backup og meta

ล้างมือด้วยเจลล้างมือ พกพาง่าย ห่างไกลเชื้อโรค

ล้างมือด้วยเจลล้างมือ พกพาง่าย ห่างไกลเชื้อโรค

ปัจจุบันเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โรคโควิด-19 ยังคงระบาดอย่างหนัก และยังไม่มีทีท่าว่าจะหายไปในเร็ววันนี้ สถาบันด้านสุขภาพและอนามัยต่าง ๆ ทั่วทั้งโลกต่างก็โหมโรงให้ประชาชนร่วมรับมือกับภัยพิบัติของเชื้อไวรัสในครั้งนี้ด้วยการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ ข้อสำคัญคือไม่ควรลืมล้างมือ และควรที่จะล้างมือบ่อย ๆ ด้วย นั่นจึงทำให้การ ล้างมือด้วยเจลล้างมือ ได้รับความนิยม เนื่องจาก เจลล้างมือ สามารถที่จะพกพาได้ง่าย และใช้งานสะดวกในกรณีที่ไม่มีสบู่และน้ำ แต่การล้างมือแบบไหนให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่ากันตามไปดูกันเลยกับบทความนี้จาก Hello คุณหมอ

มีอะไรอยู่ในเจลล้างมือบ้าง

ใน เจลล้างมือ แต่ละยี่ห้อนั้น ต่างก็มีส่วนประกอบที่แตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ตามหลักแล้วจะมีสารประกอบหลักที่เหมือนกันทุกประการ นั่นคือแอลกอฮอล์ ซึ่งเจลล้างมือที่วางขายกันทั่วไปในท้องตลาดนี้ จะประกอบไปด้วยแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 60 ไปจนถึง 95 เปอร์เซ็นต์ โดยปกติแล้วจะเป็นแอลกอฮอล์ประเภท เอทานอล (Ethanol) ไอโซโพรพานอล (Isopropanol) หรือเอ็น โพรพานอล (N-propanol) และด้วยความเข้มข้นของสารเหล่านั้น ทำให้แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการทำลายจุลินทรีย์ตัวเล็ก ๆ ได้

แต่อย่างไรก็ตาม มีเจลล้างมือบางชนิดที่เป็นเจลประเภทไม่มีแอลกอฮอล์ แต่ก็สามารถใช้เพื่อการฆ่าเชื้อโรคได้เช่นกัน โดยเจลล้างมือชนิดนี้ จะมีส่วนประกอบหลักคือ เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (ฺBenzalkonium chloride หรือ BAC) หรืออาจเป็นสารสังเคราะห์อย่าง ไตรโคลซาน (Triclosan) ซึ่งสารดังกล่าวมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อทั้งแบบทันทีและแบบถาวร

นอกจากนี้ในเจลล้างมือแต่ละชนิดยังมีสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวด้วย ได้แก่ กลีเซอรีน (glycerin) และบางชนิดอาจเพิ่มน้ำหอมเพื่อการใช้งานให้มีกลิ่นหอมด้วย

เจลล้างมือ มีประโยชน์อย่างไรบ้าง

การใช้ เจลล้างมือ นั้น ประโยชน์ในข้อแรกที่นอกเหนือจากในเรื่องของความสะอาดและสุขอนามัย คือความสะดวกในการใช้งาน เพราะสามารถที่จะพกพาไปได้ทุกที่ และสามารถจะใช้ทำความสะอาดเมื่อใดก็ได้ตามต้องการ แต่นอกจากความสะดวกสบายในการใช้งานได้ทุกที่แล้ว เจลล้างมือยังให้ประโยชน์ที่มากกว่านั้นอีก ได้แก่

  • สะดวกต่อการพกพา
  • ประหยัดเวลาในการล้างมือ
  • ช่วยรักษาความสะอาดได้ในกรณีที่ไม่มีน้ำและสบู่
  • ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในมือได้อย่างรวดเร็ว
  • ลดจำนวนของเชื้อแบคทีเรียบริเวณมือ
  • ไม่มีผลข้างเคียงของการดื้อยา
  • การใช้ เจลล้างมือ จะไม่มีการระคายเคืองต่อผิว หรือหากมีก็เป็นไปได้น้อยกว่าการล้างมือด้วยน้ำและสบู่

วิธีล้างมือด้วยเจลล้างมือที่ถูกต้อง

วิธีล้างมือด้วยเจลล้างมือที่ถูกต้อง

การใช้ เจลล้างมือ ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและทำให้แบคทีเรียที่อยู่ในมือลดน้อยลงได้ก็จริง แต่ต้องไม่ลืมว่า การใช้เจลล้างมือนั้นต้องไม่มีอะไรต่างไปจากการล้างมือแบบปกติที่ใช้สบู่กับน้ำ กล่าวคือแม้จะเปลี่ยนตัวทำความสะอาดจากน้ำและสบู่มาเป็นเจล แต่วิธีล้างมือที่ถูกต้องยังคงต้องเป็นอยู่เช่นเดิม ซึ่งวิธีล้างมือกับเจลที่ถูกต้อง มีดังนี้

  • ชโลมเจลแอลกอฮอล์ให้เพียงพอต่อการทำความสะอาดมือทั้งสองข้าง
  • เมื่อได้ เจลล้างมือ ในปริมาณที่เหมาะสมแล้วจึงถูมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน 
  • ถูหลังมือซ้ายด้วยมือขวา แล้วจึงสลับถูหลังมือขวาด้วยมือซ้าย โดยให้นิ้วมือประสานเข้าไปในซอกนิ้ว
  • ทำความสะอาดฝ่ามือและซอกนิ้วด้านใน โดยประกบฝ่ามือเข้าหากัน และถูตามซอกนิ้วของแต่ละข้าง
  • จากนั้นให้กำมือข้างหนึ่งแล้วนำไปถูทำความสะอาดด้วยฝ่ามืออีกข้าง โดยสลับทำทั้งสองข้าง
  • ทำความสะอาดนิ้วแต่ละนิ้ว โดยใช้มือข้างหนึ่งกำรอบนิ้วแต่ละนิ้ว เพื่อถูทำความสะอาดจนครบทุกนิ้ว โดยสลับทำให้ครบทั้งสองข้าง
  • ทำความสะอาดปลายนิ้วมือและปลายเล็บ โดยนำปลายนิ้วมือของอีกข้างถูวนไปที่ฝ่ามืออีกข้าง โดยสลับทำให้ครบทั้งสองข้าง
  • ถูทำความสะอาดจนกระทั่ง เจลล้างมือ แห้ง

ล้างมือด้วยสบู่ หรือ ล้างมือด้วยเจลล้างมือ

แม้การล้างมือด้วย เจลล้างมือ จะสะดวกสบาย พกพาง่าย แต่หากพูดถึงในแง่ของคำแนะนำที่เหมาะสมจริง ๆ แล้ว ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านแนะนำให้มีการล้างมือด้วยสบู่กับน้ำ เพราะถึงแม้ว่า เจลล้างมือ ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์จะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้จริง แต่…ยังมีข้อจำกัดที่ว่าไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ทุกชนิด รวมถึงประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคยังจะลดน้อยลงไปด้วย หากมือเต็มไปด้วยคราบและสิ่งสกปรกจากการทำงาน หรือการเล่นกีฬา กล่าวคือ มือที่สกปรกและมาใช้เจลแอลกอฮอล์เพื่อหวังให้มือสะอาดนั้น อาจไม่ได้รับความสะอาดเท่าที่ควรจะเป็น จึงควรมีการทำความสะอาดมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนที่จะมาใช้เจลแอลกอฮล์ เพื่อที่จะได้รับประสิทธิภาพในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคได้ดีที่สุดนั่นเอง

Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Show Me the Science – When & How to Use Hand Sanitizer in Community Settings. https://www.cdc.gov/handwashing/show-me-the-science-hand-sanitizer.html. Accessed on March 4, 2020.

Which Is Best: Hand Sanitizer or Soap and Water?. https://www.eatright.org/homefoodsafety/four-steps/wash/which-is-best-hand-sanitizer-or-soap-and-water. Accessed on March 4, 2020.

How It Works: Cleaning Hands with Waterless Hand Sanitizer. https://www.health.state.mn.us/people/handhygiene/clean/howrub.html. Accessed on March 4, 2020.

วิธีการถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์. https://www.who.int/docs/default-source/searo/thailand/how-to-handwash-handrub-poster-thai-final.pdf?sfvrsn=7c095f91_0. Accessed on March 4, 2020.

Hand sanitizer. https://www.britannica.com/topic/hand-sanitizer. Accessed on March 4, 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

รู้หรือไม่ ล้างมือบ่อยเกินไป อาจเป็นภัยต่อตัวเองได้

ห่างไกลจากเชื้อโรคต่างๆ รอบตัว ด้วย การล้างมือ อย่างถูกต้อง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา