backup og meta

การนั่งเครื่องบิน กับปัญหาสุขภาพที่คุณอาจต้องเผชิญ

การนั่งเครื่องบิน กับปัญหาสุขภาพที่คุณอาจต้องเผชิญ

การนั่งเครื่องบิน หรือโดยสารเครื่องบินไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิตยุคใหม่ จนหลายคนอาจไม่ทันฉุกคิดว่า การเดินทางเป็นระยะเวลานานๆ โดยต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด ท่ามกลางผู้คนจำนวนมากนั้น อาจส่งผลเสียสุขภาพของเราได้มากมายหลายด้าน เพราะฉะนั้นหากอยากให้การเดินทางของคุณ ไม่ว่าจะเพื่อการพักผ่อนหรือการทำงาน เป็นไปอย่างปลอดภัยที่สุด Hello คุณหมอ อยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับปัญหาสุขภาพที่อาจต้องเจอ จากการเดินทางโดยเครื่องบิน จะได้เตรียมพร้อมรับมือเอาไว้ให้ดี

ปัญหาสุขภาพจาก การนั่งเครื่องบิน

ภาวะพร่องออกซิเจน จาก การนั่งเครื่องบิน

เมื่อเครื่องบินอยู่ในที่สูง อากาศภายในห้องโดยสารจะมีแรงดันลดลงถึง 75% จากชั้นบรรยากาศปกติ ทำให้สามารถเกิดภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia) ขึ้นได้ นั่นก็คือ การที่ออกซิเจนในเลือดจะลดลงประมาณ 5-10%  ถ้าหากร่างกายไม่สามารถปรับตัวจากสภาวะนี้ได้ อาจทำให้เวียนศีรษะ

สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease; COPD) โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease) มีความเสี่ยงที่อาจเกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงจากภาวะพร่องออกซิเจนมากกว่าคนปกติ ทางที่ดีควรปรึกษาคุณหมอก่อนออกเดินทางทุกครั้ง หากจำเป็นต้องพกถังออกซิเจนไป อย่าลืมแจ้งสายการบินให้ทราบล่วงหน้า

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถติดต่อได้จากการนั่งในห้องโดยสารเป็นเวลานาน โดยปกติ ห้องโดยสารบนเครื่องบินจะมีเครื่องกรองอากาศที่กำจัดไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่ในกรณีที่เครื่องบินล่าช้า หรือมีเหตุที่ทำให้ต้องปิดเครื่องกรองนี้ ก็อาจจะทำให้แบคทีเรียหรือไวรัสแพร่กระจายในห้องโดยสารได้

ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจจาก การนั่งเครื่องบิน มากที่สุดก็คือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ดังนั้นก่อนเดินทางทุกครั้ง นอกจากจะต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงแล้ว คุณอาจลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะคนที่เป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ เพราะเสี่ยงติดเชื้อง่ายกว่า

ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (Deep Vein Thrombosis หรือ DVT)

ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (DVT หรือ Deep Vein Thrombosis) หรือที่เรียกกันว่า “โรคชั้นประหยัด (Economy-Class Syndrome)’ เป็นภาวะที่เกิดจากการนั่งในพื้นที่แคบๆเป็นเวลานาน ทำให้เลือดไหลเวียนได้ช้าลง เมื่อรวมกับสภาวะพร่องออกซิเจน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตันได้ง่ายขึ้น หากลิ่มเลือดดังกล่าวแตกตัว และไปกระจุกอยู่ที่หลอดเลือดแดงสู่ปอด ก็อาจนำไปสู่โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอดเฉียบพลันได้ (Acute Pulmonary Embolism หรือ APE)

วิธีลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้จากการนั่งเครื่องบิน วิธีหนึ่งก็คือ การกินยาเบบี้แอสไพริน (Aspirin 81 mg) ก่อนออกเดินทาง เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดจับตัวเป็นลิ่ม ในกรณีนี้ หากคุณคิดว่ามีความเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน นอกจากนี้ หากต้องเดินทางเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะนั่งรถโดยสาร รถไฟ หรือนั่งเครื่องบิน คุณควรแต่งตัวให้สบายที่สุด เลือกใส่เสื้อหลวม ๆ และรองเท้าที่ไม่คับจนเกินไป รวมทั้งพยายามขยับร่างกายให้ได้มากที่สุด โดยอาจจะลุกเดินไปเดินมาชั่วโมงละครั้ง ขณะอยู่บนเครื่องบินก็ได้

การปนเปื้อนของแบคทีเรีย

แบคทีเรียสามารถอยู่ในห้องโดยสารได้นานกว่า 7 วัน ในห้องโดยสารบนเครื่องบิน สามารถพบแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของโรคต่างๆ ได้จากช่องเก็บเอกสาร ถาดอาหาร หน้าต่าง หรือที่พักแขน แบคทีเรียที่พบได้ เช่น เชื้อดื้อยา (Staphylococcus aureus หรือ MRSA) ที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง โรคปอดบวม และภาวะการติดเชื้อ เชื้ออีโคไล (E. coli) ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคท้องร่วง

นอกจากสิ่งของที่อยู่ห้องโดยสารแล้ว อาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบิน ก็อาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนแบคทีเรียได้เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะต้มน้ำก่อนชงเครื่องดื่มทุกครั้ง แต่อุณหภูมิที่ใช้ก็อาจไม่มากพอจะฆ่าเชื้อโรคเหล่านี้ได้

การนั่งเครื่องบิน อาจทำให้ขาดน้ำ

งานวิจัยชี้ว่า การเดินทางโดยเครื่องบินสามชั่วโมงสามารถทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำได้มากถึง 1.5 ลิตร และเนื่องจากในห้องโดยสารบนเครื่องบินมีระดับความชื้นค่อนข้างต่ำ จึงทำให้เยื่อเมือกต่างๆ ในจมูก ปาก และคอ แห้งกว่าปกติ ฉะนั้น ในระหว่างนั่งเครื่องบิน คุณจึงจำเป็นต้องดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ อย่าปล่อยให้ตัวเองรู้สึกว่าปากแห้ง จมูกแห้ง

อันตรายจากรังสีคอสมิก

ระดับความสูงของเครื่องบินในอากาศ ทำให้มีโอกาสที่จะสัมผัสรังสีอันตรายได้มากกว่าบนพื้นดิน เพราะรังสีบางตัวต้องกรองในชั้นบรรยากาศ ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเส้นทางบิน รังสีอันตรายจากชั้นบรรยากาศทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง

โดยองค์การนาซ่าค้นพบว่า รังสีเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นของโรคอันตรายมากมาย แต่ในกรณีนี้ หากคุณไม่ได้ นั่งเครื่องบินบ่อย ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลแต่อย่างใด เพราะผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงมากที่สุดก็คือ ผู้ที่ต้องเดินทางเป็นประจำ เช่น พนักงานบนเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม แพทย์ยังไม่แน่ใจว่า ผลกระทบจากรังสีสามารถส่งผลต่อสุขภาพในด้านใดมากที่สุด หรืออาจไม่ส่งผลกระทบต่อเป็นได้ จึงยังต้องการงานวิจัยในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

THE TRAVEL DOCTOR. http://www.traveldoctor.co.uk/flights.htm. Accessed October 18, 2018

What really happens to your body on a flight. https://www.telegraph.co.uk/travel/news/travel-advice-what-happens-to-your-body-on-a-flight-travel-health/. Accessed October 18, 2018

สมาคมการบินชี้มีผู้โดยสารบันดาลโทสะหรือขาดสติบนเครื่องบินทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง. https://www.voathai.com/a/iata-air-rage/3530844.html. Accessed October 18, 2018

Deep vein thrombosis (DVT). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/deep-vein-thrombosis/symptoms-causes/syc-20352557. Accessed October 18, 2018

5 Real Hazards of Air Travel. https://www.livescience.com/13878-health-hazards-air-travel.html. Accessed October 18, 2018

5 Things to Know Before You Fly. https://www.pennmedicine.org/updates/blogs/health-and-wellness/2017/july/health-risks-of-flying. Accessed October 18, 2018

Dehydration. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dehydration/symptoms-causes/syc-20354086. Accessed October 18, 2018

The Potential Health Dangers of Flying That Are Rarely Talked About. https://www.tripzilla.com/potential-health-dangers-flying/69359. Accessed October 18, 2018

Air travel health tips. https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/air-travel-health-tips. Accessed October 18, 2018

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/07/2020

เขียนโดย นาดิยา ยะสีงอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคไวรัสตับอักเสบบี คือโรคอะไร ใครควรได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี

เทคนิคกำราบ อาการเมารถ อย่างอยู่หมัด โดยไม่ต้องพึ่งยา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย นาดิยา ยะสีงอ · แก้ไขล่าสุด 29/07/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา