โรคแพนิค หรือโรคตื่นตระหนก คือ โรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง ที่ผู้ป่วยมีภาวะตื่นตระหนกหรือตกใจกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งอย่างกะทันหันโดยไม่มีสาเหตุ อาการแพนิคสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาจนบางครั้งอาจส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ หากพบว่ามีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของโรคแพนิคควรไปพบคุณหมอเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาตามดุลยพินิจของคุณหมอ
โรคแพนิค คืออะไร
โรคแพนิค (Panic Disorder) คือ โรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง หรือที่เรียกว่า “โรคตื่นตระหนก” ซึ่งโรคแพนิคจะแตกต่างจากอาการหวาดกลัวหรือวิตกกังวลทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการวิตกกังวลหรือตกใจกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาอย่างฉับพลันโดยไม่สมเหตุสมผล อาการแพนิคอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาและอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยเป็นกังวล ตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก จนไม่กล้าออกไปไหน และอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตในประจำวันได้
โรคแพนิคพบได้บ่อยแค่ไหน
โรคแพนิคมักพบในช่วงอายุ 15-25 ปี หรือในช่วงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการป่วยที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจในวัยเด็ก รวมถึงภาวะโรคร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคกลัวการเข้าสังคม นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่อาจเคยมีอาการแพนิค 1-2 ครั้งในชีวิต โดยความถี่ในการเกิดอาการแพนิคอาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล
อาการโรคแพนิค
อาการของโรคแพนิคอาจใช้เวลาประมาณ 5-20 นาที หรืออาจนานเป็นชั่วโมงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยอาการที่พบได้ทั่วไปของโรคแพนิค อาจมีดังนี้
- หัวใจเต้นเร็ว
- หายใจลำบาก หรือหายใจถี่
- เหงื่อออกมากผิดปกติ
- วิงเวียนศีรษะ
- อ่อนเพลีย
- ชาบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า
- คลื่นไส้
- ปวดท้อง ท้องไส้แปรปรวน
- หวาดกลัว วิตกกังวล
ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่
หากมีอาการข้างต้น หรือมีอาการบ่อยขึ้น และใช้เวลานานกว่าจะกลับมาเป็นปกติ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและทำการรักษาโดยเร็ว เพราะหากไม่ได้รับการรักษา อาการแพนิคที่เป็นอยู่อาจแย่ลงได้
สาเหตุโรคแพนิค
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุในการเกิดโรคแพนิคที่แน่ชัด แต่ปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคแพนิคได้
- พันธุกรรม หากบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคแพนิค อาจเสี่ยงเป็นโรคแพนิคได้มากกว่าปกติ
- ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง โดยสารสื่อประสาทมีบทบาทในการควบคุมการทำงานของร่างกาย หากเสียสมดุลอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และทำให้เกิดโรคแพนิคได้ด้วย
- ความเครียดสะสม การอยู่ในสภาวะกดดันเป็นประจำอาจส่งผลให้เป็นโรคแพนิคได้
- การใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย รวมถึงระบบประสาทและสมอง อาจทำให้เกิดโรคแพนิคได้
- การประสบเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น ถูกข่มขืน โดนทำร้ายร่างกาย หย่าร้าง สูญเสียคนรัก
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคแพนิค
คุณหมออาจวินิจฉัยโรคแพนิคด้วยการซักประวัติ โดยอาจสอบถามอาการ ความรู้สึกตื่นตระหนกหรือวิตกกังวลถึงสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ทำให้หวาดกลัวหรือตื่นตระหนก และอาจให้ทำแบบประเมินทางจิตวิทยา ทั้งนี้ คุณหมออาจตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูการทำงานของหัวใจ
การรักษาโรคแพนิค
การรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความรุนแรงและความถี่ของการเกิดอาการโรคแพนิคได้
- จิตบำบัด เป็นการบำบัดความคิดและพฤติกรรม ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจโรคแพนิคและเรียนรู้วิธีรับมือกับอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคแพนิคด้วยวิธีจิตบำบัดอาจต้องใช้เวลานาน ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
- การรับประทานยา เช่น ยากล่อมประสาท ยาต้านซึมเศร้า ทั้งนี้ ยาอาจส่งผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตนเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และดูแลตนเองด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ อาจช่วยเพื่อป้องกันการเกิดอาการของโรคแพนิคได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 30-45 นาที/วัน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเครียด หรืออาจหาวิธีรับมือกับความเครียด เช่น นั่งสมาธิ ฝึกโยคะ ดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยว รวมถึงการฝึกมองโลกในแง่บวก
- ปฏิบัติตามแผนการรักษาอย่างต่อเนื่อง
- ทำความเข้าใจอาการของโรคแพนิคและเตรียมพร้อมรับมือกับอาการของโรคอยู่เสมอ