backup og meta

เสื่อมสมรรถภาพเพศชาย สาเหตุ การรักษา และการป้องกันที่ช่วยคุณได้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    เสื่อมสมรรถภาพเพศชาย สาเหตุ การรักษา และการป้องกันที่ช่วยคุณได้

    เราอาจคิดว่า ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (Erectile dysfunction: ED) ในผู้ชาย เป็นปัญหาในชายสูงอายุ หากในความเป็นจริงแล้ว การ เสื่อมสมรรถภาพเพศชาย นี้สามารถเกิดได้กับผู้ชายแทบจะทุกวัย โดยสถาบัน National Kidney and Urologic Diseases Information Clearinghouse ให้ข้อมูลว่า ในแต่ละปี ผู้ชายมากกว่า 30 ล้านคนมีโอกาสเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยผู้ชายวัยหนุ่มมักจะเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชั่วคราว แต่จะมีอาการเพิ่มขึ้นตามอายุ ผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป 4% และผู้ชายที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 17% ไม่สามารถที่จะทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้ แต่อย่างไรก็ตามภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น และไม่ได้จำเป็นต้องทำลายชีวิตทางเพศของคุณ

    ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศคืออะไร

    ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ คือการที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัว หรือไม่สามารถแข็งตัวได้นานพอเพื่อการมีเพศสัมพันธ์

    อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชั่วคราวเป็นเรื่องปกติ ผู้ชายหลายคนมีอาการเมื่อพวกเขาเครียด และการเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชั่วคราวบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกปัญหาสุขภาพที่ต้องการการรักษา นอกจากนี้ยังเป็นสัญญาณของปัญหาทางอารมณ์ หรือมาจากความสัมพันธ์ ซึ่งอาจให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยค้นหาสาเหตุของปัญหา

    ปัญหาเรื่องทางเพศของผู้ชาย อาจไม่ได้เกิดจากภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดความผิดปกติในเรื่องทางเพศของเพศชาย  ได้แก่

    • การหลั่งเร็ว
    • การหลั่งช้า หรือไม่มีการหลั่งอสุจิ
    • ขาดความสนใจในการมีเพศสัมพันธ์

    อาการของภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

    คุณอาจเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ หากคุณมีอาการเหล่านี้เป็นประจำ

    • มีปัญหาในการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย
    • ไม่สามารถรักษาการแข็งตัวระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
    • ความสนใจในการมีเพศสัมพันธ์ลดลง

    นอกจากนี้ยังมีความผิดปกติในเรื่องทางเพศที่เกี่ยวข้องกับภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ได้แก่ การหลั่งเร็ว การหลั่งช้า และการไม่บรรลุจุดสุดยอดทางเพศ หลังจากได้รับการกระตุ้นจนมากพอ (Anorgasmia)

    ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้ คุณควรพูดคุยกับคุณหมอ โดยเฉพาะถ้าคุณมีอาการนานกว่า 2 เดือนขึ้นไป คุณหมอจะสามารถตรวจสอบได้ว่า คุณมีความปกติทางเพศที่เกิดจากโรคบางอย่าง ที่ต้องได้รับการรักษาหรือไม่

    สาเหตุของภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

    การ เสื่อมสมรรถภาพเพศชาย เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยมีทั้งความผิดปกติทางอารมณ์และทางร่างกาย สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่

    • โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • โรคเบาหวาน
    • โรคความดันโลหิตสูง
    • ภาวะไขมันในเลือดสูง
    • ความเสียหายจากโรคมะเร็ง หรือการผ่าตัด
    • การบาดเจ็บ
    • ความอ้วน หรือภาวะน้ำหนักเกิน
    • อายุมากขึ้น
    • ความเครียด
    • ความกังวล
    • ปัญหาด้านความสัมพันธ์
    • การใช้ยาเสพติด
    • การดื่มแอลกอฮอล์
    • การสูบบุหรี่

    ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง หรือจากหลายปัจจัย ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุ และรักษาอาการจากปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่อไป

    การรักษา

    การรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ นอกจากนี้คุณอาจจะต้องใช้การรักษาร่วมกัน ซึ่งได้แก่ การใช้ยา การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ หรือการรักษาโรค สำหรับการใช้ยาในการรักษา คุณหมออาจสั่งยาเพื่อช่วยจัดการกับอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ คุณอาจต้องลองกินยาหลายชนิดก่อนจะพบยาที่ได้ผลต่อการรักษา และการกินยาอาจมีผลข้างเคียง ถ้าคุณมีปัญหากับผลข้างเคียงของยาให้ปรึกษาคุณหมอ เนื่องจากคุณหมอจะสามารถแนะนำยาชนิดอื่นเพื่อการรักษาต่อไป

    ป้องกันการ เสื่อมสมรรถภาพเพศชาย

    เนื่องจากการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มักจะเกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของเลือดที่ไม่ดี ดังนั้น จึงควรดูแลสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด และสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงในการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มีดังนี้

    1.ลดน้ำหนัก

    การลดน้ำหนักจะช่วยป้องกันโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ให้รักษาระดับน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน และรักษาระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ ถ้าคุณต้องการลดน้ำหนัก ให้ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย การลดน้ำหนักจะช่วยป้องกันภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ถ้าคุณมีน้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐานแล้ว ให้รักษาน้ำหนักไว้ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกาย

    2. ออกกำลังกายเป็นประจำ

    การออกกำลังกายจะช่วยเรื่องการไหลเวียนเลือดในร่างกาย รวมถึงการไหลเวียนเลือดบริเวณอวัยวะเพศ ลองปรึกษาคุณหมอก่อนจะเริ่มออกกำลังกาย โดยควรเริ่มออกกำลังกายอย่างช้าๆ และควรเป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่าย เช่น การเดิน และค่อยๆ เพิ่มระดับความหนักของการออกกำลังกาย เช่น เดินเร็ว หรือว่ายน้ำ ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 4-5 วันใน 1 สัปดาห์

    3. กินอาหารที่มีประโยชน์

    ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ อย่างเช่น ธัญพืช ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัวแบบไขมันต่ำ ผลไม้และผัก และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หลีกเลี่ยงการกินอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว และอาหารที่มีโซเดียมสูง การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จะช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต และป้องกันการเกิดโรค อย่างเช่นโรคเบาหวาน ซึ่งสามารถส่งผลต่อการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้

    4. เลิกบุหรี่

    บุหรี่เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ การเลิกสูบบุหรี่จึงช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้

    5. ลดการดื่มแอลกอฮอล์

    หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย ถ้าคุณติดแอลกอฮอล์อาจต้องปรึกษาคุณหมอ

    6. รักษาโรคเรื้อรัง

    โรคหัวใจเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวาน ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ของผู้ชายวัยสูงอายุอย่างมีนัยสำคัญ หากมีโรคประจำตัวเหล่านี้ คุณควรพยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ดีต่อสุขภาพ และจัดการกับระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายด้วยการควบคุมอาหาร และไปหาหมอเพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

    7. รักษาภาวะต่อมลูกหมากผิดปกติ

    นอกจากการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวานแล้ว ภาวะต่อมลูกหมากผิดปกติ โดยเฉพาะการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือการรักษาอาการ ก็มักจะเป็นสาเหตุที่ให้เกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ การผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากและเนื้อเยื่อบริเวณต่อมลูกหมากออก จะทำลายเส้นประสาทและเนื้อเยื่อใกล้กับอวัยวะเพศชาย ซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่าการแข็งตัวของอวัยวะเพศหลังผ่าตัด จะช่วยป้องกันโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ในอนาคต ซึ่งการแข็งตัวนี้ต้องได้รับการฉีดยา การปั๊มสูญญากาศ (Vacuum pumps) หรือการช่วยเหลืออื่นๆ เรียกวิธีการเหล่านี้ว่า การฟื้นฟูอวัยวะเพศชาย (Penile rehabilitation) และแม้ว่าจะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่การฟื้นฟูอวัยวะเพศชายก็ดูเหมือนว่าจะช่วยทำให้เนื้อเยื่ออวัยวะเพศดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้การไหลเวียนเลือดเพิ่มขึ้นและป้องกันการเกิดรอยแผลเป็น

    มากไปกว่านั้น ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การมีเพศสัมพันธ์บ่อยๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชายวัย 55-75 ปี

    8. อย่าละเลยสุขภาพจิต

    ความเครียดทางด้านจิตใจและอารมณ์สามารถ ทำให้เกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้เช่นกัน ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลอาจส่งผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ และยิ่งทำให้มีความเครียดเพิ่มขึ้น ถ้าคุณมีอาการซึมเศร้าและกังวลจนส่งผลต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ ควรปรึกษาคุณหมอ

    9. การสื่อสารคือหัวใจสำคัญ

    ไม่ว่าสาเหตุของภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศจะเกิดจากอะไร การพูดคุยกับคนรักอย่างตรงไปตรงมาเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งสำหรับการรักษา และการป้องกันภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เพราะเรื่องทางเพศเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนสองคน การสื่อสารกันด้วยความเข้าอกเข้าใจ จะช่วยบรรเทาความเครียด และสามารถที่จะช่วยกันเพื่อการรักษาและป้องกันภาวะนี้ได้ในระยะยาว

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา