backup og meta

เครียดจัด คลายได้ จัดการกับความเครียด อย่างไรให้ได้ผล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 13/08/2020

    เครียดจัด คลายได้ จัดการกับความเครียด อย่างไรให้ได้ผล

    ความเครียด เป็นเรื่องที่ทุก ๆ คนล้วนต้องเคยเจอกันมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการทำงาน ปัญหาทางครอบครัว หรือปัญหาทางด้านการเงิน ความเครียดอาจจะเป็นเรื่องที่สร้างความวิตกกังวล ไม่สบายใจให้กับใครหลาย ๆ คนแต่บางครั้งความเครียดบางอย่าง ก็มีข้อดีคือ ช่วยให้คุณมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถแก้ได้ตรงจุด หรือช่วยให้มีแรงฮึดสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น วันนี้ Hello คุณหมอ มีบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับการ จัดการกับความเครียด ที่เกิดขึ้น มาฝากกันค่ะ

    ทำความรู้จักกับ ความเครียด ให้มากขึ้น

    ความเครียดนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากหลาย ๆ สาเหตุ ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากเรื่องงาน ปัญหาสุขภาพ การเงิน หรือแม้แต่กระทั่งปัญหาด้านการเรียน ถึงแม้สาเหตุของความเครียดที่เกิดขึ้นนั้น จะเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป แต่ว่าการตอบสนองต่อความเครียดนั้นมักจะมีอาการคล้ายๆ กัน ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจนั้นจะทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลให้เกิด ความเครียด ซึ่งความเครียดที่เกิดขึ้นนั้นยังส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบประสาท

    ประเภทของความเครียด

    สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ (The National Institute of Mental Health หรือ NIMH) ได้แบ่งประเภทความเครียดออกเป็น 2 ชนิด คือ ความเครียดฉับพลัน และความเครียดเรื้อรัง

    ความเครียดแบบฉับพลัน

    ความเครียดแบบฉับพลัน เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน มีระยะสั้น ซึ่งความเครียดชนิดนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความกดดัน หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เรามักจะเกิดความวิตกกังวลในอนาคต เช่น การลุ้นผลสอบ การนำเสนองาน การสัมภาษณ์งาน ซึ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อผ่านไปแล้ว ความเครียดก็จะค่อยๆ คลายลงด้วยเช่นกัน

    ความเครียดเรื้อรัง

    ความเครียดเรื้อรัง เป็นความเครียดที่มีการสะสมความเครียดมาเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งความเครียดแบบนี้มักจะส่งผลต่อสุขภาพมากกว่าเพราะ ความเครียดสะสม ที่มีมานาน เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาครอบครัว ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งก็จะส่งผล ให้เกิดความเครียดเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้เหตุการณ์เลวร้ายในอดีตที่ไม่สามารถลืมได้ ก็อาจทำให้เกิดความเครียดชนิดนี้ได้ด้วย

    จัดการกับความเครียด ที่เกิดขึ้นอย่างไรให้ได้ผล

    หลายๆ คนอาจจะมีวิธีจัดการกับความเครียดที่แตกต่างกันออกไป การจัดการความเครียดด้วย 3 ขั้นตอนง่ายๆ ต่อไปนี้ก็สามารถช่วยให้คุณขจัดความเครียดได้ ดังนี้

    รับรู้ปัญหาที่เกิด

    ปัญหาความเครียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมักจะส่งผลต่อร่างกายด้วยอาการต่าง ๆ เช่น ปวดหัวไมเกรน เหนื่อยง่าย อ่อนล้า เพลีย ซึ่งปัญหาทางร่างกายเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าความเครียดนั้น ส่งผลต่อร่างกายเป็นอย่างมาก

    หาสาเหตุของความเครียด

    การจะแก้ปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นได้นั้น จะต้องรู้ถึงปัญหาที่แท้จริงก่อน ในช่วงนั้นอาจจะมีหลายๆ ปัญหาถาโถมเข้ามาพร้อม ๆ กัน เราจะต้องแยกแยะก่อนว่าอารมณ์ ความเครียดที่เกิดขึ้นนั้น ปัญหาเรื่องใดเป็นเรื่องที่ทำให้เรามีความเครียดมากที่สุด โดยแบ่งปัญหาของความเครียดออกเป็น 3 ประเภท คือ

    • ปัญหาที่ที่มีทางออก และสามารถแก้ปัญหาได้
    • ปัญหาที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการเยียวยาเพื่อให้ปัญหานั้นดีขึ้นได้
    • ปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง

    เมื่อจำแนกปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้แล้ว สิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือไม่พยายามไปกังวลกับปัญหาประเภทที่ 2 และ 3 เพราะเป็นปัญหาที่แม้จะกังวลหรือเครียดมากเพียงใด ก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความควบคุมของตัวเรา ดังนั้นควรไปโฟกัสที่ปัญหาที่ 1 และค่อยๆ แก้ปัญหาที่เราสามารถทำได้ไปทีละเล็กละน้อย เพื่อให้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นลดลง เมื่อปัญหาเริ่มลดลงความเครียดที่มีก็จะน้อยลงตามไปด้วย

    เปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์เพื่อ จัดการกับความเครียด

    เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถทำให้ความเครียดของเรานั้นลดลงได้ เช่น ปัญหาได้การทำงาน หากกำลังประสบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน คุณอาจลองจัดตารางการทำงานใหม่ วางแผนการทำงานใหม่ เพื่อให้งานนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือหากมีปัญหาด้านสุขภาพ ลองเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆ เช่น ใช้เวลาสัก 20-30 นาทีเพื่อออกไปเดินในสวนสาธารณะ หรือออกกำลังกายที่บ้าน เพื่อลดความเครียด และช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้ด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 13/08/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา