เล็บกับสุขภาพ มีความสัมพันธ์กันเพราะลักษณะเล็บสามารถบ่งบอกถึงโรคหรือปัญหาสุขภาพได้ โดยลักษณะของพื้นผิวและสีของเล็บจะเป็นตัวบ่งบอกระบบการทำงานของร่างกายว่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือกำลังเกิดปัญหาอยู่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับภาวะโภชนาการจะสะท้อนออกมาผ่านสุขภาพเล็บอย่างเห็นได้ชัด
[embed-health-tool-heart-rate]
เล็บกับสุขภาพ เกี่ยวข้องกันอย่างไร
โดยปกติแล้วเล็บเปราะ อ่อนแอ และหลุดลอกง่าย คือเรื่องที่พบได้บ่อย ซึ่งสาเหตุนั้นมาจากการบริโภคอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ รวมไปถึงระบบย่อยอาหารที่ไม่มีประสิทธิภาพด้วย ทั้งนี้ ลักษณะของเล็บนั้นสะท้อนภาวะสุขภาพด้านต่าง ๆ ดังนี้
เล็บซีดมาก
เล็บสีซีดมากอาจเป็นสัญญาณของอาหารป่วยรุนแรง เช่น โรคโลหิตจาง หัวใจล้มเหลว โรคตับ รวมไปถึงการขาดแคลนสารอาหาร
เล็บเปราะ
เล็บเปราะและหักง่ายถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยมากที่สุดในผู้หญิง ซึ่งเล็บที่เปราะนั้นมักเกิดจากการเปียกน้ำ และเล็บมือแห้งจนเกินไป ดังนั้น หากจะต้องให้มือและเล็บเปียกน้ำ ควรสวมถุงมือจะเป็นการดีที่สุด หรือไม่เช่นนนั้น ลองใช้โลชั่นที่มีกรดอัลฟ่าไฮดรอกซี (Alpha-hydroxy acids) หรือ ลาโลนิน (Lanolin) มาทาเพื่อบำรุงเล็บดู หากใช้แล้วไม่ได้ผลควรปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ ภาวะไทรอยด์ทำงานผิดปกติก็อาจทำให้เล็บอ่อนแอและเปราะได้เช่นกัน รวมทั้งยังอาจเกี่ยวข้องกับการขาดวิตามินบี แคลเซียม เหล็ก หรือกรดไขมันนอร์ริส (Norris) ได้อีกด้วย
เล็บเรียงกันเป็นเส้น
ลักษณะของเล็บเรียงกันเป็นเส้นนั้น อาจเกิดจากภาวะเครียดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
เล็บสีขาว
หากเล็บส่วนใหญ่มีสีขาวและมีขอบคล้ำขึ้นมาอาจมีปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น ตับอักเสบ นอกจากนี้หากนิ้วมือเป็นสีเหลือง ก็แสดงได้ถึงปัญหาของตับเช่นกัน
เล็บลอก
การที่เล็บลอกนั้นอาจเกิดจากอาการบาดเจ็บภายนอกของเล็บ ซึ่งมาจากการใช้ยาทาเล็บทาลงไปบนเล็บมือ หรืออาจจะใช้เครื่องมือในการทำเล็บกดลงไปบนเล็บแน่นเกินไป นอกจากนี้ เล็บยังสามารถลอกได้หาแช่มือในน้ำนานเกินไป ดังนั้น การดูว่าเล็บลอกนั้นมาจากสาเหตุภายในหรือภายนอก สามารถทำได้ก็คือ ลองสังเกตดูเล็บเท้าว่าลอกด้วยหรือไม่ ถ้ามีอาการเล็บเท้าลอกด้วย นั่นอาจเป็นสาเหตุภายใน เช่น ขาดธาตุเหล็ก แต่หากเล็บเท้าไม่ลอกก็อาจจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นภายนอกนั่นเอง
ผิวหนังใต้เล็บมีสีที่ผิดไปจากปกติ
ความกังวลเกี่ยวกับสีเล็บนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่คุณหมอผิวหนังพบบ่อยมากที่สุด เนื่องจากการเปลี่ยนสีนั้นมักจะปรากฏขึ้นตั้งแต่ผิวหนังที่อยู่ใต้เล็บไปจนถึงปลายเล็บ ควรไปปรึกษาคุณหมอผิวหนัง หากผิวหนังใต้เล็บใดเล็บหนึ่งพัฒนากลายเป็นสีน้ำตาล นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งผิวหนังก็เป็นได้
เล็บสีเหลือง
หนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของเล็บสีเหลือง คือ การติดเชื้อรา เมื่อเล็บมีการติดเชื้อรา เล็บอาจจะหด หนา และแตกหักได้ นอกจากนี้ เล็บสีเหลืองยังอาจบอกได้ว่าร่างกายอาจจะเสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคต่อมไทรอยด์ที่รุนแรง โรคปอด โรคเบาหวาน โรคสะเก็ดเงิน
เล็บมีลักษณะเป็นคลื่น
หากเล็บมีลักษณะเป็นคลื่นเหมือนสันเขา ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน นั่นอาจบ่งบอกถึงภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กได้ ในขณะที่ลักษณะเส้นสันเขาที่เป็นแนวนอนนั้น อาจบ่งชี้ไปถึงอาการที่สำคัญ เช่น โรคไต ซึ่งโรคนี้อาจทำให้เล็บหยุดงอกได้ จนกว่าจะมีการรักษาให้หาย
เล็บมีเส้นสีดำ
หากมีเส้นสีดำที่เกิดขึ้นจากปลายหนังที่หุ้มเล็บเกิดขึ้น หรืออาจจะมีก้อนเล็ก ๆ เกิดขึ้น หรือมีเส้นสีดำเกิดขึ้นบนเล็บ โดบปกติมักเรียกว่าเส้นเลือดฝอยพอง เส้นสีดำนี้สามารถปรากฏขึ้นได้หลายครั้ง โดยสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้น อาจมาจากอาการบาดเจ็บที่เล็บ เช่น การกระแทกกับประตูโดยไม่ได้ตั้งใจ นอกจากนี้ อาจเป็นผลมาจากการอักเสบของหลอดเลือดใต้เล็บ แต่มักหายไปเมื่อเล็บเริ่มยาวขึ้น รวมทั้งอาจเป็นอาการของโรคสะเก็ดเงิน หรืออาจเกิดจากการเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่อันตรายที่สุดก็ได้เช่นกัน
เล็บมีจุดขาว
จุดสีขาวที่ขึ้นกระจัดกระจายบนเล็บ มักจะเริ่มปรากฏในช่วงวัยมัธยม ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ถึงการขาดสังกะสี แต่หากบริโภคสังกะสี 30 มิลลิกรัมต่อวันเป็นเวลา 3 เดือน จุดขาวนั้นอาจจะบรรเทาลงได้ แต่จุดสีขาวที่ปรากฏนั้นอาจบ่งบอกถึงสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น ปฏิกิริยาการแพ้ การติดเชื้อรา อาการบาดเจ็บบนเล็บ
เล็บสีน้ำเงิน
หากเล็บมีสีออกน้ำเงิน นั่นหมายความว่าร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ รวมทั้งเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาต่าง ๆ เช่น ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ
เล็บเป็นคลื่น
หากผิวเล็บเป็นระลอกคลื่น หรือเป็นหลุม นั่นอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคสะเก็ดเงิน หรือไขข้ออักเสบ
เล็บไม่มีรอยโค้งที่วงเล็บ (ลักษณะดวงจันทร์ครึ่งดวง)
เส้นโค้งสีขาวเล็ก ๆ ที่อยู่บนฐานเล็บ มักจะถูกเรียกว่า รอยโค้งที่วงเล็บ (Fingernail moons; Lanula) แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเล็บลักษณะนี้ เพราะอาจจะซ่อนอยู่ใต้ผิวหนังก็เป็นได้ แต่ถ้าหากเคยมีแล้วดูเหมือนว่าหายไป นั่นอาจเป็นสัญญาณของ ภาวะขาดอาหาร โรคซึมเศร้า (Depression) หรือโรคโลหิตจาง ก็เป็นได้
บริเวณรอบ ๆ เล็บบวมแดง
หากผิวหนังบริเวณรอบ ๆ เล็บบวมและแดง อาจเกิดขึ้นจากการอักเสบของเล็บ หรืออาจเป็นผลมาจากโรคลูปัส หรือโรคเนื้อเยื่อที่เกี่ยวพันกับเล็บ นอกจากนี้ การติดเชื้อก็อาจทำให้เกิดรอยแดงหรืออักเสบบริเวณผิวหนังรอบ ๆ เล็บได้เช่นกัน
เล็บโดนแทะ
การกัดเล็บอาจเกิดจากนิสัยส่วนตัว แต่บางครั้งอาจเกิดจากความวิตกกังวล นอกจากนี้ การกัดเล็บยังเชื่อมโยงไปถึงความผิดปกติจากการย้ำคิดย้ำทำได้อีกด้วย ดังนั้น ถ้าไม่สามารถหยุดอาการเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง ควรปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