโฟรวาทริปแทนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาโฟรวาทริปแทนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาโฟรวาทริปแทนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยา โฟรวาทริปแทน สำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคไมเกรน

ใช้ยานี้หลังจากได้รับการวินิจฉัยอย่างชัดเจนกว่าเป็นโรคไมเกรนแล้วเท่านั้น

  • ขนาดยาเริ่มต้น 2.5 มก. รับประทานหนึ่งครั้ง
  • หากมีการตอบสนองจากการใช้ยาในครั้งแรก อาจให้ยาครั้งที่สองหลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมงหากโรคไมเกรนกลับมาหรืออาการกำเริบอีก
  • ขนาดยาสูงสุด 7.5 มก. ภายใน 24 ชั่วโมง

คำแนะนำ

  • ไม่ควรใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคไมเกรนส่วนฐานหรือโรคไมเกรนแบบอัมพาตครึ่งตัวเนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้มีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเป็นโรคหลอลดเลือดสมอง
  • ยังไม่มีการพิสูจน์ความปลอดภัยของการรักษาอาการไมเกรนกำเริบเฉลี่ย 4 ครั้งภายใน 30 วัน

การใช้งาน

  • เพื่อรักษาอย่างฉับพลันสำหรับโรคไมเกรนที่มีหรือไม่มีสัญญาณเตือน

การปรับขนาดยาสำหรับไต

  • ไม่มีการปรับขนาดยาที่แนะนำ

การปรับขนาดยาสำหรับตับ

  • ตับบกพร่องระดับเบาถึงปานกลาง ไม่มีการปรับขนาดยาที่แนะนำ
  • ตับบกพร่องระดับรุนแรง ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเนื่องจากมีโอกาสในการเกิดผลที่ไม่พึงประสงค์มากกว่า

คำแนะนำอื่นๆ

คำแนะนำการใช้

  • รับประทานอาหารพร้อมกับน้ำเปล่าหรือน้ำอื่นๆ
  • ไม่ควรรับประทานยาครั้งที่สองเร็วกว่า 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยาครั้งแรก

ทั่วไป

  • ควรใช้ยานี้หลังจากได้รับการวินิจฉัยอย่างชัดเจนว่าเป็นโรคไมเกรนแล้วเท่านั้น หากผู้ป่วยไม่มีการตอบสนอง ควรวินิจฉัยโรคไมเกรนใหม่อีกครั้ง ก่อนการรักษาอาการกำเริบครั้งถัดไป
  • ยานี้ไม่ได้ใช้เพื่อรักษาอาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (cluster headaches) โรคไมเกรนแบบบาซิลาร์ หรือโรคไมเกรนแบบอัมพาตครึ่งตัว หรือใช้เพื่อเป็นการป้องกันโรคไมเกรน
  • ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease) ควรทำความประเมินหัวใจและหลอดเลือดก่อนเริ่มการรักษา สำหรับผู้ป่วยที่มีผลการประเมินหัวใจและหลอดเลือดสมบูรณ์อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ ควรพิจารณาให้ยาครั้งแรกภายในการดูแลจากแพทย์ และทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ทันทีหลังจากให้ยา
  • อาการปวดหัวจากการใช้ยาเกินขนาดนั้น อาจจะคล้ายกับอาการปวดหัวไมเกรน หรือมีอาการปวดหัวไมเกรนบ่อยขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาโรคไมเกรนเฉียบพลัน (เช่น ยาเออร์โกตามีน ยาทริปแทน หรือยาโอปิออยด์) เป็นจำนวนเดือนละ 10 วันขึ้นไป ควรพิจารณาหยุดใช้ยาเกินขนาด และรับการรักษาอาการถอนยา

การเฝ้าระวัง

  • ควรพิจารณาการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ในช่วงหลังจากให้ยาครั้งแรก สำหรับผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่มีผลการประเมินหัวใจและหลอดเลือดสมบูรณ์อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ ควรทำการประเมินหัวใจและหลอดเลือดเป็นระยะๆ สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาในระยะยาวแบบไม่ต่อเนื่อง ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • เฝ้าระวังความดันโลหิต
  • ควรเฝ้าระวังกลุ่มอาการเซโรโทนิน หากใช้ยานี้ร่วมกับยาในกลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (selective serotonin reuptake inhibitors) หรือยาในกลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (selective norepinephrine reuptake inhibitors) โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นการรักษา หรือใช้ยาใหม่ หรือเพิ่มขนาดยาซีโรโทเนอจิก (serotonergic medication)

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

  • ผู้ป่วยควรจะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเริ่มใช้ยาหรืออาหารเสริมชนิดใหม่ใดๆ
  • ผู้ป่วยความตระหนักถึงความเสี่ยง ในการเกิดผลข้างเคียงต่อหัวใจและหลอดเลือด และควรรับการรักษาในทันทีหากเกิดอาการ
  • ผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาครั้งแรก ไม่ควรใช้ยาครั้งที่สอง โดยไม่ปรึกษากับแพทย์
  • ผู้ป่วยควรรับทราบถึงโอกาสในการเกิดอาการปวดหัวจากการใช้ยาเกินขนาด
  • ยานี้อาจทำให้การตัดสินใจ ความคิด หรือความสามารถในการขับขี่ลดลงได้ อย่าขับรถหรือใช้เครื่องจักร จนกว่าจะทราบถึงผลที่ไม่พึงประสงค์ของยา
  • ผู้ป่วยควรติดต่อแพทย์หากตั้งครรภ์ มีความตั้งใจที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร

ขนาดยาโฟรวาทริปแทนสำหรับเด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของขนาดยานี้สำหรับผู้ป่วยเด็ก ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจกับความปลอดภัยของยาก่อนการใช้ยา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อกับแพทย์หรือเภสัชกร

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Frovatriptan SUCCINATE. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-22254/frovatriptan-oral/details. Accessed February 7, 2018.

Frovatriptan Dosage. https://www.drugs.com/dosage/frovatriptan.html. Accessed February 7, 2018.

Frovatriptan (Oral Route) https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/frovatriptan-oral-route/proper-use/drg-20063959

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

อัปเดตโดย: Nattavara Pasathan


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาแก้เจ็บคอ ควรใช้เมื่อไหร่ดี มีข้อควรระวังอย่างไร

5 พฤติกรรมกระตุ้นไมเกรน ที่คุณควรหลีกเลี่ยง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา