backup og meta

ไวรัสตับอักเสบเอ อีกหนึ่งโรคติดต่ออันตรายที่คุณป้องกันได้

ไวรัสตับอักเสบเอ เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อตับ โรคไวรัสตับอักเสบเอ ถูกจัดให้เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง และสามารถกลายเป็นโรคระบาดที่รุนแรง จนทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้ เบื้องต้นเราลองมาหาความรู้จากโรคนี้ในบทความที่ Hello คุณหมอนำมาฝากกัน

โรคไวรัสตับอักเสบเอ คืออะไร

โรคไวรัสตับอักเสบเอ หรือโรคตับอักเสบเอ เกิดจากไวรัสตับอักเสบเอ ที่สามารถอยู่รอดได้ในสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ อาหาร ได้เป็นเวลานานที่ระดับค่า pH ต่ำและอุณหภูมิต่ำ

โรคไวรัสตับอักเสบเอ เป็นโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ อาการป่วยมีตั้งแต่เล็กน้อยเป็นระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ ไปจนถึงอาการป่วยรุนแรงนานหลายเดือน

โรคไวรัสตับอักเสบเอ จะปรากฏแบบเฉียบพลันแค่ในช่วงแรกของการติดเชื้อ คนที่เป็นโรคนี้มักจะหายได้เอง โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา ต่างจากโรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคไวรัสตับอักเสบซี ที่สามารถกลายเป็นโรคตับเรื้อรังได้

การแพร่เชื้อ

การแพร่เชื้อของโรคไวรัสตับอักเสบเอ เป็นการแพร่เชื้อผ่านทางอุจจาระหรือทางปาก โดยผ่านปัจจัยเหล่านี้

  • การสัมผัสจากคนสู่คน เช่น การกัด แต่ไม่สามารถถ่ายทอดผ่านทางการสัมผัสทั่วๆ ไป เช่น การกอด การจับมือ การแตะตัว
  • เมื่อผู้ที่ติดเชื้อใช้มือสกปรกสัมผัสกับสิ่งของ หรือเตรียมอาหารให้ผู้อื่น
  • เมื่อไม่ได้ล้างมือ หรือทำความสะอาดสิ่งของและบริเวณที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
  • มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ป้องกัน ไม่ว่าจะทางทวารหนัก ช่องคลอด ออรัลเซ็กส์ เป็นต้น
  • บริโภคอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน เนื่องจากเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ สามารถแพร่กระจายผ่านน้ำและอาหารสกปรกได้ อาหารที่มีแนวโน้มปนเปื้อนเชื้อไวรัสตับอักเสบเอได้ง่าย ได้แก่ อาหารแช่แข็ง อาหารที่มักรับประทานโดยไม่ปรุงสุก เช่น ผัก ผลไม้ น้ำ

โรคไวรัสตับอักเสบเอ สามารถแพร่กระจายผ่านทางน้ำได้ ทำให้กลายเป็นโรคระบาดในวงกว้าง และสุดท้าย ก็อาจกลายเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

อาการของโรค ไวรัสตับอักเสบเอ

อาการจะเริ่มปรากฏหลังจากติดเชื้อประมาณ 14 ถึง 28 วัน อย่างไรก็ตาม อาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล บางคนอาจเป็นไวรัสตับอักเสบเอแล้วไม่แสดงอาการใดๆ เลยก็ได้

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบเอ มีดังนี้

  • เหนื่อยอ่อน
  • เป็นไข้
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ปวดข้อต่อ
  • ปวดท้อง
  • ตาเหลือง หรือผิวเหลือง

ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบเอ ที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี มักไม่แสดงอาการใดๆที่สังเกตได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณมีอาการข้างต้น ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม

การรักษา

คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคตับอักเสบเอ ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลใดๆ โรคนี้มักดีขึ้นหลังจากผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ แต่บางคนอาจมีอาการนานถึง 6 เดือน

ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อหาทางเลือกในการรักษาที่ดีที่สุด ในขณะเป็นโรคไวรัสตับอักเสบเอ ควรตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อเฝ้าสังเกตอาการและความคืบหน้าในการฟื้นฟูร่างกาย

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ

คุณสามารถหลีกเลี่ยงโรคตับอักเสบเอได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยต้องรับวัคซีนสองครั้ง สำหรับการป้องกันอย่างเต็มที่ เด็กทุกคนและผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้สูง ควรได้รับการฉีดวัคซีน

หากคุณต้องเดินทางไปยังบริเวณที่พบโรคตับอักเสบเอหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ก็ควรได้รับวัคซีนก่อนเดินทาง หรือรับวัคซีนให้เร็วที่สุดเมื่อไปถึงที่หมายแล้ว หลังจากที่คุณหายจากโรคไวรัสตับอักเสบเอแล้ว คุณก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตัวนี้ อย่างไรก็ตาม คุณยังสามารถติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นได้อยู่

คุณสามารถป้องกันตัวเองจากการเป็นโรคไวรัสตับอักเสบเอ ได้ด้วยการ

  • ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด ทั้งก่อนการรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ
  • ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
  • ดื่มน้ำที่สะอาดปลอดภัย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hepatitis A. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs328/en/. Accessed November 8, 2016.

Viral Hepatitis – Hepatitis A Information. http://www.cdc.gov/hepatitis/hav/afaq.htm. Accessed November 8, 2016.

Epidemiology and Prevention of Vaccine-Preventable Diseases. http://www.cdc.gov/vaccines/pubs/pinkbook/hepa.html. Accessed November 8, 2016.

Hepatitis A. http://wwwnc.cdc.gov/travel/yellowbook/2016/infectious-diseases-related-to-travel/hepatitis-a. Accessed November 8, 2016.

Hepatitis A. https://www.niddk.nih.gov/health-information/health-topics/liver-disease/hepatitis-a/Pages/ez.aspx. Accessed November 8, 2016.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattavara Pasathan


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคตับกับระดับคอเลสเตอรอล ความสัมพันธ์ที่คุณควรรู้ เพื่อดูแลตัวเองให้ถูกต้อง

โรคตับกับอาหาร ควรรับประทานอย่างไรให้เหมาะสมกับสุขภาพ


ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง โดย ทีม Hello คุณหมอ · เขียน โดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไข 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา