backup og meta

อาการไมเกรน การรักษาและป้องกัน

อาการไมเกรน การรักษาและป้องกัน

อาการไมเกรน เป็นอาการปวดศีรษะรุนแรง มักเกิดขึ้นบริเวณศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง หรือบางคนอาจมีอาการปวดทั่วทั้งศีรษะ และมักมาพร้อมกับอาการปวดเบ้าตา คลื่นไส้ อาเจียน มีความรู้สึกไวต่อแสง เสียง และกลิ่น ไมเกรนอาจมีอาการเกิดขึ้นยาวนานหลายชั่วโมงหรือหลายวัน จนอาจกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน

ไมเกรน คืออะไร

ไมเกรน คือ อาการปวดศีรษะรุนแรง มักเกิดขึ้นบริเวณศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจมีอาการปวดทั่วศีรษะ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัจจัยบางประการอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไมเกรนได้ เช่น ความเครียด พันธุกรรม ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม (เช่น สภาพอากาศร้อน) อาหารที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาขยายหลอดเลือดที่อาจกระตุ้นอาการไมเกรน เช่น ไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerin) ไมเกรนอาจมีอาการเตือนอื่น ๆ เกิดขึ้นก่อนปวดศีรษะ เช่น หน้ามืด รู้สึกเสียวแปล๊บที่ใบหน้า แขน หรือขาข้างใดข้างหนึ่ง มีปัญหาในการพูด แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจไม่มีอาการเตือนใด ๆ เกิดขึ้น

อาการไมเกรน ที่พบบ่อย

อาการไมเกรนสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาจแบ่งได้เป็น 4 ระยะ แต่ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องมีอาการทุกระยะ ดังนี้

1. ระยะอาการบอกเหตุ (Prodrome)

บางคนอาจมีอาการบอกเหตุก่อนเป็นไมเกรนประมาณ 1-2 วัน หรือมากกว่านั้น โดยสามารถสังเกตได้จากอาการดังนี้

  • คอตึง ไม่สบายตัว ร้อน ๆ หนาว ๆ
  • เหนื่อยล้า หาวบ่อย เหงื่อออกมาก
  • รู้สึกไวต่อแสง เสียงและกลิ่น
  • อารมณ์แปรปรวน เช่น เปลี่ยนจากซึมเศร้าเป็นมีความสุขอย่างรวดเร็ว
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย ท้องอืด ปัสสาวะมากขึ้น
  • อยากอาหารหรือเบื่ออาหาร กระหายน้ำมากขึ้น

2. ระยะอาการเตือน (Aura)

อาการเตือนในบางคนอาจเกิดขึ้นก่อนหรือระหว่างเป็นไมเกรน อาการในระยะนี้เป็นอาการทางระบบประสาทที่มักเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และยาวนาน อาการอาจเกิดขึ้นนานถึง 60 นาที ดังนี้

  • มีปัญหาในการมองเห็น เช่น เห็นรูปทรงต่าง ๆ จุดสว่าง แสงวาบ จุดสีดำ เส้นหยัก ภาพหลอน
  • มีเสียงดังในหู
  • รับรส กลิ่น หรือสัมผัสเปลี่ยนแปลงไป
  • ตาพร่าหรือสูญเสียการมองเห็น
  • รู้สึกหนักที่แขน ขา หรือเสียวแปล๊บเหมือนมีเข็มจิ้ม
  • ชาที่ใบหน้าหรือร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง
  • อ่อนแรง พูดลำบาก
  • หมดสติ

3. ระยะแสดงอาการปวดศีรษะ (Attack)

อาการไมเกรนอาจเกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือเว้นระยะห่างเป็นเดือน ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และอาการอาจเกิดขึ้นเป็นเวลานาน 4-72 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการรักษา ดังนี้

  • ปวดข้างเดียวหรือปวดทั้ง 2 ข้าง
  • อาการปวดศีรษะอาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือเกิดขึ้นเป็นจังหวะ
  • มีความรู้สึกไวต่อแสง เสียง กลิ่นและสัมผัส
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • อาจรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ หรือหมดสติ

อาการปวดศีรษะไมเกรนมักเกิดขึ้นข้างใดข้างหนึ่ง แต่ในบางคนอาจปวดพร้อมกันทั้ง 2 ข้างหรือปวดทั่วทั้งศีรษะ ส่วนใหญ่อาการจะเกิดขึ้นในขณะออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ส่งผลต่อระดับความเครียด หรือทำให้เหนื่อยล้ามาก ๆ โดยอาการปวดศีรษะอาจเกิดขึ้นที่ศีรษะข้างหนึ่งและย้ายไปอีกข้าง หรือปวดศีรษะข้างหนึ่งแล้วอาการปวดเพิ่มขึ้นทั่วศีรษะในครั้งเดียวได้เช่นกัน

4. ระยะที่หายจากอาการปวดศีรษะ (Postdrome)

ระยะนี้เป็นอาการหลังจากอาการปวดศีรษะหายไป บางคนอาจมีอาการระยะนี้นานถึง 1 วัน ดังนี้

  • รู้สึกเหนื่อย เพลีย สับสน มึนงง หรือรู้สึกสดชื่นหรือมีความสุขผิดปกติ
  • ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง
  • ความอยากอาหารเพิ่มขึ้นหรือลดลง

ควรพบคุณหมอเมื่อใด

ควรรีบพบคุณหมอทันทีหากมีอาการรุนแรงขึ้น หรือมีอาการเหล่านี้

  • ปวดศีรษะกะทันหันและรุนแรง
  • ปวดศีรษะพร้อมกับมีไข้ ตาพร่ามัว มึนงง คอแข็ง สับสน ชัก หรืออ่อนแรงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง
  • ปวดศีรษะเรื้อรังที่มีอาการแย่ลงหลังไอ ออกแรง เกร็ง หรือเคลื่อนไหวกะทันหัน
  • ปวดศีรษะหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • มีอาการปวดศีรษะเกิดขึ้นหลังอายุ 50 ปี

การบรรเทาและรักษาอาการไมเกรน

วิธีบรรเทาให้อาการไมเกรนดีขึ้น อาจทำได้ดังนี้

รักษาด้วยยา

  • ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน และไอบูโพรเฟน สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ ข้อควรระวัง คือ เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน เว้นแต่จะอยู่ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอ และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ ไต และกระเพาะอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร ไม่แนะนำให้รับประทานยาแอสไพรินและไอบูโพรเฟน นอกจากนี้ หากรับประทานยาแก้ปวดเกินขนาดอาจทำให้อาการไมเกรนแย่ลงได้
  • ยาทริปแทนส์ (Triptans) เป็นยาแก้ปวดเฉพาะสำหรับอาการไมเกรน มักใช้เมื่อยาแก้ปวดทั่วไปไม่สามารถบรรเทาอาการได้ อาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น รู้สึกหนักแขน ขา หน้าอก ไม่สบาย ปากแห้ง ง่วงนอน
  • ยาแก้แพ้ ใช้บรรเทาอาการปวด สามารถใช้ร่วมกับยาทริปแทนส์และยาแก้ปวดได้ อาจมีผลข้างเคียง เช่น อาเจียน เซื่องซึม อุจจาระร่วง
  • ยาสูตรผสม เป็นยาที่ผสมยาแก้ปวดและยาแก้แพ้หรือยาทริปแทนส์เข้าด้วยกัน

การรักษาสำหรับสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร

สำหรับสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร คุณหมออาจไม่แนะนำให้รับประทานยาเพื่อรักษาอาการไมเกรน เพราะอาจส่งผลต่อทารกได้ คุณหมอจึงอาจแนะนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการเพื่อควบคุมไม่ให้อาการกำเริบ หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้ยารักษา คุณหมออาจสั่งยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ไม่แรงมาก เช่น ยาพาราเซตามอล หรือในบางกรณีอาจสั่งยาแก้อักเสบหรือยาทริปแทนส์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ

การป้องกันอาการไมเกรน

การป้องกันอาการไมเกรนไม่ให้กำเริบอาจสามารถทำได้ ดังนี้

  • สร้างสุขภาพดีด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นประจำ และดื่มน้ำมาก ๆ นอกจากนี้ ควรจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ด้วย
  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจกระตุ้นอาการไมเกรน เช่น ความเครียด อาหารบางชนิด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน อาหารรสเค็ม อาหารแปรรูป
  • หากมีอาการรุนแรงขึ้นควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับยาป้องกันอาการไมเกรน เช่น ยาลดความดันโลหิต ยากล่อมประสาท ได้แก่ ไตรไซคลิก (Tricyclic) ยากันชัก ได้แก่ วาลโปรเอท (Valproate) และโทพิราเมท (Topiramate)

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Overview-Migraine. https://www.nhs.uk/conditions/migraine/. Accessed November 26, 2021

Symptoms-Migraine. https://www.nhs.uk/conditions/migraine/symptoms/. Accessed November 26, 2021

Migraine. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/migraine-headache/symptoms-causes/syc-20360201. Accessed November 26, 2021

Migraine-Diagnosis-treatment. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/migraine-headache/diagnosis-treatment/drc-20360207. Accessed November 26, 2021

What Is Migraine?. https://www.webmd.com/migraines-headaches/migraines-headaches-migraines. Accessed November 26, 2021

Migraine. https://medlineplus.gov/migraine.html. Accessed November 26, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/12/2021

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: Sukollaban Khamfan


บทความที่เกี่ยวข้อง

แมกนีเซียมบรรเทาอาการไมเกรน ได้จริงหรือไม่

รับประทานคีโต ป้องกันไมเกรน ได้จริงหรือไม่


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 14/12/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา