backup og meta

ติดเชื้อ HIV กี่ ปี ออก อาการ และอาการแต่ละระยะเป็นอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

    ติดเชื้อ HIV กี่ ปี ออก อาการ และอาการแต่ละระยะเป็นอย่างไร

    หลายคนอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์ และต้องการทราบว่า ติดเชื้อ HIV กี่ ปี ออก อาการ โดยทั่วไปแล้วอาการติดเชื้อ HIV จะเกิดขึ้นหลังรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย 2-4 สัปดาห์ จากนั้นเชื้อจะอาศัยอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานประมาณ 10 ปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมด้วยการรับประทานยาต้านไวรัสทุกวัน จะทำให้การติดเชื้อเข้าสู่ระยะโรคเอดส์ ซึ่งเป็นระยะที่ภูมิคุ้มกันถูกทำลายจนเสียหายรุนแรง และเสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่รักษาค่อนข้างยาก

    เชื้อ HIV คืออะไร

    เชื้อเอชไอวี หรือฮิวแมนอิมมิวโนเดฟีเซียนซีไวรัส (Human Immunodeficiency Virus หรือ HIV) เป็นเชื้อไวรัสที่สร้างความเสียหายให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ด้วยการโจมตีและทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวซีดีโฟร์ (CD4 cells) หรือทีเซลล์ (T cells) ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวเสียหายและลดปริมาณลง จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้

    ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV

    ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV อาจมีดังนี้

    • การมีเพศสัมพันธ์หรือใช้เข็มฉีดยาและอุปกรณ์ฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
    • การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนั​​กหรือช่องคลอดโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย โดยเฉพาะกับคู่นอนหลายคนและคู่นอนที่ไม่ทราบประวัติการมีเพศสัมพันธ์
    • การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน
    • การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส โรคหูดหงอนไก่
    • ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ HIV ซึ่งอาจแพร่เชื้อไปยังทารกในครรภ์ขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด และเมื่อให้นม
    • การใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดก่อนมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจทำให้ตัดสินใจไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกันขณะใช้สารเสพติด

    ติดเชื้อ HIV กี่ ปี ออก อาการ

    การติดเชื้อ HIV จะเริ่มแสดงอาการภายใน 2-4 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ แต่ผู้ติดเชื้ออาจไม่สังเกตหรือตระหนักว่าเป็นอาการของการติดเชื้อ HIV เนื่องจากเป็นอาการที่คล้ายกับการติดเชื้อไข้หวัดทั่วไป โดยทั่วไป อาการของการติดเชื้อ HIV จะแสดงออกอย่างเด่นชัดก็ต่อเมื่อการติดเชื้อลุกลามไปจนถึงระยะที่ 3 หรือที่เรียกว่าระยะโรคเอดส์ (AIDs) แล้ว เมื่อไม่ได้รับประทานยาต้านไวรัสเป็นเวลาหลายปี เชื้อไวรัสจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้ออ่อนแอลง ซึ่งอาจใช้เวลาเป็น 10 ปี ตั้งแต่เริ่มติดเชื้อ

    ทั้งนี้ ระยะโรคเอดส์อาจเกิดขึ้นได้ช้ากว่านั้นมากและผู้ติดเชื้อสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกับคนทั่วไปได้ หากรับประทานยาต้านไวรัสติดต่อกันทุกวันและดูแลสุขภาพอย่างดี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรไปตรวจหาเชื้อตั้งแต่เนิ่น ๆ หากสงสัยว่าตัวเองติดเชื้อ เพื่อที่จะได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น การรับประทานยาต้านไวรัสตั้งแต่ติดเชื้อในระยะแรกจะช่วยป้องกันการพัฒนาของโรค ลดความเสียหายของร่างกายที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคติดเชื้อฉวยโอกาส

    อาการของการติดเชื้อ HIV

    อาการของการติดเชื้อ HIV อาจแบ่งได้ตามระยะของการติดเชื้อ ดังนี้

  • ระยะเฉียบพลัน (Acute HIV Infectious) เป็นระยะที่มีเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือดในปริมาณมาก จึงแพร่เชื้อได้ง่ายที่สุด เกิดขึ้นหลังได้รับเชื้อประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ติดเชื้ออาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ เจ็บคอ มีแผลในปาก หนาวสั่น ผื่นขึ้น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เหงื่อออกตอนกลางคืน ต่อมน้ำเหลืองบวม อ่อนเพลีย แต่บางคนก็อาจไม่มีอาการเลย
  • ระยะติดเชื้อเรื้อรัง (chronic HIV infection) เป็นระยะที่มักไม่แสดงอาการ แต่บางคนก็อาจมีอาการป่วยเล็กน้อย เช่น มีตุ่มขึ้นตามร่างกาย มีเชื้อราในช่องปาก เป็นโรคงูสวัด ระยะนี้เป็นระยะที่เชื้อแพร่กระจายในร่างกายแล้ว แต่แพร่พันธุ์ในระดับที่ต่ำมาก และเป็นระยะที่กินเวลานานประมาณ 10 ปี หากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ระบบภูมิคุ้มกันจะถูกทำลายจนเข้าสู่โรคเอดส์ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ บางคนอาจเข้าสู่ระยะโรคเอดส์ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปีหลังจากติดเชื้อ แต่สำหรับผู้ที่รับประทานยาต้านไวรัสเป็นประจำทุกวัน ก็อาจไม่เข้าสู่ระยะโรคเอดส์เลยตลอดชีวิต
  • ระยะเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ ผู้ติดเชื้อจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเอดส์เมื่อจำนวนเซลล์ CD4 ลดลงต่ำกว่า 200 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิลิตร หรือเมื่อเริ่มเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infections หรือ OIs) เช่น โรคเริม โรคติดเชื้อแคนดิดา (Candida infection) โรคคริปโตคอกโคสิส (Cryptococcosis) โรคติดเชื้อในทางเดินอาหารจากเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) และอาจมีอาการผิดปกติ เช่น เหนื่อยตลอดเวลา ต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือขาหนีบบวม เป็นไข้ครั้งละนาน ๆ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หายใจไม่อิ่ม ท้องเสียเรื้อรัง มีอาการทางระบบประสาทอย่างการหลงลืม สับสน ชัก พฤติกรรมเปลี่ยนไป มีปัญหาการทรงตัว สายตาแย่ลง ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีปริมาณเชื้อไวรัสสูงและสามารถแพร่เชื้อได้ง่าย หากไม่ได้รับการรักษาเลย โดยทั่วไปจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 3 ปี
  • การรักษาเมื่อติดเชื้อ HIV

    การติดเชื้อ HIV ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรับประทานยาต้านไวรัสหลายชนิดรวมกัน (Antiretroviral therapy หรือ ART) เป็นประจำทุกวัน จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาตั้งแต่ติดเชื้อระยะแรก ยาต้านไวรัสจะออกฤทธิ์ลดปริมาณไวรัสในร่างกาย จนบางครั้งก็อาจลดลงจนไม่สามารถตรวจจับได้ เมื่อไวรัสลดลงจนตรวจไม่พบก็จะไม่สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้ ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อควรใช้ยาอย่างต่อเนื่อง หากหยุดรักษาจะทำให้ปริมาณเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นและแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้ตามเดิม

    นอกจากนี้ ผู้ติดเชื้อควรหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองมากขึ้น เช่น นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ จัดการกับความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดบุหรี่และใช้ยาเสพติด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสุขภาพและการติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งอาจช่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาวได้

    วิธีป้องกันการติดเชื้อ HIV

    วิธีป้องกันการติดเชื้อ HIV อาจทำได้ดังนี้

    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ โดยควรใช้ถุงยาง 1 ชิ้นไม่เกิน 30 นาทีและเปลี่ยนใหม่เมื่อครบเวลา
    • จำกัดจำนวนคู่นอน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV
    • ผู้ที่มีกิจกรรมทางเพศกับคู่นอนมากกว่า 1 คน ควรไปตรวจ HIV เป็นประจำและควรให้คู่นอนตรวจด้วย
    • หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
    • ไม่มีเพศสัมพันธ์ในขณะมึนเมาสุราหรือยาเสพติด

    การติดเชื้อ HIV เป็นภาวะที่ไม่ควรละเลย

    หากมีอาการผิดปกติหลังจากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ HIV หรือสงสัยว่าตัวเองติดเชื้อ HIV ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาเชื้อทันที หากพบว่าติดเชื้อ จะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นและช่วยให้สามารถควบคุมโรคได้ดียิ่งขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา