backup og meta

ความสัมพันธ์กับอาหาร เมื่อความรู้สึก อาหารและสุขภาพล้วนสัมพันธ์กัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 16/12/2020

    ความสัมพันธ์กับอาหาร เมื่อความรู้สึก อาหารและสุขภาพล้วนสัมพันธ์กัน

    ความสัมพันธ์กับอาหาร ก็เปรียบเสมือนความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความแบบเพื่อน ความสัมพันธ์แบบคนรัก ที่จะต้องใช้เวลาจึงจะดีขึ้นได้ หลาย ๆ คนอาจจะงงว่าความสัมพันธ์กับอาหารคืออะไร วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับอาหารมาให้อ่านกัน

    ความสัมพันธ์กับอาหาร คืออะไร

    ความสัมพันธ์กับอาหารเป็นเรื่องของการรับประทานอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งความสัมพันธ์กับอาหารที่ดีนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่เราไม่กำหนดหรือบังคับการรับประทานอาหารของตนเองมากจนเกินไป และเป็นรูปแบบการรับประทานอาหารที่นอกจากดีต่อใจแล้วยังต้องดีต่อสุขภาพอีกด้วย

    ที่สำคัญคุณจะต้องไม่รู้สึกผิดเมื่อรับประทานอาหารเหล่านั้นเข้าไปแล้ว ความสัมพันธ์กับอาหารนั้นไม่ได้แตกต่างจากความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น ๆ เลย เป็นความสัมพันธ์ที่ต้องใช้เวลาจึงจะดีขึ้นได้ ความสัมพันธ์ที่ดีกับอาหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพหรือประเภทของอาหารที่รับประทาน แต่ขึ้นอยู่กับการเลือกรับประทานอาหารอย่างไร และเหตุผลที่เลือกรับประทานมากกว่า ดังนั้น หากคุณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอาหารก็จะช่วยให้รู้สึกไม่เครียด ไม่กังวลเมื่อรับประทานอาหาร

    สัญญาณที่บ่งบอกว่า ความสัมพันธ์กับอาหาร ของคุณไม่ดี

    การจะเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับอาหารได้ อันดับแรกคุณจะต้องรู้ก่อนว่าอะไรที่เรียกว่าความสัมพันธ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับอาหาร เพื่อที่จะได้เริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับอาหารได้อย่างถูกต้อง

    สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับอาหาร

    • รู้สึกผิดเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร
    • หลีกเลี่ยงหรือจำกัดอาหารที่ไม่รู้สึกว่า ‘ไม่ดีต่อสุขภาพ’
    • มีกฎในการรับประทานอาหาร เช่น รายการที่ห้ามกินเด็ดขาด
    • กังวลกับแคลอรี่ที่รับประทานมากเกินไป
    • ปล่อยให้ร่างกายหิว โดยที่ไม่รับประทานอาหาร
    • กังวลหรือมีความกลัวการถูกตัดสินจากผู้อื่น เกี่ยวกับการเลือกรับประทานอาหาร

    สร้างความสัมพันธ์กับอาหาร ให้ดีขึ้นด้วยวิธีเหล่านี้

    อนุญาตให้ตัวเองรับประทานอาหารโดยไม่มีเงื่อนไข

    สำหรับบางคนที่อยู่ในช่วงลดน้ำหนัก อาจสร้างเงื่อนไขในการรับประทานอาหารให้ตัวเอง เช่น เมื่อรับประทานมื้อกลางวันมาก ก็เลือกที่จะงดมื้อเย็น แม้ว่าร่างกายจะหิวขนาดไหนก็ตาม ซึ่งการสร้างเงื่อนไขในรูปแบบเช่นนี้ ถือว่าไม่ถูกต้องนัก หากร่างกายหิวก็ควรรับประทาน เพราะอาหารแต่ละมื้อมีความสำคัญในแบบที่แตกต่างกันออกไป

    หยุดโทษตัวเอง

    บางครั้งหมูกระทะ ไอศกรีม หรือขนมหวาน ก็ยั่วยวนใจจนเราไม่สามารถอดใจที่จะไม่กินได้ แต่พอกินเข้าไปก็โทษตัวเองอยู่บ่อย ๆ ว่าไม่ควรรับประทานอาหารเหล่านี้ เพราะมันจะทำให้อ้วนและไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งการโทษตัวเองจะยิ่งทำให้เกิดความเครียด และวิตกกังวล ที่สำคัญจะยิ่งทำให้เราไม่มีความสุข

    รับประทานเมื่อหิว

    โดยธรรมชาติแล้วร่างกายจะบ่งบอกเมื่อเรารู้สึกหิว หรือเมื่อรับประทานไปแล้วเมื่อรู้สึกอิ่มร่างกายก็จะบ่งบอกเช่นกัน แต่บางวัฒนธรรมการกิน พ่อแม่มักจะบอกให้รับประทานให้หมด ทำให้บางครั้งเรากังวลเรื่องนี้จนลืมไปว่าร่างกายนั้นรู้สึกอิ่มแล้วไม่ควรรับประทานต่อ หรือเสียดายอาหารที่เหลืออยู่ จึงพยายามกินให้หมดแม้จะอิ่มแล้วก็ตาม วิธีเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ช่วยให้มีความสัมพันธ์กับอาหารที่ดี

    มีสมาธิกับการรับประทานอาหาร

    การมีสมาธิกับการรับประทานอาหาร โดยไม่ทำกิจกรรมอื่น ๆ ไปด้วย หรือไม่กินอย่างรีบร้อน ช่วยให้คุณมีความสัมพันธ์กับอาหารที่ดีขึ้นได้

    การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอาหาร ก็จะช่วยให้คุณรับประทานอาหารอย่างมีความสุข โดยไม่มีข้อแม้ เห็นคุณค่าในการรับประทานอาหาร ที่สำคัญยังช่วยให้รู้สึกมีความสุขเมื่อได้รับประทานอาหาร นอกเหนือจากนั้นแล้ว หลักที่สำคัญอีกอย่างที่ช่วยให้คุณมีความสัมพันธ์กับอาหารที่ดีขึ้นได้คือรับประทานอย่างพอเหมาะ และรู้ตนเอง เพียงเท่านี้คุณก็จะได้รับประโยชน์จากอาหารที่ดีต่อทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 16/12/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา