จิตเวช คือความเจ็บป่วยทางจิตซึ่งเป็นความผิดปกติของสุขภาพจิตที่อาจส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม อาจเกิดขึ้นได้จากสภาพแวดล้อม ความผิดปกติทางสมอง การใช้สารเสพติด หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป และในปัจจุบันจำนวนของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตกำลังเพิ่มสูงขึ้น การป้องกันและเฝ้าระวังอาจช่วยลดปัญหาจิตเวชได้
โรคจิตเวช ที่พบบ่อย
จากรายงานกรมสุขภาพจิต ระบุว่า มีผู้ป่วยที่เข้ารับบริการด้านจิตเวชรวมทั้งประเทศสูงถึง 3.3 ล้านคน เมื่อแบ่งตามกลุ่มโรคที่พบบ่อย คือ โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตาย รวมแล้วมีจำนวนกว่า 1.3 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีโรคจิตเวชที่คนไทยควรรู้จักเพิ่มอีก 4 โรค คือโรคอารมณ์สองขั้ว โรคจิตเวชจากการใช้สารเสพติด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรคแพนิค และโรคสมองเสื่อม ดังนี้
โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางอารมณ์ที่ทำให้รู้สึกเศร้าจนหมดความสนใจสิ่งรอบข้าง ซึ่งส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของผู้ป่วย อาจนำไปสู่ปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันและอารมณ์ได้
อาจสังเกตอาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ ดังนี้
- โกรธ หงุดหงิดกับเรื่องเล็กน้อย
- เหนื่อยล้า หมดพลังงาน
- หมดความสนใจในกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบ
- มีปัญหาการนอน อาจทำให้นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
- ความอยากอาหารลดลง หรืออาจเพิ่มขึ้น
- การพูด ความคิด หรือการเคลื่อนไหวร่างกายช้าลง
- รู้สึกเศร้า สิ้นหวัง รู้สึกไร้ค่า
- คิดฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย
- มีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น
โรคซึมเศร้าอาจไม่สามารถป้องกันได้ แต่วิธีเหล่านี้อาจมีส่วนช่วยป้องกันได้
- จัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ควรเพิ่มความรู้สึกนับถือตนเองด้วย
- บอกคนใกล้ชิด เช่น ครอบครัว เพื่อน เพื่อให้คนใกล้ชิดมีส่วนช่วยทำให้อาการดีขึ้น
- เข้ารับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง
โรควิตกกังวล
โรควิตกกังวล เกิดขึ้นจากการตอบสนองของสมองที่มีผลต่อความเครียดและเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องหรือมากเกินไปอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น การเรียน การทำงาน การเข้าสังคม
อาการของโรควิตกกังวลอาจสังเกตได้ ดังนี้
- กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ
- เหนื่อยล้า
- หงุดหงิดหรือโมโหง่าย
- กล้ามเนื้อเกร็ง
- มีปัญหาในการนอนหลับ
- บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เช่น เข้าสังคมน้อยลง เก็บตัว
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวลสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีเหล่านี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หาเวลาว่างให้ตัวเองทุกวัน ผ่อนคลายร่างกายและความตึงเครียดอย่างน้อย 20 นาที หรือทำงานอดิเรกที่ชอบ เช่น ทำสวน วาดรูป หรือเล่นกีฬา
- จัดลำดับความสำคัญงานและสิ่งอื่น ๆ ที่ต้องทำ เพื่อไม่ให้เครียดและวิตกกังวลมากเกินไป และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือสถานที่ที่อาจทำให้รู้สึกวิตกกังวล
- จัดอันดับความวิตกกังวล และสังเกตเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกวิตกกังวล รวมถึงความคิดที่เกิดขึ้นในใจก่อนและระหว่างวิตกกังวล เพื่อจัดการกับสาเหตุนั้น ๆ
โรคจิตเภท
โรคจิตเภท เป็นโรคความผิดปกติทางสมองเรื้อรัง ซึ่งมีความผิดปกติด้านการรับรู้และความคิด ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดหรือการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง อาจทำให้มีอาการเข้าใจผิด เห็นภาพหลอน หวาดระแวง รูปแบบการพูดผิดปกติไป มีปัญหาทางความคิด และขาดแรงจูงใจ
ทั้งนี้ โรคจิตเภทอาจยังไม่มีคำยืนยันว่าสามารถป้องกันได้ เนื่องจากอาจเกี่ยวข้องกับยีนในร่างกาย และเหตุการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นก็อาจมีผลเช่นกัน ดังนั้น การจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวล การรักษาความสัมพันธ์ของครอบครัวและสังคมให้ดี จึงอาจเป็นวิธีที่จะช่วยลดปัญหาโรคจิตเภทได้
โรคอารมณ์สองขั้ว (ไบโพลาร์)
โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นภาวะสุขภาพจิตที่ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกหดหู่ใจ เศร้า สิ้นหวัง หมดความสนใจหรือหมดความสุขกับกิจกรรมที่ทำอย่างรุนแรง และอารมณ์อาจเปลี่ยนเป็นความรู้สึกมีความสุข สนุก ร่าเริง และร่างกายเต็มไปด้วยพลังงาน หรืออาจเปลี่ยนเป็นอารมณ์หงุดหงิดรุนแรงได้อย่างกะทันหัน
อารมณ์ที่แปรปรวนเหล่านี้อาจส่งผลให้การนอนหลับ พลังงานในร่างกาย พฤติกรรม ความสามารถในการคิดและตัดสินใจเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน
โรคอารมณ์สองขั้วไม่สามารถป้องกันได้ แต่เมื่อมีอาการผิดปกติควรได้การรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อช่วยป้องกันอาการรุนแรงขึ้นและการพัฒนาไปเป็นปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ นอกจากนี้ สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาโรคอารมณ์สองขั้ว สามารถป้องกันไม่ให้อาการลุกลามได้ ดังนี้
- สังเกตสัญญาณเตือน เพื่อจัดการกับอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง
- หลีกเลี่ยงยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงและมีแนวโน้มที่จะกลับมาเป็นซ้ำ
- ใช้ยาตามคำสั่งคุณหมออย่างเคร่งครัด และไม่ควรหยุดยาเพราะอาจทำให้เกิดอาการดื้อยาได้
โรคจิตเวชจากการใช้สารเสพติด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โรคจิตเวชจากการใช้สารเสพติด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจมีผลสืบเนื่องมาจากผู้ป่วยมีอาการเครียด วิตกกังวล และซึมเศร้า จึงเยียวยาความรู้สึกด้วยการใช้ยาเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อใช้มากขึ้น หรือใช้ติดต่อกันนาน ๆ อาจส่งผลให้สุขภาพจิตแย่ลง มีอาการเมาค้าง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีความวิตกกังวลหรือซึมเศร้ามากขึ้นหลังการใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
วิธีที่อาจช่วยลดปัญหาโรคจิตเวชจากการใช้สารเสพติด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ มีดังนี้
- รับประทานนอาหารเพื่อสุขภาพ ลดเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีคาเฟอีน และเลิกสูบบุหรี่
- งดเว้นจากการใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย
- หลีกเลี่ยงผู้คนหรือสภาพแวดล้อมที่อาจเอื้อให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย
- พูดคุยกับคุณหมอเกี่ยวกับการใช้ยา หรือชนิดของยาที่อาจทำให้เกิดอาการคลุ้มคลั่งหรือซึมเศร้าได้ เฝ้าระวังภาวะซึมเศร้าหรืออาการคลุ้มคลั่งที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเริ่มใช้สารเสพติดหรือใช้ยาบางชนิด
โรคแพนิค
โรคแพนิค หรือโรคตื่นตระหนก เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตื่นตระหนกหรือมีอาการกลัวอย่างกะทันหัน เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อความเครียด และมักทำให้มีอาการทางร่างกายและจิตใจรุนแรง ซึ่งอาการจะเกิดอย่างรวดเร็วและไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน เช่น
- วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นแรง เจ็บหน้าอก หน้ามืด เหงื่อออก
- หายใจถี่ ตัวสั่น แขนขาสั่น หนาวสั่น
- ปากแห้ง
- มีอาการชา
- คลื่นไส้ สำลัก
- รู้สึกอยากเข้าห้องน้ำ มีเสียงก้องอยู่ในหู
- ร้อนวูบวาบ ท้องไส้ปั่นป่วน
- รู้สึกกลัวหรือกลัวตาย
โรคแพนิค อาจสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีเหล่านี้
- ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น และลดความเครียด
- ทำกิจกรรมผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ เช่น นวด เล่นโยคะ
- ฝึกเทคนิคการหายใจเข้าออกอย่างช้า ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการ
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล คาเฟอีน และแอลกอฮอล์ และควรงดสูบบุหรี่ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้อาการแย่ลงได้
โรคสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์)
โรคสมองเสื่อม มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของสารในสมอง ทำให้ผู้ป่วยจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดไม่ได้ เช่น การสนทนาที่เพิ่งผ่านไปไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมง และอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ ทำให้หลงลืมเรื่องราวในอดีต หรือลืมวิธีใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
อาการของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอาจมี ดังนี้
- หลงลืมง่าย และหลงลืมเรื่องราวในอดีต
- ความสามารถในการการใช้เหตุผล การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาลดลง
- การสื่อสารและความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ลดลง
การป้องกันโรคสมองเสื่อมอาจทำได้ยากเพราะเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่วิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- จัดการปัญหาสุขภาพ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง
- หากิจกรรมที่เพิ่มกระบวนการทางสมองและเสริมความสุขทางจิตใจ เช่น การอ่านหนังสือ การเล่นเกมไขปริศนาอักษรไขว้
- มีส่วนร่วมในสังคม เช่น เข้าร่วมกิจกรรมชุมชน