backup og meta

Ischemic Stroke (ภาวะหลอดเลือดตีบตัน) คืออะไร มีสาเหตุ อาการ และการรักษาอย่างไร

Ischemic Stroke (ภาวะหลอดเลือดตีบตัน) คืออะไร มีสาเหตุ อาการ และการรักษาอย่างไร

Ischemic Stroke คือ ภาวะหลอดเลือดตีบตัน เป็นหนึ่งในโรคหลอดเลือดสมองที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดในสมองตีบหรืออุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในสมอง โดยอาจสังเกตได้จากอาการปวดหัวรุนแรง สูญเสียการทรงตัวและสื่อสารลำบาก หากปล่อยไว้เวลานานอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

Ischemic Stroke คืออะไร

Ischemic Stroke คือ โรคหลอดเลือดสมองชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน ซึ่งอาจพบได้มากกว่า 80% ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด โดยอาจเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่ส่งเลือดและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในสมอง ทำให้สมองขาดเลือด ซึ่งอาจส่งผลให้เซลล์ในสมองได้รับความเสียหายและการทำงานของสมองบกพร่อง หากไม่เข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วอาจส่งผลให้เซลล์ในสมองตาย เสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

สาเหตุของ Ischemic Stroke คืออะไร

สาเหตุของ Ischemic Stroke คือ การสะสมของคราบจุลินทรีย์ในหลอดเลือดแดง ที่ทำให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือด หรือทำให้หลอดเลือดแคบลง ซึ่งอาจส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงสมองได้น้อยลง ทำให้สมองได้รับเลือดไม่เพียงพอ จนเซลล์ในสมองตาย

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ
  • ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
  • ผู้ที่มีความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • ผู้ที่มีภาวะหัวใจวาย หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว โรคลิ้นหัวใจ หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจพิการแต่กำเนิด
  • ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดและโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่ขาดการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เพราะอาจทำให้มีไขมันสะสมในหลอดเลือดมาก ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อหลอดเลือดอุดตัน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเสพสารเสพติดเป็นเวลานาน

อาการ Ischemic Stroke คืออะไร

อาการ Ischemic Stroke อาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน โดยสามารถสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้

  • แขนขาอ่อนแรง หรือเป็นอัมพาต ซึ่งอาจเป็นข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
  • วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
  • มีอาการชาครึ่งซีก หรือชาบริเวณใบหน้า แขน และขา
  • มีปัญหาการมองเห็น เช่น ตาบอดข้างเดียว มองเห็นเป็นภาพซ้อน
  • พูดลำบาก พูดไม่ชัด พูดติดขัด
  • สูญเสียการทรงตัว เช่น เดินเซ รู้สึกเหมือนตัวลอยเมื่อนั่งหรือนอน

ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาทันที หากมีอาการชาครึ่งซีก เคลื่อนไหวหรือยกแขนขาลำบาก และพูดไม่ชัด

การรักษา Ischemic Stroke

การรักษา Ischemic Stroke อาจมีวิธีดังต่อไปนี้

  • ยาสลายลิ่มเลือด (TPA) โดยคุณหมออาจฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือดดำภายใน 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการแรกเริ่ม เพื่อช่วยสลายลิ่มเลือดในหลอดเลือด ช่วยลดการอุดตันของหลอดเลือด และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือด
  • ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน ที่อาจช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ลดการอุดตันของหลอดเลือด โดยควรให้ยานี้ภายใน 4 ชั่วโมง นับจากผู้ป่วยเริ่มมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง
  • การผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการสมองขาดเลือดรุนแรง โดยคุณหมออาจทำการผ่าตัดเพื่อนำไขมันและคราบจุลินทรีย์ที่อุดตันในหลอดเลือดออกอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
  • การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน (Angioplasty) คือการใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบร่วมกับการใส่บอลลูน (Carotid angioplasty) ไปยังหลอดเลือดบริเวณที่ตีบตัน เพื่อช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน Ischemic Stroke

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน Ischemic Stroke คือการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน และไขมันดี เช่น อะโวคาโด น้ำมันมะกอก แซลมอน ส้ม คะน้า ฟักทอง มะเขือเทศ แตงกวา กะหล่ำ บร็อคโคลี่
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เพราะอาจทำให้ไขมันอุดตันในหลอดเลือด
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน
  • ลดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ เล่นเกม ดูหนัง เพราะความเครียดอาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่อาจทำลายหลอดเลือด และอาจส่งผลให้หลอดเลือดตีบ นำไปสู่โรคหลอดเลือดในสมอง
  • ดูแลตัวเองตามแผนการรักษาของคุณหมอ เช่น รับประทานยาลดคอเลสเตอรอล ยาลดความดันโลหิต ยาลดน้ำตาลในเลือด และเข้ารับการตรวจสุขภาพตามนัดหมาย และควรตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Stroke. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/stroke/symptoms-causes/syc-20350113.Accessed October 12, 2022

Ischemic Stroke. https://medlineplus.gov/ischemicstroke.html.Accessed October 12, 2022

Ischemic Stroke. https://www.stroke.org/en/about-stroke/types-of-stroke/ischemic-stroke-clots.Accessed October 12, 2022

Types of Stroke. https://www.webmd.com/stroke/guide/types-stroke.Accessed October 12, 2022

Types of Stroke. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/stroke/types-of-stroke.Accessed October 12, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/10/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยวิธีที่คุณเองก็ทำได้

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สาเหตุ อาการ และการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 12/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา