ไฮโดรเซฟาลัส หรือ Hydrocephalus คือ ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง เกิดจากความไม่สมดุลของปริมาณน้ำไขสันหลังที่ผลิตออกมาและการดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้มีน้ำไขสันหลังสะสมอยู่ในโพรงสมองมากเกินไป ซึ่งอาจสร้างแรงกดเนื้อเยื่อสมอง และอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ภาวะนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักเกิดขึ้นกับเด็กทารกและผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี
[embed-health-tool-bmi]
Hydrocephalus คือ อะไร
ไฮโดรเซฟาลัส หรือ Hydrocephalus คือ ภาวะที่ร่างกายมีน้ำไขสันหลังไปหล่อเลี้ยงในโพรงสมองมากเกินไป น้ำไขสันหลัง หรือที่เรียกว่าน้ำหล่อสมองและไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid) เป็นของเหลวที่สร้างในโพรงสมองและไหลเวียนอยู่ในโพรงสมองและไขกระดูกสันหลัง ที่ทำหน้าที่คอยรับแรงกระแทกและคอยพยุงสมองและไขสันหลังไม่ให้เคลื่อนที่ ลำเลียงสารอาหารไปยังสมองและนำของเสียไปกำจัด จากนั้นน้ำไขสันหลังจะดูดซึมกลับสู่กระแสเลือด โดยทั่วไปร่างกายจะผลิตน้ำไขสันหลังในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน และดูดซึมน้ำไขสันหลังกลับคืนในปริมาณที่เท่ากัน แต่หากผลิตน้ำไขสันหลังมากเกินไปหรือดูดน้ำไขสันหลังกลับได้น้อยลงน้อยลง อาจทำให้น้ำไปคั่งอยู่ในโพรงสมอง การสะสมของน้ำอาจทำให้เกิดแรงดันในสมองโพรงสมองขยายตัวและกดทับสมองซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของสมองในหลายส่วนและอาจทำให้ศีรษะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ
Hydrocephalus เกิดจากอะไร
สาเหตุของ Hydrocephalus หรือภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองแต่ละประเภท อาจมีดังนี้
สาเหตุของภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองแต่กำเนิด (Congenital Hydrocephalus) เช่น
- โรคสไปนา ไบฟิดา (Spina bifida) เป็นความบกพร่องของกระดูกสันหลังและไขสันหลัง และโรคเกี่ยวกับความบกพร่องของท่อประสาท (Neural tube defects)
- ภาวะท่อระบายน้ำตีบ (Aqueductal stenosis) เป็นการตีบตันของช่องระหว่างโพรงสมองส่วนที่ 3 และ 4
- ภาวะแทรกซ้อนของการคลอดก่อนกำหนด เช่น เลือดออกภายในโพรงมดลูก
- การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน ซึ่งอาจทำให้เนื้อเยื่อสมองของทารกในครรภ์อักเสบ
สาเหตุของภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired Hydrocephalus) เช่น
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ
- โรคหลอดเลือดสมอง
- เนื้องอกที่สมองหรือไขสันหลัง
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือการติดเชื้ออื่น ๆ ในสมองหรือไขสันหลัง
นอกจากนี้ การตกเลือดหรือภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดก็อาจทำให้เกิดภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง (Normal pressure hydrocephalus) เนื่องจากน้ำในสมองไม่สามารถระบายออกได้ตามปกติ และหลายคนก็อาจมีภาวะนี้โดยที่ไม่มีสาเหตุแน่ชัด
Hydrocephalus อาการ เป็นอย่างไร
อาการที่เป็นสัญญาณของ Hydrocephalus อาจมีดังนี้
อาการ Hydrocephalus ในเด็กทารก
- ศีรษะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ
- กระหม่อมนูนหรือบวม (Fontanel)
- ดวงตากลอกลงล่าง ไม่สามารถกลอกขึ้นข้างบนได้
- อาเจียน
- เซื่องซึม ง่วงนอนบ่อย
อาการ Hydrocephalus ในเด็กโต
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีปัญหาด้านการมองเห็น
- มีพัฒนาการล่าช้ากว่าปกติ
อาการ Hydrocephalus ในผู้ใหญ่
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีปัญหาด้านการมองเห็น
- เหนื่อยง่าย
- มีปัญหาในการทรงตัวและการเคลื่อนไหว
- หลงลืม จำอะไรไม่ค่อยได้
นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ที่มีภาวะ Hydrocephalus อาจมีปัญหาสุขภาพ เช่น ปัญหาด้านการเดิน ภาวะสมองเสื่อมเล็กน้อย ควบคุมการถ่ายปัสสาวะไม่ได้ หลงลืม ได้อีกด้วย
Hydrocephalus รักษาอย่างไร
การรักษา Hydrocephalus สามารถทำได้เพียงวิธีเดียว คือ การผ่าตัดสมอง ซึ่งอาจแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่
- การผ่าตัดใส่สายระบายน้ำ (Shunt) เป็นวิธีรักษาที่ใช้บ่อยที่สุด คุณหมอจะใส่ท่อที่ยืดหยุ่นได้เข้าไปเพื่อระบายน้ำที่คั่งในโพรงสมองออกและส่งผ่านไปยังช่องท้องซึ่งสามารถดูดซึมน้ำได้ และอาจจะเปลี่ยนท่อใหม่เมื่อผู้ป่วยเด็กโตขึ้นและอาจจำเป็นต้องใช้ท่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หากมีการติดเชื้อ หรือท่อที่ใส่ใช้ไม่ได้ผล
- การผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปในโพรงสมอง (Endoscopic third ventriculostomy หรือ ETV) เป็นการรักษาด้วยการเจาะรูเล็ก ๆ ที่ผนังโพรงสมองส่วนที่ 3 เพื่อสร้างช่องทางให้น้ำไหลไปยังสมองและบริเวณโดยรอบ และดูดซึมกลับสู่กระแสเลือดได้ตามปกติ มักใช้กับผู้ป่วยอายุ 2 ปีขึ้นไป
Hydrocephalus ภาวะแทรกซ้อน มีอะไรบ้าง
การเกิดภาวะ Hydrocephalus หรือน้ำคั่งในโพรงสมอง แล้วปล่อยให้มีไขสันหลังสะสมในโพรงสมองไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ระบายออก อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ความบกพร่องทางสติปัญญา พัฒนาการ การเจริญเติบโตและการทำงานของร่างกาย หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้