ปวดหัว หรือปวดศีรษะ เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การใช้สายตามากเกินไป รวมถึงเป็นหนึ่งในอาการของโรคต่าง ๆ เช่น โรคหวัด โรคโควิด-19 โรคไซนัสอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ การรักษา ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น ควรไปพบคุณหมอหากปวดหัวหลายวันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
[embed-health-tool-bmi]
คำจำกัดความ
ปวดหัว คืออะไร
ปวดหัว เป็นอาการที่แสดงถึงภาวะสุขภาพของร่างกายที่ไม่ปกติ นับตั้งแต่บริเวณกล้ามเนื้อคอจนถึงกลางกระหม่อม รวมทั้งบริเวณหน้าผาก ขมับ ท้ายทอย เบ้าตา โดยอาการปวดหัวมักมีทั้งปวดแบบคงที่ ปวดหัวรุนแรง ปวดข้างใดข้างหนึ่ง ปวดตุบ ๆ
ทั้งนี้ อาการปวดหัวมีหลายรูปแบบ ที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- ปวดหัวจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension Headaches) เป็นอาการปวดหัวที่พบได้ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ มีสาเหตุมาจากความเครียด โดยอาการมักพบบริเวณท้ายทอย และอาจปวดร้าวไปถึงขมับทั้ง 2 ข้างหรือปวดทั่วศีรษะ
- ปวดหัวไมเกรน (Migraine Headaches) เป็นอาการปวดหัวที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมี เส้นประสาท และหลอดเลือดในสมอง ปกติแล้ว ปวดหัวไมเกรนมักเกิดขึ้นกับหัวซีกใดซีกหนึ่ง และอาการจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ปวดหัวไมเกรนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โดยบุุคคลที่ทั้งพ่อและแม่มีอาการปวดหัวไมเกรน มีโอกาสประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ที่จะมีอาการปวดหัวไมเกรนด้วย
- ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headaches) เป็นการปวดหัวอย่างรุนแรงข้างเดียว ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ปกติแล้ว อาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์จะเกิดขึ้นเป็นชุด ๆ บริเวณกระบอกตาหรือขมับ โดยระยะเวลาปวดอาจสั้นเพียง 10 นาที หรือยาวนานถึง 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ยังอาจเกิดขึ้นบ่อยถึงวันละ 1-2 ครั้ง
- ปวดหัวจากไซนัสอักเสบ (Sinus Headaches) เป็นอาการปวดหัวเนื่องจากการติดเชื้อบริเวณไซนัส หรือโพรงอากาศในกะโหลกศีรษะบริเวณใบหน้า รวมถึงการแพ้อากาศ เมื่อปวดหัวจากไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแบบหน่วง ๆ บริเวณหน้าผาก หัวตา และรอบกระบอกตา โหนกแก้ม ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดเมื่อก้มหัวหรือเปลี่ยนอิริยาบถ
- ปวดหัวหลังการบาดเจ็บ (Posttraumatic Headaches) หมายถึงการอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นหลังได้รับบาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุบริเวณหัวไปแล้ว 2-3 วัน ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น บ้านหมุน วิงเวียน หงุดหงิด ตาลาย
- ปวดหัวจากการออกกำลังกาย (Exercise Headaches) อาการปวดหัวยังเกิดได้ขณะออกกำลังกายหรือหลังจากนั้น โดยมีสาเหตุมาจากขยายตัวของหลอดเลือดเพื่อทำให้มีเลือดไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะหรือคออย่างเพียงพอขณะที่ร่างกายออกกำลังกาย ปกติแล้ว อาการปวดหัวลักษณะนี้มักเกิดขึ้นเป็นเวลา 5 นาที-48 ชั่วโมงแล้วหายได้เอง
สาเหตุ
สาเหตุของอาการปวดหัว
อาการปวดหัว เป็นการส่งสัญญาณความเจ็บปวดจากเส้นประสาทบริเวณหลอดเลือดและหัวไปยังสมอง เมื่อถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- พันธุกรรม
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ความเครียด
- การพักผ่อนไม่เพียงพอหรือนอนน้อย
- การสูบบุหรี่และการสูดดมควันบุหรี่
- การบริโภคอาหารที่มีไนเทรต (Nitrate) เป็นส่วนประกอบ เช่น แฮม เบคอน ฮอตดอก
- ความหิว การอดอาหาร หรือการข้ามมื้ออาหาร
- การได้กลิ่นเหม็นหรือกลิ่นฉุนจากสารเคมีต่าง ๆ
- การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษ
- การได้ยินเสียงดังเกิน 85 เดซิเบลเป็นเวลานาน
- การออกกำลังกายหักโหม
- การบาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุบริเวณหัว
- โรคหรืออาการป่วยบางอย่าง เช่น โรคหวัด โรคโควิด-19 โรคไซนัสอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไข้สมองอักเสบ โรคความดันโลหิตสูง โรคไข้หวัดใหญ่ ภาวะผนังหลอดเลือดสมองโป่งพอง ภาวะขาดน้ำ เนื้องอกในสมอง
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
หากปวดหัวในลักษณะต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ
- ปวดหัวรุนแรงและเฉียบพลัน
- ปวดหัวร่วมกับมีไข้ ผื่นขึ้นตามตัว หายใจไม่ออก หรือตึงที่ต้นคอ
- ปวดหัวร่วมกับมีอาการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาท เช่น อ่อนเพลีย มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ชา เป็นอัมพาต ชัก ทรงตัวลำบาก สูญเสียความสามารถในการพูดหรือการมองเห็น
- ปวดหัวหลังจากได้รับบาดเจ็บ หัวกระแทก หัวฟาดพื้น หกล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุบริเวณหัว
- ปวดหัว 1 ครั้งหรือมากกว่านั้นภายใน 1 สัปดาห์
- ปวดหัวในระดับที่ต้องรับประทานยาแก้ปวดทุกวันหรือเกือบทุกวัน
- ปวดหัวโดยอาการแย่ลงเรื่อย ๆ
- ปวดหัวรุนแรงจนรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยการ ปวดหัว
คุณหมอจะวินิจฉัยคนไข้ด้วยวิธีการต่อไปนี้ เพื่อหาสาเหตุของการปวดหัว ซึ่งจะช่วยให้รักษาได้อย่างตรงจุด
- สอบถามเกี่ยวกับอาการของคนไข้ ประวัติสุขภาพ ประวัติสุขภาพคนในครอบครัว รวมถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของคนไข้ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดหัว เช่น ความเครียดในที่ทำงาน จำนวนชั่วโมงที่นอนหลับในแต่ละคืน อาหารที่รับประทานบ่อย ๆ
- ตรวจหาความผิดปกติที่สมองด้วยการตรวจแบบซีที สแกนหรือเอ็มอาร์ไอ ในกรณีคุณหมอสันนิษฐานว่าอาการปวดหัวอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสมอง
- ตรวจเลือด หากคุณหมอสันนิษฐานว่าอาการปวดหัวมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ
การรักษาอาการ ปวดหัว
คุณหมออาจเลือกรักษาอาการปวดหัว ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- จ่ายยาแก้ปวดให้รับประทาน เช่น พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการ ในกรณีที่ปวดหัวไมเกรน คุณหมอมักจ่ายยาอย่างเอ็มกาลิตี (Emgality) หรือซูมาทริปแทน (Sumatriptan) ให้คนไข้รับประทาน เพื่อป้องกันอาการกำเริบ
- แนะนำให้หาวิธีบรรเทาความเครียด ด้วยการทำสมาธิหรือฝึกโยคะ
- แนะนำให้พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนอย่างน้อยวันละ 7-9 ชั่วโมง
- แนะนำให้เปลี่ยนเมนูอาหารที่รับประทานบ่อย ๆ หากคุณหมอพบว่าอาการปวดหัวของคนไข้มีสาเหตุมาจากอาหาร เช่น อาหารรสเค็มจัด อาหารแปรรูปอย่างผักกระป๋อง ฮอตดอก
- รักษาโรคหรืออาการป่วยที่เป็นสาเหตุของอาการปวดหัว
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
อาการปวดหัวอาจป้องกันได้ ด้วยการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความเครียด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มลภาวะต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ การนอนหลับให้เพียงพอ หรือประมาณ 7-9 ชั่วโมง/วัน รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยังช่วยลดความเสี่ยงเกิดอาการปวดหัวด้วย
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดหัวบ่อยครั้ง ควรเข้ารับการตรวจเพื่อหาสาเหตุและป้องกันอาการปวดหัวรุนแรง หากเป็นอาการของโรคจะได้ป้องกันหรือรักษาได้ทันท่วงที