backup og meta

ตรวจโรคซึมเศร้า มีวิธีอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย Duangkamon Junnet · แก้ไขล่าสุด 29/03/2023

    ตรวจโรคซึมเศร้า มีวิธีอะไรบ้าง

    ตรวจโรคซึมเศร้า เป็นวิธีการตรวจโดยจิตแพทย์หรือคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินสภาพจิตใจของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยคุณหมอจะรับฟัง และให้ผู้ป่วยเล่าถึงอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวัน พฤติกรรมในอดีต รวมทั้งกิจวัตรประจำวัน นอกจากนั้น อาจให้ผู้ป่วยทำแบบสอบถาม รวมทั้งการตรวจสุขภาพร่างกาย เช่น การตรวจเลือด การตรวจค่าตับและไต การตรวจสารพิษและสารเสพติด ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการตรวจสมองร่วมด้วย

    โรคซึมเศร้า คืออะไร

    โรคซึมเศร้า (Depression) จัดเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ทั้งนี้ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ สารเคมีในสมองเกิดความไม่สมดุล ระดับฮอร์โมนเพศแปรปรวนเมื่อมีประจำเดือน คลอดบุตร หรือเข้าสู่วัยทอง หรืออาจเคยมีประสบการณ์ที่เลวร้าย หรือมีปัญหาสุขภาพอย่างป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ หรือการติดสารเสพติดรวมทั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการโศกเศร้า เบื่อหน่าย สิ้นหวัง หมดกำลังใจ และอาจมีอาการปวดศีรษะและลำตัวร่วมด้วย ในบางรายที่อาการรุนแรง อาจมีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย ซึ่งหากพบสัญญาณของโรคซึมเศร้า ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและหาวิธีรักษาโดยเร็วที่สุด

    อาการ โรคซึมเศร้า

    หากเป็นโรคซึมเศร้า จะมีอาการ ดังต่อไปนี้

  • หมดความสนใจต่อกิจกรรมที่เคยทำให้มีความสุข
  • โศกเศร้า วิตกกังวล รู้สึกสิ้นหวัง ว่างเปล่า ไร้ค่า
  • ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถตัดสินใจได้
  • หมดแรง อ่อนกำลัง และเคลื่อนไหวเชื่องช้า
  • มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ หลับยาก หรือนอนมากเกินไป
  • คิดอยากทำร้ายตัวเอง พยายามฆ่าตัวตาย
  • ปวดหัว ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • เมื่อใดที่ควรเข้ารับการ ตรวจโรคซึมเศร้า

    ผู้ที่ควรพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจโรคซึมเศร้า ได้แก่ผู้ที่มีอาการดังนี้

    • มีอาการและสัญญาณโรคซึมเศร้าเป็นระยะเวลาหนึ่งโดยที่อาการไม่ดีขึ้น
    • อารมณ์และความรู้สึกส่งผลกระทบต่อการทำงาน หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
    • มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองหรือคิดฆ่าตัวตาย

    วิธีการ ตรวจโรคซึมเศร้า

    หากมีสัญญาณอาการซึมเศร้า ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อขอคำปรึกษา โดยคุณหมอจะตั้งคำถามทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับอาการที่เป็น ระยะเวลาที่เกิดอาการขึ้น ความถี่ของอาการต่าง ๆ รวมทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตว่าแตกต่างไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด เพื่อตรวจสอบระดับความสุข รวมทั้งสำรวจอารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ  ทั้งนี้ คำถามที่คุณหมอมักถามผู้ป่วยที่เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า เช่น

    • ในช่วงเดือนที่ผ่านมา รู้สึกสิ้นหวัง หดหู่ หรือรู้สึกแย่กับตัวเองบ้างไหม
    • ในช่วงเดือนที่ผ่านมา รู้สึกหงุดหงิดหรือรำคาญใจต่อกิจกรรมที่ตัวเองเคยสนใจหรือชื่นชอบบ้างหรือเปล่า

    ทั้งนี้ หากพบสัญญาณของอาการซึมเศร้า เมื่อเข้าพบคุณหมอ ควรตอบคำถามอย่างซื่อสัตย์ ตรงต่อความเป็นจริงมากที่สุด ไม่ควรปกปิดความรู้สึกที่แท้จริง จะช่วยให้คุณหมอสามารถวินิจฉัยอาการและหาวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อสภาพจิตใจและภาวะสุขภาพของผู้ป่วยมากที่สุด เพื่อจะได้หายจากโรคซึมเศร้าโดยเร็วที่สุด และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ต่อไป

    การวินิจฉัย โรคซึมเศร้า

    โดยส่วนใหญ่แล้ว คุณหมอจะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้นจะดูจากอาการของผู้ป่วยและระยะเวลาที่แสดงอาการ หากผู้ป่วยมีอาการที่เข้าข่ายว่าเป็นโรคซึมเศร้าอย่างน้อย 5 อาการแทบจะตลอดทั้งวันติดต่อกันเป็นเวลานานอย่างน้อยสองสัปดาห์

    ทั้งนี้ อาการของโรคซึมเศร้าอาจอยู่นานเป็นสัปดาห์ เดือน หลายปี หรือแม้กระทั่งตลอดชีวิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพและความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับคนรอบข้าง ในบางรายที่อาการรุนแรง อาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ที่ร้ายแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความอยากอาหารที่ลดลง การไม่สนใจดูแลรักษาความสะอาดตัวเอง หรือแม้กระทั่งไม่ยอมลุกออกจากเตียงเลย

    วิธีรักษา โรคซึมเศร้า

    โดยทั่วไปแล้ว เมื่อ ตรวจโรคซึมเศร้า และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ คุณหมอจะเป็นผู้วินิจฉัยวิธีการรักษาเฉพาะรายบุคคล ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง อาจเริ่มต้นด้วยการพูดคุยเพียงอย่างเดียว แต่หากอาการไม่ดีขึ้น คุณหมออาจเริ่มสั่งยาให้รับประทานร่วมด้วย ในกรณีที่อาการระดับปานกลางหรือรุนแรง คุณหมอจะใช้วิธีการต่าง ๆ ร่วมกันตั้งแต่การเริ่มต้นรักษา ทั้งนี้ การรักษาโรคซึมเศร้ามักใช้เวลาในการรักษาประมาณ 4-8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยแต่ละรายอาจใช้เวลาแตกต่างกันเพื่อดูว่าวิธีการรักษาได้ผลหรือไม่

    วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคซึมเศร้า

    เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า และเข้าสู่วิธีการรักษา ควรดูแลตนเองร่วมด้วย ดังนี้

    • พยายามทำกิจกรรมที่ตนเองเคยชื่นชอบแม้ว่าไม่รู้สึกอยากทำก็ตาม
    • เข้านอนและตื่นให้เป็นเวลาทุกวัน
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และให้ตรงมื้อในทุกวัน
    • ออกกำลังหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที
    • พยายามติดต่อกับคนอื่นๆ คุยกับเพื่อนและบอกเล่าความรู้สึก
    • งดดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย Duangkamon Junnet · แก้ไขล่าสุด 29/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา