สุขภาพจิต สำคัญกับทุกคนเพราะส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด การตัดสินใจ การรับมือกับปัญหา และประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ผู้ชายมักเลือกที่จะไม่พูดถึงปัญหาสุขภาพจิตของตัวเอง เนื่องจากไม่ต้องการให้ผู้อื่นมองว่าอ่อนแอ และมักเก็บปัญหาไว้กับตัว จนส่งผลให้สภาพจิตใจแย่ลง และอาจเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายได้ในที่สุด
[embed-health-tool-bmi]
สุขภาพจิตมีความสำคัญอย่างไร
สุขภาพจิต หมายถึง ภาวะอารมณ์หรือจิตใจ ซึ่งมีความสำคัญต่อการคิด ความรู้สึก การตัดสินใจ การรับมือกับเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งส่งผลต่อความสามารถในการจัดการความเครียด ประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงการรู้จักปรับตัวให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ในสังคม
หากสุขภาพจิตดี ย่อมทำให้เบิกบาน รู้สึกมีความสุข สมองปลอดโปร่ง สามารถคิดหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ร่างกายกระปรี้กระเปร่าพร้อมที่จะทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อเกิดปัญหาก็สามารถรับมือและหาทางแก้ไขได้ แต่หากมีปัญหาสุขภาพจิต อาจทำให้จิตใจหม่นหมอง มองโลกในแง่ร้าย ท้อแท้ หมดหวัง จนไม่สามารถรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้
ในปัจจุบันนี้ คนในสังคมจำนวนไม่น้อยอาจไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้ชายที่มักไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอาย หวาดกลัวที่จะยอมรับว่าตนเองอ่อนแอ หรือหากพบว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิตก็เลือกที่จะไม่หาทางรักษาเพราะคิดว่าไม่จำเป็น ทั้งที่จริงแล้วหากปล่อยไว้อาจส่งผลเสียต่อชีวิตประจำวัน อาจทำให้การทำงานด้อยประสิทธิภาพลง ทำให้ความสัมพันธ์สั่นคลอน ทำให้การเงินมีปัญหา และอาจเป็นต้นเหตุของโรคเกี่ยวกับจิตเภทอื่น ๆ เช่น ประสาทหลอน ความคิดหลงผิด การแสดงอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการฆ่าตัวตาย
สัญญาณเตือนของปัญหา สุขภาพจิต
ผู้ชายอาจไม่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกหรือสภาพจิตใจของตนเองมากนัก จึงมักไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ อาการต่อไปนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังมีปัญหาสุขภาพจิต ควรไปพบคุณหมอหรือขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
- ไม่อยากพบเจอผู้คน
- ไม่ต้องการทำกิจกรรมที่ชอบ
- มีพฤติกรรมการกินอาหารหรือนอนที่เปลี่ยนไป เช่น กินข้าวน้อยลง นอนไม่หลับ
- รู้สึกเหนื่อย หมดพลัง
- รู้สึกสิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก
- รู้สึกเจ็บปวดตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ
- รู้สึกสับสน เป็นกังวล ไม่พอใจ หรือหวาดกลัว
- อารมณ์แปรปรวนจนเป็นปัญหาต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
- สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าปกติ
- หูแว่ว มีความเชื่อในเรื่องที่ไม่เป็นความจริง
- มีความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น
- ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างที่เคยทำ
- มีความคิดลบ มองโลกในแง่ร้ายตลอดเวลา
วิธีในการรับมือกับปัญหา สุขภาพจิต สำหรับผู้ชาย
โดยปกติ เมื่อผู้ชายมีปัญหาสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นเครียด กังวล ซึมเศร้า มักเลือกที่จะเก็บความรู้สึกและปัญหาต่าง ๆ ไว้กับตัวเองแทนการระบายหรือปรึกษาคนรอบข้าง อีกทั้งไม่พยายามหาทางรักษา แต่อาจเลือกที่จะแสดงออกผ่านพฤติกรรมอันตรายที่ส่งผลเสียต่อตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการขับรถเร็วกว่าปกติ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด การเล่นพนัน การใช้ยาเสพติด รวมถึงการฆ่าตัวตาย
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริการะบุว่า ผู้ชายมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง
ทั้งนี้ หนึ่งในวิธีรับมือและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นที่ผู้ชายอาจทำได้ คือ การสนทนาเกี่ยวกับสุขภาพจิตของตัวเองกับคนรอบข้าง อย่างเพื่อน คนรัก หรือคนในครอบครัวเพราะการพูดคุยจะช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตไม่รู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกว่ามีคนรับฟัง ได้รับความช่วยเหลือ และมีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคนในสังคมมักมองผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในแง่ลบหรือมองว่าผิดปกติ ทำให้ผู้ที่มีปัญหาอาจไม่กล้าเล่าหรือขอความช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ชาย ที่ค่านิยมของสังคมคาดหวังว่าต้องเข้มแข็งและเป็นผู้นำ การพูดคุยถึงปัญหาสุขภาพจิตจึงอาจไม่ง่ายนัก
มูลนิธิ Mental Health Foundation ในสหราชอาณาจักรระบุว่า ผู้ชายมีแนวโน้มจะไม่พูดถึงปัญหาสุขภาพจิตของตัวเองกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว และอาจเลือกแก้ปัญหาด้วยการเสพยาเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แทน
คำแนะนำสำหรับผู้ชายในการพูดคุยกับคนรอบข้าง เกี่ยวกับปัญหา สุขภาพจิต
เพื่อให้การสนทนาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้ชายอาจปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- เลือกคุยกับคนใกล้ชิดที่ไว้ใจ
- บอกเล่าปัญหาด้วยคำพูดง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าต่อหน้าหรือการเล่าผ่านเครื่องมือสื่อสาร
- ซักซ้อมสิ่งที่ต้องการพูดก่อนการสนทนาจริง
- อาจใช้ข้อมูลจากหนังสือหรืออินเทอร์เน็ตประกอบ เพื่อให้คู่สนทนาเข้าใจปัญหาได้ดียิ่งขึ้น
- เลือกสนทนาอย่างเปิดใจและตรงไปตรงมา
อย่างไรก็ตาม การสนทนาเพียงครั้งเดียวอาจไม่ทำให้คู่สนทนาเข้าใจปัญหาสุขภาพจิตที่เผชิญอยู่ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองตามที่คาดหวังไว้ อาจต้องพูดคุยติดต่อกันหลายครั้ง จึงควรเลือกเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่สนิทและมีเวลาพร้อมรับฟัง
ทั้งนี้ หากไม่พร้อมเล่าปัญหาให้คนรอบข้างฟังหรือรู้สึกว่าไม่มีผู้ที่พร้อมรับฟัง สามารถโทรไปที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อขอคำปรึกษาได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
ปัญหาสุขภาพจิต ป้องกันได้อย่างไรบ้าง
ปัญหาสุขภาพจิตอาจป้องกันได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หรือประมาณ 7-9 ชั่วโมง/คืน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หาเวลาทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบ อยู่กับคนที่รัก
- ฝึกสมาธิเพื่อให้สามารถจดจ่อกับปัจจุบัน ไม่กังวลถึงอนาคตมากนัก และไม่จมอยู่กับอดีตนานเกินไป
- คอยติดต่อเพื่อน ๆ หรือคนในครอบครัว พูดคุยปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันบ้าง
- พยายามเป็นมิตรกับคนรอบข้าง ไม่เจ้าคิดเจ้าแค้น รู้จักให้อภัยและปล่อยวาง