backup og meta

ปลายประสาทอักเสบ อาการ เป็นอย่างไร มีสาเหตุจากอะไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/03/2023

    ปลายประสาทอักเสบ อาการ เป็นอย่างไร มีสาเหตุจากอะไร

    ประสาทส่วนปลายเป็นเครือข่ายของเส้นประสาทที่เชื่อมต่อสมองและไขสันหลังกับกล้ามเนื้อ ผิวหนัง และอวัยวะภายในร่างกาย เมื่อประสาทส่วนนี้เสียหาย จะทำให้เกิดโรค ปลายประสาทอักเสบ อาการ ที่พบได้บ่อย คือ อาการปวด เสียวแปลบ สูญเสียความรู้สึกโดยเฉพาะบริเวณเท้า สูญเสียการทรงตัวหรือเดินเซ เป็นต้น โดยอาการที่พบอาจแตกต่างไปตามส่วนของร่างกายที่ปลายประสาทเสียหาย ในบางกรณี อาจมีอาการรุนแรง เช่น ปวดแสบปวดร้อน เป็นอัมพาต โดยทั่วไปอาการจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ก็อาจเป็น ๆ หาย ๆ ได้เช่นกัน

    ปลายประสาทอักเสบ คือ อะไร

    ปลายประสาทอักเสบ คือ ความเสียหายของเส้นประสาทบริเวณประสาทส่วนปลาย ซึ่งเป็นเครือข่ายของเส้นประสาทที่ซับซ้อน ทำหน้าที่ส่งข้อมูลจากสมองและไขสันหลังซึ่งเป็นตำแหน่งของระบบประสาทส่วนกลางไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เส้นประสาทส่วนปลายเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับเดอร์มาโทม (Dermatomes) หรือแนวเส้นประสาทรับความรู้สึก ซึ่งเป็นผิวหนังที่เชื่อมต่อกับเส้นประสาทไขสันหลังและเรียงตัวกันเป็นเส้นยาวอยู่ในร่างกาย ตามปกติแล้วความเสียหายของปลายประสาทจะส่งผลกระทบต่อเดอร์มาโทมส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วน และจะไปขัดขวางการสื่อสารระหว่างสมองกับส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จนการทำงานของร่างกายเฉพาะส่วนเสียหาย อาจทำให้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลดลง ประสาทรับความรู้สึกที่แขนขาผิดปกติ มีอาการปวดตามตัว เป็นต้น

    สาเหตุของโรคปลายประสาทอักเสบ 

    สาเหตุของโรคปลายประสาทอักเสบ อาจแบ่งตามชนิดของโรคได้ ดังนี้

    1. โรคปลายประสาทอักเสบจากโรคทางพันธุกรรม (ฮีเรดดิทารี เพอริฟเฟอเริล นิวรอพพะธี หรือ Hereditary Peripheral Neuropathy)

    เกิดจากโรคทางพันธุกรรม ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดคือโรคชาร์โคต์-มารี-ทูธ (Charcot-Marie-Tooth disease) ชนิดที่ 1 ทำให้ระบบประสาทถูกทำลาย จนเกิดอาการแขนขาอ่อนแรง อาการอาจปรากฏในวัยเด็กไปถึงอายุประมาณ 30 ปี โรคนี้เกิดจากฉนวนที่หุ้มเส้นประสาทเสื่อมสภาพ ทำให้เส้นประสาทไม่สามารถชักนำกระแสไฟฟ้าที่จำเป็นสำหรับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้

    2. โรคปลายประสาทอักเสบที่เกิดขึ้นภายหลัง (อะไควเออร์ด เพอริฟเฟอเริล นิวรอพพะธี หรือ Acquired Peripheral Neuropathy)

    เกิดจากปัจจัยแวดล้อมอย่างการสัมผัสสารพิษ การติดเชื้อ การเจ็บป่วย การบาดเจ็บของเส้นประสาทเนื่องจากปัจจัยดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • โรคเบาหวาน
  • โรคหายากที่สืบทอดทางพันธุกรรม
  • โรคพิษสุราเรื้อรัง
  • การขาดวิตามินหรือภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition)
  • โรคมะเร็ง ที่มีก้อนเนื้องอกปล่อยแอนติบอดีออกมาทำให้ระบบประสาทเสื่อมจนปลายประสาทอักเสบ เนื้องอกกดทับเส้นประสาทหรือเกิดขึ้นที่เส้นประสาท เป็นต้น
  • โรคอื่น ๆ เช่น โรคไทรอยด์ โรคไต
  • การติดเชื้อ เช่น โรคลายม์ (Lyme disease) โรคงูสวัด โรคเอดส์
  • การใข้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น คีโมบำบัด
  • 3. โรคปลายประสาทอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุ (อิดีอะพาธิค เพอริฟเฟอเริล นิวรอพพะธี หรือ Idiopathic Peripheral Neuropathy)

    เป็นโรคปลายประสาทอักเสบที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่โรคจะค่อย ๆ พัฒนาอย่างช้า ๆ และบางคนอาจไม่แสดงอาการที่สังเกตได้ จึงอาจไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

    ปัจจัยเสี่ยงของโรคปลายประสาทอักเสบ

    ปัจจัยเสี่ยงของโรคปลายประสาทอักเสบ อาจมีดังนี้

    • โรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้
    • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
    • การขาดวิตามิน โดยเฉพาะกลุ่มวิตามินบี ซึ่งมีบทบาทในการเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาท
    • การติดเชื้อ เช่น เชื้อเอชไอวี เชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี เชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr virus)
    • ความผิดปกติของไต ตับ หรือต่อมไทรอยด์
    • การสัมผัสกับสารพิษหรือโลหะหนัก
    • การเคลื่อนไหวแบบเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน

