ปัญหาผิวจากเชื้อเอชไอวี คือ อาการของโรคผิวหนังต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อเอชไอวี เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายค่อย ๆ ถูกทำลายลง ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงสุขภาพผิวหนังอ่อนแอจนเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายและทำลายอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงผิวหนังให้เกิดความเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม โรคผิวหนังบางชนิดที่เกิดจากเชื้อเอชไอวี อาจป้องกันและรักษาได้
[embed-health-tool-bmr]
ปัญหาผิวจากเชื้อเอชไอวี เกิดขึ้นได้อย่างไร
ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับผิวหนังในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุ 3 ประการ ดังนี้
- ระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกทำลายโดยเชื้อเอชไอวี ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เมื่อเกิดบาดแผลก็ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ เกิดเป็นปัญหาผิว หรือแผลที่ผิวหนัง โดยผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกของการติดเชื้อเอชไอวี อาจมีอาการคล้ายเป็นไข้ ซึ่งเรียกว่าอาการ Seroconversion Illness โดยจะมีผื่นแดงขึ้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่อาการมักไม่รุนแรงมากนัก ในช่วงที่กำลังติดเชื้อและระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จะเกิดปัญหาด้านผิวหนังอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การเกิดสิว รากขนอักเสบ และการติดเชื้อที่รากขน
- ผิวหนังติดเชื้อง่าย เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเอชไอวี อาจมีแผล ตุ่ม หนอง คัน บางรายทนไม่ไหวจึงเกาจนเกิดการติดเชื้อและลุกลามกลายเป็นปัญหาผิวหรือโรคผิวหนัง
- ผลข้างเคียงของยาที่รักษาเชื้อเอชไอวี อาจเป็นสาเหตุให้ผิวหนังบางลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อจนกลายเป็นโรคผิวหนังได้ในที่สุด อาจจะมีความรุนแรงมาก และจำเป็นต้องรับการรักษาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ผลกระทบต่อผิวหนังจากการรักษาด้วยยาเมื่อติดเชื้อเอชไอวีมักเห็นได้ชัดที่สุด เนื่องจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้ผิวหนังมีความต้านทานต่อเชื้อไวรัส เช่น เชื้อเฮอร์พีส์ (herpes) ได้น้อยลง ส่งผลให้เกิด ปัญหาผิวจากเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะแผลบริเวณรอบริมฝีปากหรืออวัยวะสืบพันธุ์
โรคผิวหนังที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อเอชไอวี
โดยปกติแล้วปัญหาผิวจากเชื้อเอชไอวีมักทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันสามกลุ่มหลัก คือ การติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อรา และการติดเชื้อไวรัส ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาที่เชื่อมโยงกับสุขภาพผิวหนัง ดังต่อไปนี้
- โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrhoeic dermatitis) เกิดขึ้นจากการติดเชื้อรา มักเกิดขึ้นในบริเวณที่มีขน โดยปกติแล้วดูเหมือนรังแคสีเหลือง ซึ่งเป็นอาการติดเชื้อเอชไอวีที่พบได้ทั่วไป และอาจรักษาได้ด้วยการทาขี้ผึ้ง ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ครีมทาเชื้อรา หรือยาเม็ด เป็นต้น นอกจากนี้ แชมพูรักษารังแคหรือเชื้อรา ก็ยังสามารถช่วยรักษาปัญหาเกี่ยวกับหนังศีรษะบางประการได้อีกด้วย
- โรคกลาก เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา ทำให้ผิวหนังเป็นรอยแดงเป็นขุย และรอยด่างขาว โดยสามารถรักษาได้ด้วยยาทาน้ำมันทีทรีแบบเจือจาง วิธีป้องกัน คือพยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารที่ก่อให้เกิดระคายเคือง เช่น สารดับกลิ่นกาย
- รูขุมขนอักเสบ เป็นการติดเชื้อที่ผิวหนัง ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากยีสต์ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยยาทาต้านเชื้อรา
- ตุ่มพุพอง เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ซึ่งบ่งชี้ได้ด้วยแผลสีเหลือง หรือแผลมีขอบสีแดง ต่อมรากขน (Skin follicles) อาจติดเชื้อด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดฝีที่ผิวหนัง รักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะตามที่คุณหมอสั่งเท่านั้น หรืออาจปรึกษาเภสัชกรตามร้านขายยาใกล้บ้าน
- สิวนูนขนาดเล็กอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ซิฟิลิส ไวรัสหูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) หรือการติดเชื้อราคริพโตค็อกโคซิส (cryptococcosis) ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และต้องเข้ารับการรักษาที่คลินิกเฉพาะทางสำหรับการติดเชื้อเอชไอวี
หากเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการผิดปกติที่ส่งผลกระทบต่อผิวหนังหลังจากติดเชื้อเอชไอวี ควรขอเข้ารับคำปรึกษาเพิ่มเติมจากคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และเตรียมเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป