“หัวใจล้มเหลว’ เป็นอาการทางสุขภาพที่อันตราย และไม่ควรมองข้ามเพราะเป็นภาวะที่อาจนำไปสู่การสูญเสียชีวิตได้ โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิด ภาวะหัวใจล้มเหลว ก็มาจากปัจจัยในการดำเนินชีวิตแบบสุ่มเสี่ยงที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป และอาจจะไม่รู้ว่าตนเองกำลังเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพหัวใจในทุกๆ วัน อย่างไรก็ตาม หากสุขภาพหัวใจย่ำแย่เพราะการใช้ชีวิต เราก็สามารถ ป้องกันหัวใจล้มเหลว ได้ เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่เราจะป้องกันความเสี่ยงของหัวใจได้ด้วยวิธีไหนได้บ้างนั้น มาติดตามกันได้ที่บทความนี้เลยค่ะ จาก Hello คุณหมอ
หัวใจล้มเหลว อันตรายอย่างไร
ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) ถือว่าเป็นอาการทางสุขภาพที่ค่อนข้างอันตรายเพราะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ แต่นอกจากความเสี่ยงสูงสุดถึงชีวิตแล้ว หัวใจล้มเหลวก็ยังมีผลกระทบต่อกระบวนการทำงานของระบบอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น
ปัญหาเกี่ยวกับไต
หากมีภาวะเกี่ยวกับหัวใจล้มเหลว ก็จะไปลดอัตราการไหลเวียนของเลือดที่จะต้องลำเลียงเลือดไปยังไต ซึ่งถ้าหากเลือดไม่ไหลเวียนไปที่ไต หรือไหลเวียนไปยังไตได้น้อย ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการไตวาย ซึ่งก็อันตรายถึงชีวิตได้เช่นกันหากไม่ได้รับการรักษา
ปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ
ลิ้นหัวใจ เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ควบคุมทิศทางการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจ แต่ทิศทางการไหลเวียนเลือดที่จะต้องผ่านไปยังหัวใจอาจผิดปกติได้หากหัวใจมีความดันสูงเนื่องจาก หัวใจล้มเหลว
ปัญหาอัตราการเต้นของหัวใจ
หัวใจเต้นเร็วไปก็ไม่ดี เต้นช้าไปก็ไม่ได้ อัตราการเต้นของหัวใจควรจะอยู่ในระดับที่พอดี แต่สำหรับผู้ที่มีอาการหัวใจล้มเหลวนั้น จะมีปัญหาเกี่ยวกับการเต้นของหัวใจ หรือหัวใจอาจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของภาวะหัวใจล้มเหลว
ตับถูกทำลาย
ภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถส่งผลกระทบไปยังตับได้ เนื่องจากจะไปทำให้เกิดการสะสมของเหลวไว้ที่ตับ เมื่อตับมีการสะสมของเหลวเอาไว้มากเกินไป จนกระทั่งกลายเป็นความดันที่ตับ ก็จะส่งผลให้ตับทำงานได้ลำบากมากขึ้น
เห็นได้ว่าภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อการทำงานของหัวใจเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปยังการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ด้วย ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเสียชีวิตทั้งสิ้น
ใครคือกลุ่มเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลว
ผู้ที่จะมีอาการ หัวใจล้มเหลว หรือเสี่ยงที่จะมีภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น อาจมาจากปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
- อายุที่มากขึ้น
ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว เนื่องจากสุขภาพกายและสุขภาพหัวใจที่เสื่อมโทรมลง
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
หากการทำงานของหัวใจมีปัญหา หรือมีความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ ก็อาจจะนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
- ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและหัวใจวาย
เพราะเป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของแบคทีเรียในหลอดเลือดแดง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการไหลเวียนเลือดไปยังหัวใจ อาจทำให้หัวใจวายหรือ หัวใจล้มเหลว ได้
- ผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงเป็นผู้ร้ายของหัวใจ ใครก็ตามที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพที่เกี่ยวกับความดันโลหิตสูงล่ะก็ ถือว่ามีความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลว เพราะความดันโลหิตที่พุ่งสูงขึ้น หัวใจจำเป็นที่จะต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อลำเลียงเลือดไปเลี้ยงยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งหรืออ่อนเกินไปที่จะทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือด ส่งผลให้เกิดหัวใจล้มเหลวได้ในที่สุด
- หัวใจพิการแต่กำเนิด
หากมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจตั้งแต่กำเนิด ก็จะทำให้การทำงานของหัวใจนั้นเป็นไปอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น อาจทำงานหนักกว่าหรือน้อยกว่าผู้ที่มีสุขภาพหัวใจปกติแต่กำเนิด และนั่นอาจเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
เพราะโดยมากแล้วผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมักจะมีอาการความดันโลหิตสูง ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้หัวใจทำงานหนักจนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
- ผู้ที่รับประทานยารักษาโรคบางชนิด
จากการศึกษาพบว่าตัวยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคเบาหวานอย่าง โรสิกลิทาโซน (Rosiglitazone) และไพโอกลิตาโซน (Pioglitazone) หรือยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ NSAID และอีกหลายตัวยา สามารถเพิ่มความเสี่ยงของ หัวใจล้มเหลว ได้ จึงควรสอบถามแพทย์และเภสัชกร หรือควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง อย่าหยุดหรือกินยาเองโดยนที่ไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การหายใจที่ผิดจังหวะในขณะนอนหลับตอนกลางคืนนั้นจะทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง และมีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งอาจเสี่ยงทำใจหัวใจอ่อนแอลงจนหัวใจล้มเหลวได้
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่เป็นประจำ
การดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไป หรือดื่มติดต่อกันมากจนเกินไปจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ ขณะที่การสูบบุหรี่มากๆ ก็เป็นตัวการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลวเช่นกัน
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน
เมื่อเป็นโรคอ้วน ก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคเรื้อรังชนิดอื่นๆ ตามมา หนึ่งในนั้นคือโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ รวมถึง หัวใจล้มเหลว ด้วย
ป้องกันหัวใจล้มเหลว ได้อย่างไรบ้าง
ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของหัวใจ ซึ่งปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติที่หัวใจ ก็มักจะมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบผิดๆ หรือสุดโต่งโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพ ดังนั้นการหันมาปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวันของเรา ก็จะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของหัวใจล้มเหลวได้ โดยอาจเริ่มจากการ
เลิกสูบบุหรี่
ในบุหรี่มีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า นิโคติน ซึ่งการสูบบุหรี่และนำสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายในแต่ละครั้งจะเป็นการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และเพิ่มความดันโลหิต รวมถึงยังส่งผลให้ระดับของออกซิเจนในเลือดลดน้อยลงด้วย ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่น้อยหรือไม่สูบบุหรี่เลย จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นหัวใจล้มเหลวน้อยกว่าผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
ลดหรือเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
ทุกคนสามารถดื่มแอลกอฮฮล์ได้ การดื่มแอลกอฮอล์แค่ 1-2 แก้วอาจไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากนัก แต่การดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันมากจนเกินไปจะมีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอลง และเพิ่มโอกาสที่จะเป็น หัวใจล้มเหลว
ลดน้ำหนัก
แม้เป้าหมายปลายทางของการลดน้ำหนักมักจะทำไปเพื่อการมีรูปร่างและบุคลิกภาพดีเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ตนเอง แต่ประโยชน์ที่ได้ควบคู่กันไปด้วยก็คือ ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน เพราะน้ำหนักตัวที่มากจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็ง และทำงานหนัก ตามมาด้วยความเสี่ยงเรื้อรังทั้งโรคหัวใจ เบาหวานความดันโลหิตสูง รวมถึงภาวะหัวใจล้มเหลวด้วย
ออกกำลังกายให้มากขึ้น
การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยลดน้ำหนักและทำให้หุ่นดีแล้ว ก็ยังลดความเสี่ยงต่อสุขภาพมากมาย ทั้งยังเสริมความแข็งแรงให้แก่ร่างกายอีกด้วย โดยเฉพาะสุขภาพหัวใจ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ระบบเลือดไหลเวียนได้ดี อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในระดับปกติ สุขภาพหัวใจแข็งแรง โดยกิจกรรมที่เหมาะสมคือการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เพราะเป็นการออกกำลังกายที่เน้นการทำงานของหัวใจ
อย่างไรก็ตาม หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอยู่แล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำก่อนที่จะเริ่มการออกกำลังกาย เพื่อจะได้สามารถเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมและไม่ทำให้โรคหัวใจที่เป็นอยู่แย่ลง
ใส่ใจกับอาหารการกิน
เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพทั้งผัก ผลไม้ ธัญพืช และเนื้อสัตว์ กินอาหารที่ไม่ช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และในระยะยาวอาจนำไปสู่ หัวใจล้มเหลว ได้
ไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
อีกหนึ่งการป้องกันความเสี่ยงของสุขภาพที่ดีที่สุด นั่นก็คือการรับรู้ความเสี่ยงและหาทางหยุดความเสี่ยงนั้น ซึ่งวิธีนั้นก็คือการไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้รับคำวินิจฉัยและคำแนะนำที่มีประโยชน์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และหาแนวทางการรับมือ รวมถึงการริเริ่มหันมาใส่ใจกับสุขภาพตนเองมากขึ้น
[embed-health-tool-heart-rate]