    ปลายประสาทอักเสบ อาการ เป็นอย่างไร

    เมื่อเกิดโรค ปลายประสาทอักเสบ อาการ ที่พบได้ อาจมีดังนี้

    • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
    • เป็นตะคริว
    • กล้ามเนื้อกระตุก
    • สูญเสียมวลกล้ามเนื้อและกระดูก
    • ผิวหนัง เส้นผม เล็บมือ เล็บเท้าเปลี่ยนแปลง
    • เป็นเหน็บหรือชาตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
    • ประสาทสัมผัสหรือประสาทรับความรู้สึกตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายไม่ทำงาน
    • สูญเสียความรู้สึกเจ็บปวด ซึ่งอาจทำให้ไม่ทราบว่าร่างกายมีอาการผิดปกติ เช่น หัวใจวาย ปวดแขนหรือขา
    • สูญเสียความสามารถในการทำงานของระบบร่างกายบางส่วน เช่น การทรงตัว ซึ่งเป็นผลข้างเคียงมาจากการสูญเสียความรู้สึกบริเวณขา แขน หรือส่วนอื่น ๆ
    • นอนไม่หลับ
    • ร่างกายไม่สามารถขับเหงื่อได้ตามปกติ ทำให้เหงื่อออกมากหรือเหงื่อไม่ออกเลย
    • ไม่สามารถควบคุมการถ่ายปัสสาวะได้ อาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อหรือกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
    • วิงเวียนศีรษะ เป็นลม เพราะสูญเสียการควบคุมความดันโลหิต
    • มีปัญหาในการรับประทานหรือกลืนอาหาร
    • มองเห็นภาพซ้อน มองเห็นไม่ชัด ปวดตา
    • มีอาการที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ

    วิธีรักษาโรคปลายประสาทอักเสบ

    วิธีรักษาโรคปลายประสาทอักเสบ จะแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค คุณหมอจะวางแผนการรักษาที่สอดคล้องกับภาวะสุขภาพผู้ป่วยมากที่สุด และจะแจ้งให้ทราบถึงระยะเวลาการฟื้นตัวที่เป็นไปได้ โดยทั่วไป คุณหมออาจใช้วิธีต่อไปนี้ในการรักษาโรคปลายประสาทอักเสบ

    • การใช้ยารักษา ยารักษาปัญหาระบบประสาทส่วนปลาย เช่น ครีมแคปไซซิน (Capsaicin) ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressants) ยากาบาเพนติน (Gabapentin) ซึ่งมีด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น ยาฉีด ยาเม็ด ยาแบบแผ่นแปะบนผิวหนัง ยาทาบนผิวหนัง ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวด กล่อมประสาท ลดอาการวิงเวียนศีรษะที่เกิดจากการอักเสบของปลายประสาท
    • การผ่าตัด เพื่อเชื่อมต่อเส้นประสาทและบรรเทาอาการปวดจากเส้นประสาทถูกกดทับ คุณหมออาจตัดเส้นประสาทที่เสียหายหรือทำงานผิดปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้รับส่งสัญญาณจากสมองที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด
    • กายภาพบำบัด การทำกายภาพอาจช่วยบรรเทาอาการปวดชา เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และฝึกการทรงตัว ลดความเสี่ยงในการล้มหรือลื่น ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บหรือการรักษาทางการแพทย์ได้เร็วขึ้น
    • การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ไม้ค้ำยัน ไม้เท้า เครื่องช่วยพยุงเดิน รองเท้าที่ช่วยเสริมการเดินสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน (Prescribed footwear) แม้ไม่ได้ใช้ในการรักษาโดยตรง แต่ก็อาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
    • การดูแลเท้าโดยผู้เชี่ยวชาญ ความเสียหายที่ระบบประสาทส่วนปลายมักส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่ออ่อนและกระดูกบริเวณเท้า โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จึงควรไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านบาทาเวชศาสตร์ (Podiatry) เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
    • การบรรเทาอาการด้วยวิธีอื่น หากรักษาด้วยวิธีพื้นฐานแล้วอาการที่เกิดจากปลายประสาทอักเสบยังไม่ดีขึ้น ผู้เชี่ยวชาญอาจแนะนำวิธีรักษาอื่น ๆ เช่น การฝังเข็ม การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง การฉีดยา การผ่าตัดเพื่อฝังเครื่องกระตุ้นไขสันหลัง

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคปลายประสาทอักเสบ

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคปลายประสาทอักเสบ อาจทำได้ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างสมดุล เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน ป้องกันการขาดวิตามินบี โดยเฉพาะวิตามินบี 12 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการทำงานของระบบประสาท โดยทั่วไป วิตามินบี 12 จะพบมากในเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อแดง สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว
    • ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง ไม่นั่งอยู่เฉย ๆ กับที่เป็นเวลานาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
    • สวมอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง ผู้ที่ทำงาน เล่นกีฬา หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวก ถุงมือ หน้ากาก สนับเข่า เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เส้นประสาทเสียหาย
    • จัดการกับโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่อย่างเหมาะสม เนื่องจากโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน เพราะอาจนำไปสู่โรคปลายประสาทอักเสบได้ หากไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอและดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม
    • จำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ชายและผู้หญิงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกิน 2 แก้ว/วัน และไม่ให้เกิน 1 แก้ว/วัน ตามลำดับ หรือทางที่ดี ควรเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถาวร เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคปลายประสาทอักเสบ ทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมด้วย
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารพิษ เช่น โลหะหนัก ตะกั่ว ปรอท ที่อาจสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบประสาทจนเกิดโรคปลายประสาทอักเสบได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา