backup og meta

หายใจไม่อิ่ม สัญญาณความผิดปกติระบบทางเดินหายใจและหัวใจของคุณ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 08/02/2021

    หายใจไม่อิ่ม สัญญาณความผิดปกติระบบทางเดินหายใจและหัวใจของคุณ

    ลมหายใจ ก็เหมือนกับระบบที่หล่อเลี้ยงร่างกายส่วนอื่นๆ ที่ต้องทำงานต่อเนื่องตลอดวัน จากข้อเท็จจริงที่ว่า เราหายใจอากาศเข้าไปในร่างกายประมาณ 6 ลิตรต่อนาที จึงเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก ที่กระบวนการนี้ดำเนินไปโดยที่เราแทบจะไม่สังเกตเลย จนกระทั่งเมื่อเราเริ่มมีภาวะหายใจลำบาก หรือ หายใจไม่อิ่ม เราจึงเพิ่งตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการที่สำคัญต่อร่างกายนี้ และยังอาจเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ถึงความผิดปกติบางอย่างของร่างกายเราอีกด้วย

    ทำความเข้าใจภาวะ หายใจไม่อิ่ม

    โดยทั่วไปผู้ป่วยมักอธิบายอาการนี้ว่า “ได้รับอากาศไม่เพียงพอ’ หรือ “ต้องใช้ความพยายามในการหายใจมากขึ้น’ “แน่นหน้าอก’ หรือ “หายใจไม่อิ่ม’ โดยในทางการแพทย์นั้นเรียกอาการนี้ว่า อาการหายใจลำบาก (dysnea) ซึ่งเป็นคำเรียกโดยทั่วไป และไม่ได้เฉพาะเจาะจงอาการแต่เป็นภาวะที่น่าวิตกมากสำหรับผู้ที่มีอาการ และมีแต่ผู้ป่วยเท่านั้นที่จะสามารถอธิบายอาการได้ชัดเจนที่สุด เมื่อมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น

    ภาวะหายใจไม่อิ่มอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง โดยอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันนั้นมักมีอาการรุนแรง และเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน เช่น มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปเป็นอุปสรรคต่อการหายใจ หรือมีอาการหอบหืด ในขณะที่อาการแบบเรื้อรังนั้น จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีอาการแย่ลงตามลำดับ อย่างที่เกิดกับภาวะหัวใจล้มเหลว หรือโรคหอบหืด

    สาเหตุของการหายใจไม่อิ่ม

    ภาวะหายใจไม่อิ่มสามารถแบ่งออกได้ทั้งแบบเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรัง หรือแบ่งตามต้นตอของสาเหตุ ได้แก่ ปอด หัวใจ ระบบหายใจส่วนบน ระบบประสาทส่วนกลาง สภาพจิตใจ กล้ามเนื้อและกระดูก หรือ ต่อมไร้ท่อ

    แต่โดยทั่วไปภาวะหายใจไม่อิ่ม มักเกิดจากสาเหตุที่ปอดหรือระบบหัวใจและหลอดเลือด แต่ในบางกรณีอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น โรคแพนิค (อาการทางจิตเวช) โรคทางระบบประสาท และ ภาวะเลือดเป็นกรด หรือเกิดจากต่อมไร้ท่อ นอกจากนี้ ยาบางชนิดยังอาจเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดภาวะการหายใจไม่อิ่มได้เช่นกัน

    อย่างไรก็ตาม สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะหายใจไม่อิ่มมักเกิดขึ้นจากสาเหตุเหล่านี้

    โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

    โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease: COPD) เป็นอาการที่เกิดมาจากโรคปอด ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือมีอาการทางระบบหายใจอย่างต่อเนื่อง และหลอดลมตีบแคบ ซึ่งภาวะหลอดลมตืบแคบนั้นเกิดจากหลากหลายสาเหตุ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบแบบเรื้อรัง และ โรคหอบหืดชนิดรุนแรง

    ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุเกินสี่สิบปีขึ้นไป และส่วนใหญ่เคยสูบบุหรี่ หรือเป็นผู้สูบบุหรี่ โดยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนี้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ก่อให้เกิดภาวะหายใจไม่อิ่มในผู้ใหญ่

    โรคหอบหืด

    หอบหืดนั้นเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ที่เกิดจากภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง นำไปสู่อาการทางเดินหายใจอุดกั้น การอักเสบนั้นทำให้หลอดลมบวมหรือคัดแน่น และผลิตสารคัดหลั่งปริมาณมาก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหายใจลำบาก

    ผู้ป่วยหอบหืดอาจมีอาการภูมิแพ้หลายอย่างร่วมด้วย ปัจจัยที่อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดอาการ ได้แก่ การระคายเคืองที่ระบบหายใจ สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ การออกกำลังกาย อากาศเปลี่ยน หรือทางเดินหายใจติดเชื้อ เป็นต้น โรคหอบหืดนั้นถือเป็นโรคเรื้อรัง แต่อาจเกิดอาการขึ้นแบบฉับพลันรุนแรง หากมีปัจจัยภายนอกเป็นตัวกระตุ้นจนอาการกำเริบ ในการณีเช่นนี้ อาการหอบหืดจะแย่ลงอย่างทันที ทำให้ทางเดินของอากาศบวม และเยื่อมูกข้นหนากว่าปกติ

    ปอดบวม

    ปอดบวม (Pneumonia ) คืออาการอักเสบด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองข้างของปอด เนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา การอักเสบเกิดขึ้นในถุงลมในปอด ซึ่งจะอัดแน่นไปด้วยของเหลวหรือหนอง เป็นสาเหตุทำให้หายใจลำบาก คุณอาจพบอาการเจ็บปวด เป็นไข้ ไอ จากปอดบวม รวมถึงภาวะหายใจไม่อิ่มก็เป็นหนึ่งในอาการที่เกิดในผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคปอดบวม โดยสามารถให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่มแบบฉับพลันทันทีหรือเรื้อรัง

    โรคเนื้อเยื่อระหว่างถุงลมปอดอักเสบ

    โรคเนื้อเยื่อระหว่างถุงลมปอดอักเสบ (Interstitial lung diseases) เป็นโรคที่เกิดกับกลุ่มเนื้อเยื่อระหว่างถุงลมปอด ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่ออาการบาดเจ็บของปอด กระตุ้นให้เกิดการเยียวยาตัวเองแบบผิดปกติ เมื่อมีอาการบาดเจ็บในปอดเกิดขึ้น ทำให้เนื้อเยื่อระหว่างถุงลมปอดเกิดแผลเป็นและมีความหนาขึ้น จึงทำให้ออกซิเจนผ่านเข้าไปในกระแสเลือดได้ยากขึ้น

    ผู้ป่วยโรคเนื้อเยื่อระหว่างถุงลมปอดอักเสบนั้นมักมีอาการหายใจไม่อิ่มแบบเรื้อรัง และไอแห้งๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สูบบุหรี่จัด

    โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด

    โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism ) เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดแดงในปอดโดยลิ่มเลือดนั้นเคลื่อนตัวมาจากส่วนอื่นในร่างกายผ่านทางระบบไหลเวียเลือด และเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดตามมา โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดแบบเฉียบพลันนั้น บ่อยครั้งมักแสดงอาการหายใจไม่อิ่ม และผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บหน้าอก และบางครั้งไอเป็นเลือด

    โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากสาเหตุที่ลิ่มเลือดจากต้นขานั้นไหลเข้ามาที่ระบบไหลวเวียนเลือดของปอด ลิ่มเลือนี้อาจเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ เกิดจากโรคอ้วน มะเร็ง หรือสาเหตุอื่นๆ ซึ่งผู้ป่วยนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการก่อตัวของลิ่มเลือดในร่างกาย

    ภาวะหัวใจล้มเหลว

    ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure) เป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อย เนื่องจากการปั้มเลือดในหัวใจทำงานลดลง อาจเกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย เนื่องจากสาเหตุบางอย่างที่ทำให้หัวใจอ่อนแอลง หรือแข็งเกินกว่าจะบีบตัวและปั้มเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สาเหตุเหล่านี้ได้แก่หลอดเลือดรอบหัวใจแคบตีบ (โรคหลอดเลือดหัวใจ) โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคลิ้นหัวใจ การลดลงของอัตราการบีบตัวและสูบฉีดเลือดเพื่อนำไปหล่อเลี้ยงร่างกาย เป็นสาเหตุให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่ม เหนื่อยหอบ สมรรถนะทางร่างกายลดลง และเกิดภาวะคั่งน้ำ

    สาเหตุหลักของอาการหายใจไม่อิ่มส่วนใหญ่ มักเกิดจากอาการของโรคหัวใจและโรคปอดเรื้อรัง ที่จริงแล้ว โรคหัวใจและโรคปอดมักเกิดในคนไข้คนเดียวกันในเวลาเดียวกัน แพทย์จึงอาจทำการค้นหาสาเหตุทั้งสองอย่าง ถ้าคุณบ่นว่ามีอาการหายใจไม่อิ่ม

    หากคุณรู้สึกทรมานจากภาวะหายใจไม่อิ่ม อย่าตื่นตระหนก และขอรับความช่วยเหลือจากสถานพยาบาลใกล้บ้าน แม้ว่าสัญญาณเตือนดังกล่าว อาจคล้ายคลึงกับโรคหัวใจและโรคปอด แต่คุณควรพิจารณาสาเหตุจากโรคโลหิตจาง โรคอ้วน และการไม่ค่อยออกกำลังกายด้วยเช่นกัน

    อาการหายใจไม่อิ่มในเด็ก

    โปรดจำไว้ว่า สาเหตุข้างต้นส่วนใหญ่แล้วจะส่งผลต่อผู้ใหญ่ ขณะที่สำหรับเด็ก ภาวะหายใจไม่อิ่มแบบรุนแรงฉับพลัน มักเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุของการติดเชื้อไวรัส และการอักเสบในบริเวณหลอดลม อย่างเช่นโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงและลิ้นปิดกล่องเสียง เป็นต้น

    นอกจากนี้ ความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติของเด็กอาจก่อให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่ม อันเนื่องจากสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย หรือเกิดการสำลัก สิ่งของอาจอุดกั้นทางเดินหายใจ และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างฉุกเฉินในทันที

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 08/02/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา